ลูกโตช้า – เด็กตัวโตช้า น้ำหนักไม่ขึ้น น้ำหนักน้อย เป็นปัญหาทั่วไปที่เกิดขึ้นได้สำหรับเด็ก พ่อแม่ ผู้ดูแลหรือแพทย์อาจ สังเกตได้ว่าเด็กมีการเจริญเติบโตไม่ดีหรือมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเบี่ยงเบนไปจากรูปแบบการเติบโตมาตรฐาน ซึ่งเมื่อน้ำหนักตัวลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งในทางคลินิก แพทย์อาจสันนิษฐานว่าเด็กมีภาวะ “ขาดสารอาหาร” หรือมีภาวะ “ไม่สามารถเจริญเติบโต” วันนี้เรามาดู 10 สาเหตุที่ทำให้ลูกตัวโตช้าว่า เกิดจากอะไรได้บ้าง
แน่นอนว่าการที่ลูกน้ำหนักไม่ขึ้น น้ำหนักลด หรือตกเกณฑ์มาตรฐาน คือ ความกังวลอันดับแรกๆ ของพ่อแม่ ตามที่แพทย์ระบบทางเดินอาหารในเด็ก ดร. Kadakkal Radhakrishnan กล่าวว่า “แนวโน้มน้ำหนักโดยรวมของเด็ก มักสำคัญมากกว่าการลดน้ำหนักเพียงครั้งเดียว สิ่งสำคัญคือต้องเปรียบเทียบน้ำหนักของคุณกับส่วนสูงเพื่อให้แน่ใจว่าลูกของคุณมีน้ำหนักที่ดีเมื่อเทียบกับส่วนสูงของพวกเขา
ดร. Radhakrishnan กล่าวว่า “น้ำหนักของเด็กอาจลดลงตามส่วนสูง แต่เด็กยังสามารถเติบโตต่อไปได้ในอัตราปกติตามอายุ หากน้ำหนักลดลงอย่างมีนัยสำคัญภายในการวัดครั้งเดียว ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อพิจารณาว่าการลดลงของน้ำหนักตัวน่าเป็นห่วงหรือไม่”
เกณฑ์การวัดน้ำหนัก
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้แผนภูมิ (กราฟ) แสดงการเติบโตของทารก เพื่อตรวจสอบพัฒนาการในการเจริญเติบโตของทารก เพื่อหลีกเลี่ยงการประเมินที่ผิดพลาดของทารกที่มีน้ำหนักน้อยหรือไม่สามารถเจริญเติบโตได้ (failure to thrive) เกณฑ์ในการวัดคือ น้ำหนักหรือส่วนสูงต่ำกว่า (<) 3 เปอร์เซ็นไทล์ ซึ่งกราฟนี้มีอยู่แล้วในสมุดประวัติสุขภาพของทารกตั้งแต่แรกเกิด หากผู้ปกครองตรวจสอบตารางน้ำหนักและส่วนสูง (ซึ่งจะอยู่ในสมุดวัคซีนของลูก) ว่าจะอยู่ในช่วงปกติหรือไม่ ซึ่งช่วงปกติควรอยู่ระหว่าง P25-P75 ในกราฟแสดงการเจริญเติบโต
อายุ | น้ำหนัก |
แรกเกิด | ประมาณ 3 กิโลกรัม |
4-5 เดือน | 4-5 กิโลกรัม |
1 ปี | เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากน้ำหนักแรกเกิดหรือประมาณ 9 กิโลกรัม |
2 ปี | เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากน้ำหนักแรกเกิดหรือประมาณ 12 กิโลกรัม |
2-5 ปี | เพิ่มประมาณ 2.3-2.5 กิโลกรัม/ปี |
10 สาเหตุที่ทำให้ ลูกโตช้า ลูกตัวไม่โต พ่อแม่ ควรทำอย่างไร?
มีหลายสาเหตุ ที่ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโต (น้ำหนักตัว) ผิดปกติ ได้แก่
1. ได้รับแคลอรีไม่เพียงพอ
สาเหตุ 90% ที่พบสำหรับปัญหาน้ำหนักตัวน้อยน้ำหนักไม่ขึ้นในเด็ก เกิดจากการได้รับแคลอรีไม่เพียงพอ สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเด็กไม่สนใจที่จะกินเนื่องจากเหตุผลหลายประการ ตลอดจนผู้ปกครองไม่เข้าใจว่าเด็กต้องการปริมาณแคลอรีจากอาหารเท่าไรในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กวัยหัดเดินที่กระฉับกระเฉงและปกติดี แต่ห่วงเล่นซึ่งอาจทำให้สนใจการกินน้อยซึ่งพ่อแม่อาจต้องคอยกระตุ้น นอกจากนี้สำหรับทารกในช่วงสองสามเดือนแรกที่น้ำหนักขึ้นน้อยอาจเป็นเพราะน้ำนมแม่ไม่เพียงพอ หรือสูตรนมผงที่ไม่เหมาะสม
2. ขาดโภชนาการที่ดี
บางครั้ง สารอาหารที่เด็กได้อาจไม่ครบ หรือน้อยเกินไป ซึ่งส่งผลกระทบได้โดยตรงต่อน้หนักตัว นอกจากนี้ ในกรณีของเด็กโตหรือวัยรุ่นอาจเกิดจากการรับประทานแคลอรีที่ไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจาดความเจ็บป่วยต่างๆ เช่น โรคความผิดปกติของการกิน (anorexia nervosa)
3. ปัญหาช่องปากหรือระบบประสาท
เด็กอาจรับประทานอาหารได้ไม่ดีหากมีปัญหาหรือความผิดปกติของสุขภาพในช่องปากหรือมีปัญหาทางระบบประสาท ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลต่อความสามารถในการกลืน ซึ่งอาจเกิดจากภาวะต่างๆ เช่น สมองพิการ หรือเพดานโหว่ ซึ่งจำเป็นต้องให้แพทย์ทำการวินิจฉัยเพื่อให้การรักษาได้อย่างเหมาะสม
4. อาเจียนบ่อยเกินไป
บางครั้งร่างกายของเด็กไม่สามารถเก็บกักสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตเอาไว้ได้เนื่องจากมีการอาเจียนมากเกินไป ซึ่งสาเหตุอาจเกิดได้จากโรคกรดไหลย้อนรุนแรง หรือปัญหาทางระบบประสาทบางอย่างซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นๆ ได้หลากหลายที่เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร
ทารกส่วนใหญ่ที่มีอาหารของกรดไหลย้อนที่ไม่รุนแรง อาจมีแนวโน้มที่อาการจะดีขึ้นและหายไปเองได้ซึ่งไม่ส่งผลต่อการเจริญเติบโต แต่โดยทั่วไปทารกที่อาเจียนมาก อาจเกิดได้จากช่องทางออกของกระเพาะอาหารที่ตีบแคบ (Pyloric Stenosis) ซึ่งถือเป็นความพิการแต่กำเนิด และต้องมีการประเมินพิเศษรวมถึงอัลตราซาวนด์ช่องท้อง
5. ความผิดปกติของตับอ่อน
เด็กที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับตับอ่อนร่างกายอาจไม่สามารถย่อยอาหารได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลทำให้น้ำหนักไม่ขึ้นได้เช่นกัน ในสถานการณ์นี้ เด็กอาจมีอุจจาระที่ขนาดใหญ่ เป็นฟอง มีกลิ่นเหม็น ซึ่งต้องได้รับการวินัจฉัยเพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
6. ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ที่ส่งผลต่อเยื่อบุลำไส้ หรือมีความเจ็บป่วยด้วยโรคในกลุ่ม โรคลำไส้อักเสบที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease) เป็นต้น
7. ปัญหาของต่อมไทรอยด์และเมตาบอลิซึม
ในบางสถานการณ์ ร่างกายของเด็กอาจมีการเผาผลาญแคลอรีมากเกินไป ซึ่งเกิดจากปัญหาความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่อยู่บริเวณส่วนหน้าของคอ ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่ช่วยควบคุมระบบเมตาบอลิซึม หรือการเผาผลาญพลังงานของร่างกายและควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกายให้เป็นปกติ
8. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
