ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการระดับโลก หนุนเลือก “โปรตีนคุณภาพ” ให้ลูกน้อยใน 1,000 วันแรกลดความเสี่ยงโรคอ้วน โรคร้ายแรงเรื้อรัง และภูมิแพ้ระยะยาว
- ในปี 2012 องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า จำนวนของเด็กก่อนวัยเรียนที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคนในปี 1990 เป็น 3.5 ล้านคนในปี 2020
- ปริมาณโปรตีนในนมแม่จะลดลงอย่างรวดเร็วหลังคลอดจาก 3.0 กรัม/100 กิโลแคลอรี เหลือประมาณ 2 กรัม/100 กิโลแคลอรี หลังจากนั้นปริมาณโปรตีนจะค่อนข้างคงที่ ดังนั้น จึงมีโอกาสที่ทารกที่ได้รับนมผงจะได้รับโปรตีนในปริมาณที่มากเกินไปในช่วงปีแรกของชีวิต
- เด็กที่ได้รับนมสูตรโปรตีนเวย์ที่ได้ผ่านการย่อยบางส่วน สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบลงได้ประมาณ 42% ที่ระดับอายุ 15 ปี และลดความชุกของการเกิดโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ลงได้ประมาณ 33% ที่อายุ 11-15 ปี เมื่อเทียบกับเด็กที่ได้รับนมวัวสูตรปกติ
- การที่ทารกได้รับนมแม่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วน และโรคเรื้อรังร้ายแรงในระยะยาว รวมถึงลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ ในกรณีที่ให้นมแม่ไม่ได้ การให้นมสูตรที่มีโปรตีนคุณภาพสูงอย่างโปรตีนเวย์ 100% ที่ผ่านการย่อยบางส่วน ในปริมาณที่เหมาะสมใกล้เคียงกับนมแม่ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
สถาบันโภชนาการเนสท์เล่ โดย บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ร่วมกับศูนย์วิจัยโภชนาการเด็ก มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย เผยผลวิจัยโภชนาการในทารกล่าสุดพบว่า การได้รับโปรตีนในปริมาณสูงจากนมผงในช่วงแรกของชีวิต เป็นสาเหตุสำคัญของการมีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ด้วยเหตุนี้จึงเร่งทำความเข้าใจกับพ่อแม่ยุคใหม่เพื่อสร้างปราการป้องกันอุบัติภัยของโรคลุกลามสู่โรคเรื้อรังร้ายแรงเมื่อลูกน้อยเติบโต และลดความเสี่ยงของการเป็นโรคภูมิแพ้ต่อเนื่องในระยะยาว ด้วยโปรตีนคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสมตามความต้องการในแต่ละช่วงวัย
โปรตีนคุณภาพในปริมาณเหมาะสมกับวัยลูก ช่วยลดความเสี่ยงโรคอ้วน-โรคหัวใจ-เบาหวาน
ศาสตราจารย์ปีเตอร์ เดวีส์ จากศูนย์วิจัยโภชนาการเด็ก มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคอ้วนในเด็กกลายเป็นปัญหาที่ไม่อาจมองข้าม เพราะนอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการมีพัฒนาการที่สมวัยแล้ว เมื่อเป็นแล้วก็จะมีความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา
องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า จำนวนเด็กก่อนวัยเรียนที่มีภาวะแคระแกร็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะลดลงจาก 26.5 ล้านคนในปี 1990 เหลือราว 9.8 ล้านคนในปี 2020 ซึ่งสวนทางกับจำนวนเด็กก่อนวัยเรียนที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านคน เป็น 3.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2.9 เท่า โดยสาเหตุของการเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในช่วงวัยนี้เป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งการบริโภคโปรตีนในปริมาณสูงจากนมที่ทารกได้รับในช่วงปีแรก ๆ ของชีวิตถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง
ทั้งนี้ มีการศึกษาค้นคว้าพบว่า สารอาหารในนมแม่มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบตามช่วงเวลาที่ผ่านไป โดยปริมาณโปรตีนคุณภาพในนมแม่จะลดลงอย่างรวดเร็วหลังคลอด จาก 3 กรัมต่อ 100 กิโลแคลอรี เหลือประมาณ 1.2 กรัมต่อ 100 กิโลแคลอรี และจากนั้นปริมาณโปรตีนจะค่อนข้างคงที่ จึงมีโอกาสที่ทารกที่ได้รับนมผงจะได้รับโปรตีนในปริมาณที่มากเกินไปอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปีแรกของชีวิต ดังนั้น ในบางประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลียจึงมีการระบุระดับโปรตีนในนมสูตรสำหรับทารกว่าจะต้องมีค่าต่ำสุดและสูงสุดอยู่ระหว่าง 1.9 – 2.9 กรัมต่อ 100 กิโลแคลอรี เพื่อให้ลูกน้อยได้รับโปรตีนในปริมาณที่ใกล้เคียงนมแม่ และเหมาะสมกับความต้องการตามช่วงวัยมากที่สุด
“การลดความเสี่ยงของการเป็นโรคอ้วนและโรคเรื้อรังร้ายแรงอันเนื่องมาจากโรคอ้วนในเด็ก สามารถทำได้โดยให้ทารกดื่มนมแม่ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน โดยพบว่าเด็กที่กินนมแม่จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนต่ำกว่าเด็กที่กินนมผงถึงร้อยละ 15 – 25% ด้วยเหตุนี้ในยุโรปจึงมีการวิจัย “ปริมาณและคุณภาพของโปรตีนที่มีผลต่อการเกิดโรคอ้วนในเด็ก” เพื่อศึกษาถึงความเกี่ยวข้องระหว่างน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของทารก อันเนื่องมาจากการได้รับโปรตีนในนมผงสำหรับทารกและเด็กเล็กที่มีปริมาณโปรตีนที่แตกต่างกัน เทียบกับเด็กที่ได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวว่า มีอัตราความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนและโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมาเมื่อโตขึ้นแตกต่างกันอย่างไร” ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ กล่าว
จากผลการวิจัยของกลุ่มตัวอย่างในทารกจำนวน 1,678 คน อายุเฉลี่ย 2 สัปดาห์ถึง 1 ปีในยุโรป จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ ทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว ทารกที่ได้รับนมที่มีปริมาณโปรตีนสูงกว่านมแม่ และทารกที่ได้รับนมที่มีการปรับปริมาณโปรตีนต่ำลงให้ใกล้เคียงนมแม่แต่ให้พลังงานเท่ากันพบว่า เมื่ออายุ 6 ปี เด็กทั้ง 3 กลุ่มมีภาวะการเติบโตด้านความสูงไม่ต่างกัน แต่เด็กกลุ่มที่ได้รับโปรตีนในปริมาณสูงจะมีน้ำหนัก (น้ำหนักต่อความยาว) และดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) สูงกว่าเด็กกลุ่มที่ได้รับปริมาณโปรตีนต่ำกว่า และเด็กกลุ่มที่ได้รับนมแม่อย่างเห็นได้ชัด
ศาสตราจารย์ปีเตอร์ กล่าวเสริมว่า ร่างกายของทารกจะมีการหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เมื่อได้รับโปรตีนในปริมาณที่สูงเกินความต่อการของร่างกาย ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญ ส่งผลให้เกิดการสะสมไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น นำไปสู่การเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือดเมื่อโตขึ้น ซึ่งถือเป็นผลกระทบที่รุนแรงต่อร่างกายในระยะยาว สมมุติฐานนี้แสดงให้เห็นว่า การได้รับโปรตีนในปริมาณมาก มีผลต่อการเพิ่มของระดับกรดอะมิโนที่กระตุ้นการหลั่งของอินซูลิน ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ขณะที่ทารกที่ได้รับนมแม่หรือนมผงที่มีปริมาณและคุณภาพโปรตีนใกล้เคียงกับนมแม่ จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการมีน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วนเมื่ออายุ 6 ปี ข้อค้นพบในด้านการได้รับโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมในวัยเด็กจึงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้