เบื้องหลังความเละ คือการเรียนรู้ - Amarin Baby & Kids

เบื้องหลังความเละ คือการเรียนรู้

Alternative Textaccount_circle
event

พอเดินได้ปุ๊บ เจ้าหนูก็ตั้งหน้าตั้งตารื้อ ค้น ดึง แกะ เปิด เท จนข้าวของในบ้านรก เลอะเทอะ แถมหล่นเกลื่อนพื้นเป็นทาง ยังไม่พอ ขอสาวกระดาษทิชชูออกจากม้วนมากองเต็มพื้นด้วยอีกแน่ะ ฯลฯ

 
คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ ขณะที่คุณกำลังเรียกให้เจ้าหนูหยุดมือ หรือกำลังควันออกหูกับผลงานของเจ้าแสบน้อย เด็กวัยนี้กำลังเรียนรู้บางอย่าง มาดูซิว่าลูกน้อยกำลังได้บทเรียนอะไร (บนความปวดหัวของคุณ) “โอ๊ยลูก เอาผ้าอ้อมไปละเลงเล่นเลอะเทอะไปหมดแล้ววว”บทเรียนของลูก : ของแข็งๆ ทำไมจู่ๆ นิ่มลงได้อะ แปลกจัง”

 
ดร.คาร์ล่า ฮอร์วิซ ผู้อำนวยการศูนย์เดย์แคร์คาลวิน ฮิลล์ ของมหาวิทยาลัยเยลสหรัฐฯ อธิบายเรื่องการเล่นของสกปรกของเด็กวัยนี้ว่า เด็กๆ เรียนรู้สิ่งรอบตัวด้วยการสัมผัสและสำรวจ “การได้ใช้มือบีบ ขยำ ดึง ทึ้งสิ่งของต่างๆ จึงเป็นวิธีทำความเข้าใจสิ่งรอบตัวของเด็กๆ เขาละ”

 
เด็กๆ จะได้รู้ว่า ของสกปรกนั้นเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปได้อย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะของที่ละเลงเล่นได้ ละลายได้ ขยายตัว แผ่กว้างได้ จะดึงดูดใจเด็กวัยเตาะแตะมากและแน่นอนว่าการทดลองของเด็กๆ ต้องการการทำซ้ำจึงจะเรียนรู้และเข้าใจ “ลูกจะโยน จะขว้างของทำไมเนี่ย ! ”บทเรียนของลูก : “โอ…เราทำของตกลงพื้นได้ด้วยแฮะ!”

 
ดร.คาร์ล่า ฮอร์วิซ อธิบายเรื่องการเขวี้ยง ขว้างปา หรือโยนข้าวของที่เด็กวัยเตาะแตะชอบนักว่า แม้เด็กจะรู้จักเรื่องของแรงโน้มถ่วงตั้งแต่อายุ 5 เดือน แต่ต้องอาศัยเวลาประมาณ 1 ปี เด็กๆ จึงจะสามารถนำความรู้ความเข้าใจนั้นมาปฏิบัติได้จริง “นั่นแน่ะ…ลูกองุ่นเด้งดึ๋งได้ด้วย ขนมพุดดิ้งกระเด็นออกจากจานได้ แถมตกไปแล้วแม่ยังเก็บคืนมาให้อีก!”

 
เด็กๆ ก็แค่อยากจะบริหารความสามารถในการควบคุมสิ่งรอบตัวได้…ก็เท่านั้น “แม่ปรี๊ดแล้วนะ!” บทเรียนของลูก : “นี่เราเป็นคนสำคัญขนาดนี้เลยเหรอนี่”

 
ดร.ฮอร์วิซบอกว่า อาการดื้อตาใสของลูกวัยเตาะแตะน่ะ เป็นเพราะหนูน้อยกำลังเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์เขาทำอย่างนี้แล้วคนรอบข้างจะเป็นอย่างไร และถ้าปรากฏว่าทำอะไรแล้วแม่เกิดเต้นแร้งเต้นกาได้ เขาจะยิ่งชอบใจใหญ่

 
ดังนั้นจงนิ่งและสงบเข้าไว้ นี่เป็นเคล็ดลับสำคัญที่จะช่วยคุณได้ ไม่ว่าสถานการณ์รอบตัวจะยุ่งเหยิงแค่ไหนก็ตาม “คิดซะว่าลูกเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยๆ ที่อยากเล่นกับทุกสิ่ง และคุณพ่อคุณแม่เองก็เป็นหนึ่งในของเล่นเหล่านั้นด้วย”

 

 

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up