อันที่จริงนิ้วมือของทารกจะโค้งงอหรือคว้าหมับได้โดยอัตโนมัติ เวลาที่มือของเขาไปสัมผัสกับอะไรเข้า (ลองนึกภาพเวลาที่เราเอานิ้วแหย่เข้าไปในอุ้งมือของเด็กคนอื่นดูก็ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้คุ้นเคยกันแม้แต่น้อย แต่เจ้าหนูก็กำนิ้วมือเราเอาไว้เฉยเลย)
พออายุได้ 6 เดือน ปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติดังกล่าวก็จะหายไป ถ้าเห็นลูกหยิบคว้าอะไร แปลว่านั่นมาจากความตั้งใจของเขาเอง สิ่งนี้สื่อให้เห็นถึงพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของเขา (มีการคิด การประสานงานระหว่างมือและสายตา การใช้กำลังกล้ามเนื้อ และการใช้ทักษะการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง)
วิธีที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกทำได้ตั้งแต่เมื่อเขาอายุได้สัก 3 – 4 เดือน โดยคุณอาจจะเอามือคุณไปตบแปะกับมือเขาเบาๆ หรือไม่ก็เอามือปิดหน้าเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวที่ดีให้แก่เขา หรือในเวลาอาบน้ำ อาจจะเอาผ้าขนหนูหรือของเล่นนิ่มๆ ให้ลูกบีบบ้างก็ได้
จากนั้นพออายุได้ 7 – 8 เดือน หนูน้อยจะเริ่มเคลื่อนย้ายสิ่งของจากมือข้างหนึ่งไปสู่มืออีกข้างหนึ่งได้ และเมื่ออายุ 1 ขวบ เขาก็จะสามารถใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งหยิบจับสิ่งของได้ ผลการศึกษาพบว่า เมื่ออายุได้ 5 เดือน เด็กทารกจะสามารถแยกเพลงสุขออกจากเพลงเศร้าได้ละเลงแบบไม่เลอะ
เมื่อลูกอายุได้สัก 6 เดือน คุณอาจจะต้องวุ่นวายกับการเก็บกวาดพื้นและเช็ดล้างฝาผนัง เนื่องจากมือของหนูน้อยเริ่มจะซุกซน เที่ยวจับหรือจุ่มลงไปในภาชนะที่บรรจุของเละๆ เหนียวๆ (เช่น กล้วยบด หรือครีมทาหน้าที่คุณเผลอเปิดฝาทิ้งไว้) แล้วก็เอาไปป้ายหรือละเลงทั่วบ้านอย่างสนุกสนาน
ถึงจะเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะการเรียนรู้และการใช้กล้ามเนื้อ (แถมยังเป็นกิจกรรมสุดโปรดของหนูซะด้วย) แต่คุณไม่จำเป็นต้องส่งเสริมเจ้าตัวเล็กด้วยการปล่อยให้เขาเอามือจุ่มลงในอาหารแล้วทำเลอะไปทั่ว
เพียงแค่คุณหาถุงซิปล็อกมาสักใบ แล้วบรรจุของเละๆ เหลวๆ เช่น โจ๊ก ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ โลชั่นทาตัว ฯลฯ ลงไป ปิดให้สนิท แล้วยื่นให้ลูกบีบเล่น รับรองว่าสนุกไม่แพ้กัน แถมยังช่วยลดภาระการทำความสะอาดของคุณได้ด้วย
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง