ลูกมีไข้ ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ใช้ยาตัวไหน และต้องมีอาการแบบไหนถึงควรพาลูกส่งโรงพยาบาล ที่นี่มีคำตอบ!
ลูกมีไข้ เมื่อไร ทำเอาพ่อแม่อย่างเราเครียด กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทำอะไรไม่ถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่มือใหม่ที่อาจจะยังไม่เคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาก่อน อาจจะยังไม่รู้ว่าเวลา ลูกมีไข้ ไม่สบายแล้วไข้สูงนั้นควรที่จะต้องทำอย่างไร เช็ดตัวแบบไหน แล้วอาการแบบไหนที่ควรนำพาลูกส่งโรงพยาบาล ซื้อยาทานเองได้หรือไม่ ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้รวบรวมข้อมูลทุกอย่างเอาไว้ให้หมดแล้วละค่ะ แต่ก่อนที่จะไปดูนั้นเรามาทำความรู้จักกับ “ไข้” กันก่อนดีกว่านะคะ
ไข้ หมายถึง ภาวะที่อุณหภูมิร่างกายขึ้นสูงผิดปกติ โดยค่าปกติของอุณหภูมิที่วัดทางทวารคือ 36.6 – 38 องศาเซลเซียส วัดทางปาก 35.5 – 37.5 องศาเซลเซียส วัดทางรักแร้ 34.7 – 37.3 องศาเซลเซียส และวัดทางหู 35.8 – 38.0 องศาเซลเซียส
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือปรสิต แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้อีกหลายอย่างด้วยเช่นกันนะคะ ไม่ว่าจะเป็น อากาศที่ร้อนมาก ๆ หรือสวมเสื้อหลายชั้นเกินไป การแพ้ยา เนื้องอกในสมองกดเบียดส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกายจนทำงานผิดปกติ โรคไทรอยด์เป็นพิษ และฟันขึ้น เป็นต้น
วัดไข้วัดแบบไหนถึงจะดี
วิธีการวัดไข้ ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับมี 4 วิธี คือ ทางปาก (เฉพาะเด็กโตที่ร่วมมือโดยการอมไว้ใต้ลิ้น ในเด็กเล็กทำไม่ได้เพราะอาจเสี่ยงกับการกัดปรอทแตก) ทางทวาร (ในเด็กเล็ก) ทางรักแร้ และทางหู
ส่วนปรอทนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้
- แบบปรอท ราคาถูก แต่ใช้เวลานานในการวัด เนื่องจากเป็นแก้วอาจจะต้องระมัดระวังการแตกหักได้
- แบบดิจิทัล ใช้เวลาวัด 10 – 60 วินาที แต่มีราคาแพงกว่า และต้องคอยเช็คและระวังเรื่องแบตเตอรี่ค่ะ หากแบตใกล้หมดความแม่นยำก็อาจจะลดน้อยลงไปด้วย
- แบบวัดทางหู มีราคาแพงที่สุด ใช้ในเด็กอายุ 3 เดือนขึ้นไป เด็กเล็กกว่านี้ไม่ใช้เพราะรูหูเล็กเกินไป ใช้เวลาเพียง 1 – 3 วินาที แต่ถ้ามีขี้หูอุดตันจะไม่แม่นยำ
- แบบแปะหน้าผาก อันนี้ก็สามารถวัดได้ค่ะ แต่ก็อาจจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้บ้างเช่นกัน