A Eczema (โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง) คือ ผื่นที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดงหรือเป็นปื้น อาจมีน้ำเหลืองเยิ้มดูแฉะๆอยู่บนผื่น มีอาการคันมาก บางรายเกาจนเลือดออก หรือติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้นอนตื่นบ่อย อารมณ์หงุดหงิดงอแงง่ายมักพบร่วมกับอาการผิวแห้ง ที่พบบ่อยในเด็กเล็กคือInfantileEczema หรือ AtopicDermatitis ซึ่งผื่นจะขึ้นเป็นรูปแบบจำเพาะคือขึ้นที่บริเวณแก้ม หนังศีรษะ ใบหู และหลังหู ลามลงมาที่คอ ข้อพับแขนและขาผื่นมักขึ้นครั้งแรกตอนเด็กอายุ 2 – 3 เดือนเริ่มดีขึ้นตอนอายุประมาณขวบครึ่ง และส่วนใหญ่จะหายตอนอายุประมาณ 3 ขวบแต่อาจคงเหลือลักษณะของผิวแห้งอยู่บ้าง
สาเหตุ เกิดจากภูมิแพ้ โดยมักพบประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น มีคนในครอบครัวเป็นผื่นแบบเดียวกันในวัยเด็กหรือยังเป็นอยู่จนโต หรือคนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้ทางระบบอื่น เช่น แพ้อากาศหรือแพ้ฝุ่น เป็นไซนัส หอบหืด ลมพิษ และเมื่อติดตามเด็กที่เคยเป็นเอ็กซีมาไปจนโตก็พบว่า 1 ใน 3 จะเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดอื่นๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น ปัจจุบันยังไม่พบวิธีรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังให้หายขาด แต่ก็ทำให้อาการของโรคสงบลงได้ โดยการปฏิบัติดังนี้
– หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้สำหรับวัยทารก โปรตีนจากนมวัวคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเป็นโรคนี้ ไม่ว่าจะกินโดยตรงหรือผ่านมาทางน้ำนมแม่ แต่ถ้าหยุดกินแล้วยังไม่ดีขึ้น อาจต้องลองงดอาหารอื่นด้วยเช่น ถั่วเหลือง แป้งสาลี ไข่ และอาหารทะเล บางรายอาจแพ้ฝุ่นและไรฝุ่น จึงควรหลีกเลี่ยงด้วย ในรายที่อาการรุนแรง หากลองงดอาหารหลายอย่างแล้วก็ยังไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน อาจทำการเจาะเลือดหรือทดสอบผิวหนังเพื่อช่วยวินิจฉัย
– รักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง เพราะถ้าผิวยิ่งแห้ง อาการผื่นก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นจึงต้องดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้นโดยรักษาสภาพความชุ่มชื้นตามธรรมชาติไว้ให้ดีที่สุด เช่นให้ลูกอาบน้ำเย็น ไม่อาบน้ำให้ลูกบ่อยเกินความจำเป็น เพราะยิ่งอาบก็ยิ่งแห้ง งดการขัดถูผิว ไม่ใช้สบู่ที่ทำให้ผิวแห้ง หรือจะให้อาบน้ำเปล่าผสมน้ำมันที่ใช้แบบจำเพาะก็ได้ทาโลชั่นหรือครีมทันทีหลังอาบน้ำเสร็จ และนวดให้ดูดซึมมากที่สุด ไม่ใช้สารทาผิวหนังที่ทำให้ผิวแห้งหรือระคายเคือง เช่น มหาหิงคุ์และแอลกอฮอล์ โดยเลี่ยงไปใช้ยาตัวอื่นแทน งดการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มผงซักฟอก น้ำหอม ไม่ใช้ผ้าขนสัตว์ไนลอน ไม่ใส่นิเกิล เพราะจะระคายผิวหนังทำให้คันมากยิ่งขึ้น
– ใช้ยากินระงับอาการคัน เพื่อไม่ให้ลูกเกาจนผิวหนังอักเสบมากขึ้นและติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ตัดเล็บให้สั้นและใส่ถุงมือให้ตอนกลางคืน เพื่อไม่ให้ลูกเผลอเกาขณะนอนหลับ
– ใช้ยาทาสเตียรอยด์ แต่ไม่ควรซื้อใช้เองเพราะยาแต่ละชนิดมีระดับความแรงไม่เท่ากันและถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ ก็จะเกิดผลข้างเคียงเช่น ผิวบางและแพ้ง่าย กดการทำงานของต่อมหมวกไต แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ยาที่เหมาะสมที่สุด และให้ใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง เมื่อผื่นดีขึ้นแล้ว ก็จะเปลี่ยนไปใช้วิธีดูแลผิวหนังโดยควบคุมความชุ่มชื้นให้ดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้ผื่นกำเริบขึ้นมาอีก
– ใช้ยากลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่นElidel และ Protopic ซึ่งเพิ่งรู้จักกันไม่นานนัก ยังไม่มีข้อมูลระยะยาว และราคาค่อนข้างแพง
– ใช้ยาปฏิชีวนะ ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด