โรคตาเด็ก – เวลาที่เราจ้องมองแววตาของลูก เราจะรู้สึกถึงความไร้เดียงสา ความรัก ความอบอุ่น ดวงตาของเด็กสะท้อนทุกสิ่งที่พวกเขารู้สึก ทั้งความเจ็บปวดและความสุข ทุกอย่างถูกอธิบายไว้ในนั้น ดวงตาเป็นอวัยวะที่บอบบางและอาจเกิดความผิดปกติขึ้นได้ และหากเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการดูและรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากดวงตาเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญที่สุดต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ปัญหาสายตา หรือโรคเกี่ยวกับตาในเด็กควรได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างระมัดระวัง ทั้งนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้เด็กป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับตา หากคุณสงสัยว่าลูกคุณมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์เด็ก เพื่อประเมินและวินิจฉัยทำการรักษาได้อย่างเหมาะสม
10 ปัญหา โรคตาเด็ก ที่พบได้บ่อย พร้อมวิธีรักษาปัญหาโรคตาที่พบได้บ่อยในเด็ก
ภาวะผิดปกติของตาในเด็ก มีอยู่หลายชนิด แต่ภาวะที่พบได้บ่อยมีอยู่ประมาณ 10 อาการ ดังต่อไปนี้
1. สายตาเอียง (Astigmatism)
ปัญหาสายตาเอียง พบได้บ่อยตั้งแต่แรกเกิด เป็นภาวะที่เกิดจากการหักเหของแสงที่ตกกระทบกระจกตาในแต่ละแนวไม่เท่ากันเนื่องจากกระจกตาผิดรูป เช่น มีส่วนโค้งไม่เท่ากัน เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลต่อความสามารถในการมองเห็นของเด็ก เด็กอาจมีปัญหาในการมองวัตถุ ทั้งในระยะใกล้ และไกล กล่าวคือ จะมองเห็นภาพเบลอ มองเห็นภาพซ้อนได้
การรักษา : การรักษาสายตาเอียงในเด็กจะมุ่งเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น คอนแทคเลนส์และแว่นตาที่เหมาะสมกับสายตาของผู้ป่วยเป็นวิธีที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย
2. ตาเหล่ (Strabismus)
ภาวะตาเหล่ พบได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด คือภาวะที่ตาข้างใดข้างหนึ่งมีลักษณะ เข้าใน ออกนอก ขึ้นบน หรือลงล่าง และทำงานไม่สอดคล้องกัน ดวงตาไม่สามารถเล็งตรงไปที่วัตถุเดียวกันได้อย่างสม่ำเสมอ หากสภาพนี้ไม่ได้รับการรักษาปล่อยเอาไว้นานเกินไปจะไม่สามารถทำการรักษาได้ อาจนำไปสู่ภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) โดยภาวะตาเหล่ส่วนใหญ่มักเกิดจากกรรมพันธุ์ นอกจากนี้อาจเกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตาหรือเส้นประสาทตา
การรักษา : ภาวะตาเหล่ในเด็กไม่สามารถหายเองได้ สำหรับการรักษา จักษุแพทย์อาจเลือกใช้วิธีการแปะตาเพื่อปรับการทำงานของดวงตา หรือใช้แว่นสายตาแก้ไข แต่ในกรณีที่รุนแรงแพทย์จะพิจารณาเพื่อทำการผ่าตัด ข้อควรสังเกตสำหรับเด็กเล็ก คือ ดวงตาของเด็กแรกเกิดจะยังไม่สามารถมองไปในทิศทางเดียวกันได้ แต่เมื่อเด็กอายุได้ 3-4 เดือน ดวงตาจะเริ่มทำงานได้สอดคล้องกัน ถ้าหากเด็กอายุครบ 4 เดือนแล้ว แต่ดวงตายังไม่สามารถมองไปในทิศทางเดียวกันได้ ควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
3. สายตาสั้น (Myopia)
สายตาสั้น คือ ภาวะค่าสายตาผิดปกติอันเกิดจากการหักเหแสงของตาที่มากเกินไป เด็กสายตาสั้นจะมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้อย่างชัดเจน แต่วัตถุที่อยู่ห่างไกลจะเบลอไม่ชัด เด็กสายตาสั้นส่วนใหญ่มีประวัติพ่อแม่สายตาสั้น มีการศึกษาในประเทศเขตทวีปเอเชียตะวันออก พบว่าถ้าทั้งพ่อและแม่มีสายตาสั้น จะมีโอกาสที่ลูกจะสายตาสั้นเท่ากับร้อยละ 77.3% สาเหตุเบื้องหลังสายตาสั้น คือ แสงไม่สามารถโฟกัสที่เรตินาได้ ดังนั้นวัตถุที่วางอยู่ไกลออกไปจึงดูพร่ามัว ในสภาวะนี้ รังสีของแสงจะโฟกัสภาพที่ด้านหน้าเรตินาไม่ใช่ที่เรตินาอาจเป็นเพราะลูกตายาวเกินไปหรือกระจกตาโค้งมากเกินไป
การรักษา : การมองเห็นสามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่แว่นตา ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และปลอดภัย จึงเป็นวิธีที่เหมาะที่สุดสำหรับเด็ก หากเด็กมีค่าสายตาสั้นมากกว่า -1.00 ถึง 1.50 diopter ควรพิจารณาให้ใส่แว่นตา ทั้งนี้การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดที่นิยมทำในผู้ใหญ่อาจไม่เหมาะหรับเด็ก เนื่องจากค่าสายตาเด็กอาจยังไม่คงที่
4. สายตายาว (Hyperopia)
สายตายาวในทางการแพทย์หมายถึง อาการสายตายาวที่เกิดขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย โดยภาวะนี้จะตรงข้ามกับสายตาสั้น หากเด็กได้รับผลกระทบจากภาวะสายตายาว จะสามารถมองเห็นวัตถุที่วางในระยะไกลได้ชัดเจน แต่วัตถุที่อยู่ใกล้เคียงจะเบลอ แต่ในบางรายอาจเห็นไม่ชัดทั้งระยะใกล้และระยะไกล สายตายาว สาเหตุเกิดจากภาวะกำลังหักเหแสงของตาผิดปกติ โดยเด็กที่มีสายตายาวจะมีลูกตาเล็กหรือกระจกตาแบน ทำให้รังสีแสงมีจุดโฟกัสอยู่นอกเรตินาเมื่อมองวัตถุที่อยู่ใกล้ ภาวะนี้อาจเป็นจากกรรมพันธุ์ โดยส่วนใหญ่สายตายาวมักพบได้ตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเด็กอายุมากขึ้นอาการมักจะหายไปได้เอง แต่ในรายที่การพัฒนาของสายตาหยุดลง และยังคงมีปัญหาสายตายาวอยู่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ดวงตาจะปรับตัวด้วยการปรับโฟกัสของตา (Accommodation) เพื่อแก้ไขปัญหา แต่เมื่ออายุมากขึ้นการปรับโฟกัสของตาก็จะทำได้น้อยลง
การรักษา : หากสายตายาวเกิดตอนอายุยังน้อย อาจไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะว่าเลนส์ตาจะค่อยๆ ปรับตัวและแก้ไขภาวะสายตายาวได้เองเมื่ออายุมากขึ้น แต่เมื่อมีอายุที่เพิ่มมากขึ้นความยืดหยุ่นของเลนส์ตาอาจลดลงซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการใส่แว่นสายตายาว หรือคอนแทคเลนส์สายตายาว
5. ตาขี้เกียจ (Amblyopia)
ตาขี้กียจ คือ การที่ตาข้างใดข้างหนึ่งของเด็ก มองเห็นได้ไม่ดี เมื่อเทียบกับตาอีกข้างหนึ่ง ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อตาข้างหนึ่งมีพัฒนาการที่ผิดปกติ ในที่สุดหากปล่อยไว้ สมองจะหยุดรับสัญญาณจากตาข้างนั้น ทำให้มองเห็น ได้ไม่ชัด ภาวะตาขี้เกียจส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากอาการตาเหล่ หรือเมื่อตาข้างหนึ่งทำงานได้ดีกว่าอีกข้างหนึ่งอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับโรคตาอื่นๆ ได้ เช่น หากเด็กมีปัญหา สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือ ต้อกระจกแต่กำเนิด
การรักษา : ภาวะสายตาขี้เกียจนี้มักเกิดขึ้นในเด็กเฉพาะเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 -7 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจจะทำให้มีปัญหาในการมองเห็นอย่างถาวรหากพ่อแม่สังเกตเห็นพฤติกรรมที่ผิดปกติของลูก และพาไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษารวมถึงการทำให้ตาขี้เกียจทำงานหนักขึ้นเพื่อกระตุ้นระบบประสาท อาจใช้แผ่นปิดตา โดยการปิดตาข้างที่ดีกว่าเพื่อกระตุ้นให้ดวงตาอีกข้างที่ด้อยกว่าได้ถูกใช้งานบ้าง
6. ต้อกระจก (Cataracts)
โรคต้อกระจก เป็นความผิดปกติของเลนส์อย่างหนึ่งที่พบมากที่สุดในเด็ก พบได้ประมาณ 1: 250 ของทารก แรกคลอด สาเหตุการเกิดต้อกระจกในเด็ก อาจเกิดได้จากการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ โรคของตาเอง หรือโรคต่างๆ ที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ หรือ อุบัติเหตุทางตา
สาเหตุ : เนื่องจากภาวะนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ทารกบางคนจึงเกิดมาพร้อมกับโรคตานี้ เลนส์ตาที่ใสจะขุ่น เมื่อโปรตีนที่เกาะกลุ่มเลนส์เข้าด้วยกัน
การรักษา : หากการมองเห็นถูกกีดขวางอย่างรุนแรง อาจต้องผ่าตัดเอาเลนส์ที่ขุ่นออก เลนส์ธรรมชาติจะถูกแทนที่ด้วยเลนส์ตา
7. หนังตาตก (Ptosis)
ภาวะหนังตาตก (เปลือกตาตก) ในทารกและเด็ก ส่วนใหญ่เกิดได้โดยกรรมพันธุ์ และการยืดหรือฉีกขาดของ ปลอกหุ้มคล้ายเส้นเอ็น (levator aponeurosis) ที่ช่วยให้เปลือกตาขยับได้ ภาวะนี้ เปลือกตาบนของเด็กมักอยู่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อาจเกิดขึ้นในตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง เปลือกตาหลบตาที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในปีแรกเรียกว่าหนังตาตกแต่กำเนิด เปลือกตาหย่อนคล้อยที่เกิดขึ้นภายหลังในวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่อาจทำให้ตาพร่ามัว หรือเกิดภาวะตาขี้เกียจได้ในที่สุดหากไม่ได้รับการรักษา
การรักษา : การผ่าตัดยกเปลือกตาสามารถซ่อมแซมเปลือกตาบนที่หย่อนคล้อยได้ หากการมองเห็นไม่ได้รับผลกระทบ การผ่าตัดสามารถรอจนถึงอายุ 3 ถึง 4 ปี แต่ในกรณีที่รุนแรงอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อปรับความสามารถในการมองเห็น ซึ่งในเด็กบางคนอาจต้องผ่าตัดมากกว่าหนึ่งครั้ง จุดมุ่งหมายของการผ่าตัดโดยทั่วไปคือการกระชับกล้ามเนื้อหรือซ่อมแซมซึ่งสามารถช่วยยกเปลือกตาได้
8. ตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบ (Conjuctivitis)
เยื่อบุตาอักเสบ คือการอักเสบของเยื่อบุตาเหนือลูกตาและภายในเปลือกตา จากการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส เยื่อบุตาอักเสบจากไวรัสเป็นโรคติดต่อได้ แต่เยื่อบุตาอักเสบจากแบคทีเรียไม่ใช่โรคติดต่อ ลูกตาจะแดง น้ำตาไหล เจ็บหรือคัน บางครั้งอาจมีน้ำมูกเหนียวสีเหลืองหรือสีเขียวในตาของเด็ก ซึ่งทำให้เปลือกตาติดกันหลังจากที่ลูกหลับไปแล้ว ผิวรอบดวงตาอาจดูบวม ในเยื่อบุตาอักเสบจากแบคทีเรียหรือไวรัส ตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างอาจได้รับผลกระทบ ในเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ ดวงตาของลูกทั้ง 2 ข้างจะคันและน้ำตาไหล ลูกของคุณอาจมีอาการไข้ละอองฟาง เช่น คันจมูกและจาม
การรักษา : ยาหยอดตายาปฏิชีวนะมีไว้เพื่อควบคุมการติดเชื้อ
9. โรคตากระตุก (Nystagmus)
เด็กที่มีอาการของโรคตากระตุก จะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของลูกตาซึ่งอยู่นอกอำนาจการควบคุมของจิตใจ และอาจเกิดขึ้นซ้ำๆ แทนที่จะจับจ้องไปที่วัตถุ ดวงตาจะแกว่งไปมาอย่างรวดเร็วจากทางด้านข้าง หรืออาจเคลื่อนที่เป็นวงกลมหรือขึ้นลงได้เช่นเดียวกัน เด็กที่มีอาการนี้สมองในส่วนที่รับผิดชอบต่อการเคลื่อนไหวของดวงตาจะทำงานผิดปกติ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของดวงตา นอกจากนี้ เนื้องอกในสมอง ยาบางชนิด และโรคปลอกประสาทเสื่อมก็สามารถทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นได้เช่นเดียวกัน
การรักษา : การรักษาขึ้นอยู่กับว่าภาวะนั้นมีมาแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นในภายหลัง การรักษาโรค แพทย์อาจใช้เลนส์แว่นตาพิเศษที่เรียกว่าปริซึมในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของตา ในรายที่เป็นมากอาจต้องทำการผ่าตัด (tenotomy) เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา
10. ตากุ้งยิงชนิดไม่เจ็บ (Chalazion)
เป็นอาการบวมเล็กน้อยที่ไม่เจ็บปวดในเปลือกตา เกิดจากการอุดตันของต่อมของเปลือกตาบนหรือล่าง ทำให้เกิดรอยแดงและบวมของเปลือกตาบางครั้งอาจมีของเหลวสีเหลืองร่วมด้วย ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่ขนาดของก้อนบริเวณเปลือกตา อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการมองเห็น และทำให้เกิดการระคายเคืองได้
สาเหตุ : เกิดจากต่อมไมโบเมียน (Meibomian) ที่เป็นต่อมสร้างน้ำมันหล่อลื่นของดวงตาที่บริเวณขอบเปลือกตา เกิดการอักเสบหรืออุดตัน ทำให้น้ำมันหล่อลื่นไหลออกจากท่อตาได้ยาก ส่งผลให้ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง
การรักษา : ตากุ้งยิงชนิดไม่เจ็บ สามารถหายได้เอง หรือหายได้เร็วขึ้น หากได้รับยาหยอดตาหรือประคบร้อน แต่ในกรณีรุนแรงอาจต้องทำการผ่าตัด
การตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ลดโอกาสความผิดปกติของดวงตาได้
การวินิจฉัยและการรักษาโรคตาในเด็กตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันดวงตาของเด็กไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม การมองเห็นที่ไม่เหมาะสมและผิดปกติ ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ยากและอาจประสบปัญหาในโรงเรียน อาการทางตาอย่างกะทันหันในเด็กอาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในสมอง หรือแม้แต่การเริ่มต้นเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1
ดังนั้น ผู้ปกครองควรมองหาสัญญาณทั่วไปของปัญหาสายตาในเด็ก เพื่อให้แน่ใจว่าเขาได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด สัญญาณบางอย่างของปัญหาสายตาในเด็ก ได้แก่:
- ลักษณะสีขาวในรูม่านตา
- ตาข้างหนึ่งดูคงที่ ในขณะที่อีกข้างหนึ่งเคลื่อนไหวบ่อยๆ
- ตาไวต่อแสง
- เอียงศีรษะไปข้างหนึ่งจนดูผิดปกติ
- นั่งชิดหนังสือหรือโทรทัศน์เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจน
- ตาดูไม่เท่ากันหรือไม่สมมาตร ตาข้างหนึ่งอาจดูใหญ่กว่าอีกข้าง
จะป้องกันปัญหาสายตาในเด็กได้อย่างไร
มีหลายวิธีในการป้องกันปัญหาสายตาในเด็ก โดยใช้วิธีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
- สอนลูกให้รักษาท่าทางที่ดีในการนั่งเรียน หรือนั่งหน้าทีวี หรือคอมพิวเตอร์
- ส่งเสริมให้ลูกเล่นนอกบ้าน ลิกใช้วิดีโอเกม เพราะการเล่นกลางแจ้งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการโดยรวมของเด็ก เวลาออกไปเล่นนอกบ้าน จะมองไปรอบๆ บ่อยๆ ตาจึงเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อสายตา นอกจากนี้พบว่าการสัมผัสกับแสงแดดช่วยป้องกันการพัฒนาของสายตาสั้นตามการศึกษาบางกรณี
- ให้ลูกทานผักใบเขียวและอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนและกรดอะมิโน เนื่องจากมีความสำคัญต่อการพัฒนาและบำรุงรักษาดวงตา
- การตรวจตาเป็นประจำเป็นกุญแจสำคัญในการค้นพบปัญหาความผิดปกติ ต่าง ๆ เพื่อหยุดอาการก่อนที่จะเลวร้ายลง
- การรักษาอาหารเพื่อสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ หากมีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลน้อยจะช่วยยับยั้งการเริ่มเป็นโรคเบาหวานและป้องกันปัญหาสายตาได้
- หากสงสัยว่าลูกของคุณมีปัญหาทางสายตา ให้พาเขาไปพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อทำการตรวจ
- สอนลูกให้ล้างมือทุกครั้งที่กลับมาจากนอกบ้าน อย่าปล่อยให้ลูกสัมผัสดวงตาด้วยมือที่สกปรก
- หากลูกมีอาการตาติดเชื้อ เช่น ตาแดงจากเชื้อไวรัส ควรให้หยุดเรียนจนกว่าการติดเชื้อจะหายดี
- หากคุณสังเกตเห็นอาการต่างๆ เช่น ตาเหล่ ปวดหัว และกะพริบตาถี่ๆ ให้พาลูกไปตรวจสายตา
ข้อแนะนำการตรวจสายตาตามวัย
การตรวจสายตาเป็นสิ่งที่แนะนำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็ก เนื่องจากเน้นที่การตรวจหาความผิดปกติของดวงตาในพวกเขา เพื่อรักษาในช่วงปีแรกๆ ของชีวิต นี่คือคำแนะนำในการตรวจคัดกรองสายตาสำหรับเด็ก
แรกเกิด : แพทย์จะตรวจแสงสะท้อน (ทดสอบการสะท้อนสีแดง) จากจอประสาทตาทารกแรกเกิดเพื่อดูว่าผิดปกติหรือไม่ การประเมินการมองเห็น ประวัติโรคตา ตรวจความผิดปกติของดวงตาและเปลือกตาภายนอก ประเมินลักษณะของรูม่านตา หากเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือมีความเสี่ยงสูง มีสัญญาณของความผิดปกติ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคดวงตาที่ร้ายแรง แพทย์จะทำการตรวจดวงตาอย่างละเอียดทันที
6 เดือน – 1 ปี : ประเมินลักษณะของรูม่านตา โดยการทดสอบการมองเห็น ตรวจสุขภาพตา ตรวจหาโรคตาที่พบบ่อยในเด็กที่ต้องการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น ตาเขเหล่ เป็นต้น
3 ปี – 3 ปี ครึ่ง : ในวัยนี้เด็กโตพอที่จะให้ความร่วมมือในการตรวจวัดสายตาได้ เพื่อดูว่าเด็กมีสายตาสั้น ยาวหรือเอียงหรือไม่ เด็กหลายคนมักมีภาวะสายตายาว แต่สามารถมองเห็นในระยะอื่นได้ โดยเด็กส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใส่แว่นตาหรือแก้ไขความผิดปกติทางสายตา นอกจากนี้ยังควรตรวจหาภาวะตาสองข้างไม่มองในทิศทางเดียวกัน เช่น ตาเข ตาเหล่ ตาขี้เกียจ เป็นต้น
เด็กวัยเรียน : เมื่อเด็กเข้าเรียนหรือเมื่อผู้ปกครองสงสัยว่าเด็กมีปัญหาทางสายตา ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจวัดสายตา ปัญหาทางสายตาที่พบบ่อยในเด็กวัยนี้ คือ สายตาสั้นซึ่งแก้ไขได้ด้วยการสวมแว่นตา หากสงสัยว่าเด็กมีภาวะสายตาสองข้างไม่มองในทิศทางเดียวกันหรือปัญหาทางสายตาอื่นๆ ควรให้จักษุแพทย์ตรวจดวงตาอย่างละเอียด
การสังเกตเห็นอาการผิดปกติของดวงตาของลูก และให้ลูกได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ความผิดปกติของตาด้วยภาวะต่าง ๆ ทุเลาลง หรือ หายเป็นปกติไปได้ นอกเสียจาก ว่าเด็กจะเป็นโรคเกีายวกับตาบางชนิด ที่อาจต้องรักษาเพียงตามอาการ หากคุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้กับลูกในด้านการป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตาของลูกได้แน่นอนว่าจะเป็นการเสริมสร้างทักษะความฉลาดให้กับลูกในด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี (HQ) ได้อีกด้วยค่ะ เมื่อลูกไม่ป่วยง่ายด้วยมีความฉลาดในการดูแลใสใจสุขภาพของตัวเองแล้ว ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ส่งผลให้เด็กๆ เติบโตไปพร้อมกับสุขภาพที่แข็งแรงช่วยให้มีพัฒนาการและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีสมวัยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : dmei.org , aao.org , kidshealth.org.nz , bumrungrad.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ระวัง! 3 อันตรายจากแสงสีฟ้า ทำร้ายตาลูกไม่รู้ตัว
โรคตาในเด็ก รีบรักษาก่อนสายเกินแก้!
โรคตาขี้เกียจในเด็ก (Lazy eye) คืออะไร?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่