เด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด อาจมีอาการ เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร กินได้น้อย และอาเจียนบ่อย ซึ่งเกิดขึ้นได้จากภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะเขียว และผลข้างเคียงของยาในการรักษา ซึ่งทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ และน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ได้
9. ความผิดปกติของไต
ภาวะไตวายหรือความผิดปกติอื่นๆ ของไต จะส่งผลต่อการเพิ่มของน้ำหนัก (รวมถึงส่วนสูง) แต่เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย
10. ความผิดปกติทางพันธุกรรม
นอกจากนี้ เด็กบางคนอาจมีความผิดปกติทางพันธุกรรมหลายอย่างที่อาจส่งผลต่อการเพิ่มของน้ำหนัก ซึ่งต้องได้รับการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ
คำแนะนำเรื่องโภชนาการและการดูแล
- ให้ลูกรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ (สำหรับเด็กวัย 6-12 ปี) โดยในแต่ละมื้อควรประกอบด้วย
- ข้าว มื้อละ 1-2 ทัพพี
- เน้นโปรตีนที่มีคุณภาพ เช่น เนื้อสัตว์ 2 ช้อนกินข้าว หรือไข่ 1 ฟอง ในเด็กที่น้ำหนักน้อยรับประทานไข่ได้ทุกวันวันละ 1 ฟอง หรือให้ทานปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาอินทรี ปลาดุก ปลาสวาย เป็นต้น
- ผักที่มีแป้งมาก และให้พลังงานสูงสลับกับผักใบเขียว โดยให้ในปริมาณ ประมาณ 1 ทัพพี
- ผลไม้ เช่น ส้ม 1 ผล หรือกล้วย 1 ผล หรือมะละกอ 4-5 ชิ้นคำ หรืออะโวคาโด ½ ลูก หรือองุ่น 5-6 ผล หรือผลไม้อื่นๆ
- ให้นมครบส่วน 1-3 แก้ว แล้วแต่วัย
- หากเป็นไปได้ ควรเพิ่มน้ำมันในอาหารทุกมื้อ ประมาณ 1-2 ช้อนชา / มื้อ เพราะไขมันจะช่วยในการเจริญเติบโตของเด็กได้
- ไม่ให้นมลูกมากเกินไป เมื่อเด็กอายุเกิน 1 ปี ควรรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก วันละ 3 มื้อ และให้นมเป็นอาหารเสริม ควรลดปริมาณนมเหลือวันละ 3-4 มื้อ และให้นมหลังมื้ออาหารเท่านั้น
- ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหาร หากเด็กอยู่ในวัยซุกซนหรือห่วงเล่น อาจให้มีส่วนร่วมในการเตรียมอาหารและฝึกให้รับประทานอาหารเป็นเวลา สม่ำเสมอ และควรรับประทานพร้อมๆ กันทั้งครอบครัว เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างบรรยากาศการรับประทานอาหารให้เด็ก
- แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆ ปัญหาเด็กที่มีน้ำหนักน้อย แต่ละมื้อหากรับประทานได้น้อยอาจจะต้องแบ่งมื้อย่อยๆ สังเกตชนิดและลักษณะอาหารที่เด็กชอบ ปรุงรสชาติให้ถูกปากเพราะเด็กสามารถแยกแยะรสชาติได้ตั้งแต่อายุไม่กี่สัปดาห์
- ช่วยลูกให้รู้สึกหิวก่อนถึงมื้ออาหาร โดยงดอาหารหรือขนมจุบจิบระหว่างมื้อ เพราะเมื่อเด็กอายุเกิน 1 ปี ควรรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก ไม่ควรให้เด็กรับประทานขนมกรุบกรอบ ลูกอมทอฟฟี่ หรือนม ก่อนมื้ออาหาร เพราะเด็กจะอิ่มทำให้เด็กรับประทานอาหารได้น้อย หากจะให้ควรให้หลังอาหารหากเด็กรับประทานได้เหมาะสม
- ลูกไม่กินอย่าดุลูก เพื่อหวังให้ลูกกินมากขึ้น การตี การต่อว่า หรือบังคับด้วยการใช้อารมณ์กับลูก ยิ่งส่งผลเสียต่อการสร้างนิสัยการกิน
- อย่าให้รางวัลต่อรองพร่ำเพรื่อ นอกจากนี้การตามใจ ต่อรอง หรือให้รางวัลเกินความจำเป็นกับลูกเพื่อให้สามารถกินอาหารได้ อาจส่งผลเสียต่อการสร้างนิสัยการกินที่ดีให้ลูกได้เช่นเดียวกัน
- ไม่ให้ดูโทรทัศน์ระหว่างมื้ออาหาร ขณะมื้ออาหารไม่ดูโทรทัศน์หรือเล่นของเล่นไปด้วย เพราจะทำให้เด็กไม่สนใจเรื่องรับประทาน ทำให้รับประทานช้า อมข้าวและอิ่มเร็วโดยที่ยังรับประทานได้น้อย
- เสริมวิตามินบำรุง เด็กที่กินได้น้อย แน่นอนว่าอาจได้รับสารอาหารไม่ครบ ส่งผลให้ร่างกายขาดวิตามิน และเกลือแร่บางตัว เมื่อเด็กได้รับวิตามิน เกลือแร่ที่ขาดไปก็จะมีอาการโดยรวมอาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าควรให้วิตามินเสริมหรือไม่อย่างไร ในปริมาณเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม
- เปลี่ยนเมนูไม่ให้ซ้ำ ปรับเปลี่ยนลักษณะเมนูอาหารให้แตกต่าง ไม่ซ้ำซากจำเจ ซึ่งอาจทำให้เด็กเบื่ออาหาร และทำให้ปฏิเสธการกินได้
- ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง ในเรื่องการรับประทานให้มากที่สุดตามวัย โดยค่อยๆ ลดการให้ความช่วยเหลือลง
- พาลูกไปออกกำลังกาย เมื่อเด็กได้ใช้พลังงานก็จะทำให้หิวได้ง่าย ส่งผลให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น
- ให้ลูกนอนหัวค่ำ การนอนดึกส่งผลกระทบได้โดยตรงต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ในช่วงเวลา สี่ทุ่ม-ตีสอง เป็นช่วงที่ร่างกายมีการหลั่ง growth hormone ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก ดังนั้นควรให้ลูกนอนก่อนเวลาสามทุ่มของทุกวัน
ควรไปพบแพทย์เมื่อใด
หากคุณกังวลว่าบุตรหลานของคุณน้ำหนักไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้เด็กได้รับการตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะมองหาสัญญาณว่าเด็กอาจได้รับแคลอรีไม่เพียงพอหรือไม่ หรือมีความผิดปกติของร่างกายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น แพทย์จะตรวจสอบอาการโดยทั่วไปของเด็ก ความเหนื่อยล้า ความซีด และอวัยวะต่างๆ เช่น แขนขาบาง รอยพับของผิวหนังบริเวณแขน และต้นขา และการสูญเสียไขมันบริเวณแก้ม เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจหาภาวะโลหิตจาง ภาวะโภชนาการ และการทำงานของไต อาจมีการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ของโรคต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ เช่น โรคเซลิแอค (celiac) โรคโครห์น (Crohn) หรือโรคที่เกิดขึ้นกับตับอ่อน เป็นต้น
โภชนาการและการเจริญเติบโตของลูกเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ เด็กจะมีพัฒนาการด้านต่างๆ ที่ดีได้ ต้องควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางสมองและร่างกายที่ดี การได้รับอาหารที่ดีมีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนเป็นเรื่องที่สำคัญ ตลอดจนการปลูกฝังนิสัยการกินที่ดี ก็สามารถช่วยให้เด็กๆ มีพฤติกรรมในการกินที่ดีได้ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจวิธีในการเสริมสร้างนิสัยการกินที่ดีให้กับลูก ตลอดจนสาเหตุต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของลูก ก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกเกิดความฉลาดในด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี (HQ) เมื่อเด็กๆ รู้ว่าอะไรที่ควรกินไม่ควรกิน อะไรที่มีประโยชน์หรือมีโทษต่อร่างกาย ก็จะส่งผลดีต่อการมีร่างกายที่เติบโตสมบูรณ์แข็งแรงสมวัยได้อย่างแน่นอนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : health.clevelandclinic.org , bumrungrad.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ลูกไม่กินข้าว เบื่ออาหาร ทำยังไงดี ?
14 อาหาร เสริมภูมิคุ้มกันลูก ช่วยให้ลูกไม่ป่วยง่าย!
วิจัยชี้! เด็กที่กิน อาหาร 5 หมู่ ไม่ครบ อาจเตี้ยกว่าเพื่อน 20 ซม.
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่