ทารกดูดน้ำเยอะเกินไป อันตรายแค่ไหน?

เบบี๋ดูดน้ำเยอะเกินไป อันตรายแค่ไหน

Alternative Textaccount_circle
event

Q: เด็กวัยประมาณ 2 เดือน ดูดน้ำวันละเกือบ 5 ออนซ์ ถือว่ามากเกินไปหรือเปล่า และจะเป็นอันตรายหรือไม่

ถ้าลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว ก็ไม่ต้องให้น้ำค่ะ เพราะในนมแม่มีน้ำมากพอที่จะทำให้เด็กไม่รู้สึกหิวน้ำหรือขาดน้ำในหนึ่งวัน

ลูกวัย 2 เดือน หนัก 4.5 กก. กินนม 24 ออนซ์ เมื่อคิดเทียบกับผู้ใหญ่ หนัก 45 กก. หากต้องกินนมในสัดส่วนเดียวกัน คือ 240 ออนซ์หรือเท่ากับ 7,200 ซีซี จะไม่รู้สึกหิวน้ำแน่นอน และคงไม่มีที่ในกระเพาะเหลือให้กินอย่างอื่นอีก และรับรองว่าต้องปัสสาวะบ่อยมากๆ

หากลูกได้รับน้ำเข้าไปอีก จะทำให้กินนมแม่ได้น้อยลง น้ำหนักจะขึ้นไม่ดี และน้ำจะล้างหรือเจือจางสารต่อต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียในนมแม่ที่อยู่ในปากและกระเพาะของลูก ทำให้ฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของเชื้อราในปาก และฤทธิ์ต้านการติดเชื้อโรคในลำไส้ลดลง

นอกจากนี้ การให้น้ำยังเพิ่มโอกาสที่ลูกจะได้รับเชื้อโรคเข้าร่างกาย เพราะขวดน้ำอาจไม่สะอาด หรือดูดขวดเดียวทั้งวันจนแบคทีเรียจากปากลูกเข้าไปอยู่ในขวด ทำให้ท้องเสียได้

สำหรับความกลัวที่ว่าหากไม่ฝึกให้ลูกดูดน้ำตั้งแต่แรก เขาจะไม่ยอมดูดหรือเป็นคนกินน้ำน้อยเมื่อโตขึ้น ก็ไม่เกี่ยวกันและไม่เป็นความจริงค่ะ เพราะเมื่อถึงเวลาที่ลูกกินข้าวแล้ว เขาก็ต้องกินน้ำด้วย ไม่อย่างนั้นก็คงติดคอแย่ หากได้กินนมแม่ทั้งวันอยู่แล้ว ระหว่างวันก็ไม่จำเป็นต้องกินน้ำอีก

ส่วนเรื่องกินน้ำน้อยจะทำให้ท้องผูก ก็ต้องวิเคราะห์ให้ถูกต้องว่าเป็นเพราะอะไรแน่ เช่น หากกินนมแม่อย่างเดียว แต่หลายวันถ่ายครั้งเดียว ก็ไม่ถือว่าท้องผูก เพราะอึจะนุ่มมากๆ เป็นธรรมชาติของนมแม่ที่ไม่มีกากของเสียมาก จึงไม่ต้องถ่ายทุกวัน

หากลูกเริ่มกินอาหารอย่างอื่นร่วมกับนมแม่ ก็อาจเป็นเพราะไม่ถูกกับอาหารนั้นๆ จึงทำให้ถ่ายแข็ง เมื่องดอาหารนั้นไปก็จะดีขึ้น ไม่ใช่แก้ปัญหาโดยให้กินน้ำเปล่าเพิ่มขึ้น ทำให้ได้นมแม่ลดลง หมอเคยเจอเด็กที่พอให้กล้วยหรือฟักทองแล้วท้องผูก จึงต้องคอยสังเกตอาการลูกเวลาให้อาหารแต่ละอย่าง

แต่หากลูกกินนมผง ก็ต้องกินน้ำเปล่าหลังนมทุกครั้ง เพื่อล้างคราบนมให้สะอาด ไม่เหลือตกค้างในปาก เพราะจะเป็นอาหารของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียในปาก และทำให้ฟันผุ (ถ้ามีฟันขึ้นแล้ว)

ปริมาณน้ำที่กินก็แค่ล้างคราบนม ไม่จำเป็นต้องมาก ดูด 2-3 คำแล้วบ้วนทิ้งก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการบ้วนปาก ไม่ยอมกินน้ำเปล่าเลยก็ไม่ต้องกังวล คอยเช็ดทำความสะอาดปากบ่อยๆก็ใช้ได้เช่นกัน เพราะปริมาณน้ำที่ใช้ชงนมที่ถูกสัดส่วนเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกายของเด็กอยู่แล้ว คือ 24 ออนซ์ หากมีปัญหาอึแข็ง ก็ไม่ได้เป็นเพราะไม่กินน้ำ แต่เป็นเพราะไม่ถูกกับนมยี่ห้อนั้นๆ ควรแก้ไขโดยการเปลี่ยนนม

บางครั้งลูกอาจต้องกินน้ำมากหน่อย เพื่อถ่วงเวลาไม่ให้กินนมผงมากเกินไป เพราะมีปัญหาอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน เมื่อลูกร้องอยากดูด ก็ไม่ควรชงนมให้ทุกครั้ง ให้เขาดูดน้ำเปล่าบ้าง แต่ถ้าลูกกินนมแม่อย่างเดียวจนน้ำหนักมาก ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นโรคอ้วน ดูดได้เรื่อยๆค่ะ เพราะไขมันในนมแม่เป็นชนิดที่ไม่เป็นอันตราย ไม่อุดตันเส้นเลือด ไม่ต้องให้ดูดน้ำเพื่อตัดกำลัง เพราะน้ำจะไปเจือจางของดีในนมแม่เสียเปล่าๆ

 

บทความโดย: พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up