ดร.คอร์วิน ซูทเธอริน ศาสตราจารย์ด้านกิจกรรมบำบัดจากมหาวิทยาลัยไอดาโฮ สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า นั่นเป็นเพราะประสาทสัมผัสด้านการมองเห็นพัฒนาช้ากว่าประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ มาลองดูกันสิว่า ในช่วงขวบปีแรกประสาทสัมผัสทางตาของลูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
แรกเกิด – 3 เดือน
ตอนนี้ทารกจะมองเห็นภาพที่มีลักษณะคู่สีตรงข้ามตัดกันชัดเจน (เช่น สีขาว – ดำ) ได้ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นเรื่องระยะชัด (หรือโฟกัส) ทารกน้อยมองเห็นใบหน้าของแม่ตอนที่ให้นมได้ชัดเจนที่สุด ข่าวดีคือ ช่วงนี้หนูๆ จะโปรดปรานการมองใบหน้าคนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด การจ้องหน้าสบตากันปิ๊งๆ ระหว่างให้นมลูกจึงตอบโจทย์พัฒนาการด้านนี้ของลูกน้อยและช่วยเชื่อมโยงสายสัมพันธ์แม่ลูกให้แน่นแฟ้นสุดๆ
3 – 6 เดือน
พอเข้าช่วง 6 เดือน เด็กๆ จะจับโฟกัสได้จนถึงระยะ 15 ฟุต ดวงตาคู่เล็กๆ รู้จักมองตามวัตถุที่เคลื่อนไหว แยกแยะสีสัน และเข้าใจเรื่องความลึกได้แล้ว เพราะฉะนั้น ของเล่นเพลินใจในช่วงนี้ก็คือตัวต่อกับหนังสือสีสันสดใสได้ใจไปเต็มๆ
6 – 9 เดือน
ความสามารถในการมองเห็นของลูกเริ่มเหมือนของผู้ใหญ่แล้ว เขาสามารถจำแนกความแตกต่างของสีอ่อน – แก่ได้ ถ้าอยากให้ลูกพัฒนาเรื่องการจับโฟกัส ให้หากระจกเงาแบบที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก (Baby-safe mirror) มาให้เขาคอยส่อง + จ้องมองตัวเองสิ แอบกระซิบ ตอนนี้พ่อหนูแม่หนูเริ่มสนใจและชอบจ้องมองเด็กทารกคนอื่นๆ ด้วยนะ…เริ่มพาเข้าสังคมได้แล้ว
9 – 12 เดือน
เห็นได้ชัดว่าดวงตาและสมองของลูกทำงานสัมพันธ์กัน ถ้าคุณให้เขาดูอะไร แล้วเอาสิ่งนั้นไปซ่อน เจ้าตัวเล็กจะมองหามัน และถ้าเห็นของเล่นวางอยู่ตรงมุมห้องละก็ ตอนนี้ก็ได้เวลาไล่จับแล้วละ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง