พัฒนาการทารก 2 เดือน ลูกโตขึ้นมาก ไม่ได้นอนนิ่งๆเป็นตุ๊กตาน้อยอย่างเคย เริ่มขยับแข้ง ขยับขา สนุกกับการมองเห็นสิ่งรอบตัว ขณะที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มปรับตัวและเข้าใจความต้องการของลูกน้อยได้มากขึ้น แต่นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น ยังมีเรื่องตื่นเต้นให้ใจได้มากมาย บางครั้งลูกตื่นบ่อย ร้องไห้นาน ร้องงอแงกลางดึกบ่อยๆ แบบนี้ ลูกเป็นโคลิค หรือเปล่า
พัฒนาการทารก 2 เดือน เปลี่ยนไปมาก ร้องไห้เก่ง ร้องงอแงเป็นชั่วโมง ใช่โคลิคหรือเปล่า
เด็กวัย 2 เดือนจะเริ่มรู้จักการเล่น และนอนหลับน้อยลงในช่วงกลางวันเพื่อตื่นมา “เข้าสังคม” ช่วงกลางคืนทารกจะเริ่มนอนดีขึ้น แต่ถ้าลูกบ้านไหนยังตื่นบ่อยเหมือนเดิม อย่าเพิ่งกังวล เพราะลูกจะปรับตัวให้นอนได้นานขึ้นเอง ส่วนจะช้าหรือเร็วแตกต่างกันไปตามพื้นฐานของเด็กแต่ละคน
พัฒนาการทางร่างกาย พัฒนาการทารก 2 เดือน
ลูกในวัยนี้มีความเปลี่ยนแปลงที่คุณแม่สังเกตได้หลายอย่าง นอกจากน้ำหนักและส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นมากแล้ว พัฒนการทางร่างกายหลายด้านชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการแสดงความสนใจต่อสิ่งรอบตัว ทั้งมองตามเสียงต่างๆ แม้ว่าจะยังหันซ้าย หันขวาไม่ตรงทิศ แต่ก็สามารถมองตาม คุณแม่ที่กำลังเดินไปเดินมา หรือพัดลมที่หันช้าๆ ได้ถึง 180 องศาแล้ว ชอบมากรูปทรงและสีสันที่ซับซ้อนได้มากขึ้น ไม่เฉพาะสีขาว-ดำ แต่จะยังเห็นสีได้ไม่เหมือนผู้ใหญ่
เจ้าตัวน้อยแข็งแรงขึ้น หลายคนพยายามยกศีรษะขึ้นมากที่นอน หรือถ้าได้นอนคว่ำก็จะพยายามเอาแขนยันพื้นไว้ ชูคอสูง คอเริ่มแข็งตั้งตรงได้ ขยับแขนขยับขาได้คล่องแคล่วขึ้นมาก
พัฒนาการทางอารมณ์ ร้องเยอะแต่ก็ยิ่งเก่งด้วย
เด็กวัยนี้เริ่มแสดงอารมณ์ผ่านสีหน้าให้คุณพ่อคุณแม่รับรู้ได้ว่ารู้สึกอย่างไร สีหน้าตอนโกรธ ไม่พอใจ เสียใจ ไม่ใช่แค่การร้องไห้เหมือนตอนหลังคลอด ลูกเริ่มยิ้ม ส่งเสียงอื้ออ้าในคอเวลาได้ยินเสียงคุณพ่อคุณแม่ หันมองเวลามีใครพูดด้วย บางคนอาจยกมือ เตะเท้าเวลาถูกใจ สังเกตได้ว่าลูกจะจ้องดูหน้าแม่เป็นเวลานาน เพราะเขากำลังศึกษาและจดใบหน้าว่าคนนี้ไหงแม่ของหนู
หลายบ้านอาจเจอปัญหาว่า ลูกกินนมแล้วไม่นอนหลับเหมือนเดิม นอนน้อยในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง บางคนนอนยาวในตอนกลางวัน แต่กลางคืนไม่ยอมนอน นั่นเพราะเขาอยากเรียนรู้สิ่งรอบตัวมากขึ้นแต่ยังไม่สามารถปรับเวลานอนเหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักพัก ขณะที่หลายบ้านอาจเจอปัญหาว่า ลูกร้องไห้หนักขึ้น ร้องอแงไม่ยอมหยุด โดยเฉพาะช่วงเย็นหรือค่ำ คุณแม่อาจกังวลว่า อาการแบบนี้ ลูกเป็นโคลิคหรือเปล่า
ร้องโคลิคคืออะไร
โคลิค หรือ โคลิก (colic) คืออาการร้องของเด็กทารก ที่มักจะเกิดขึ้นในทารกอายุ 3 สัปดาห์จนถึง 3 เดือน ลักษณะการร้องของลูกจะร้องมาก ร้องนาน ร้องหน้าแดงกำหมัดแน่น ร้องจนตัวงอ เป็นต้น และมักชอบร้องช่วงเวลาเย็นๆ หรือไม่ก็ช่วงกลางคืน เป็นการร้องที่ตรงเวลากันทุกวัน โดยจะร้องนานมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่ชัดเจนได้ และอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น
พื้นฐานอารมณ์ของลูกเป็น “เด็กเลี้ยงยาก”
กลืนอากาศมากขณะดูดนม หรือกินนมแล้วไม่ได้เรอ ทำให้แน่นท้อง
กินมากหรือน้อยไป กินอาหารจำพวกแป้งมากเกินไป
มีภาวะกรดไหลย้อน ลำไส้เคลื่อนตัวผิดปกติ
แพ้อาหาร
พ่อแม่มีปัญหาด้านอารมณ์ คุณแม่เครียดขณะตั้งครรภ์
จากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งข้างต้นจึงทำให้ลูกร้องไห้ยาวนาน บางคนอาจร้องต่อเนื่องเป็นชั่วโมง อุ้มเดินแค่ไหนก็ไม่หาย หรือถ้าหยุดร้องแล้ววางลงนอนลูกเริ่มร้องใหม่ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ลำบากอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อผ่านพ้น 6-8 สัปดาห์แล้วอาการร้องโคลิคจะค่อยๆดีขึ้นและหายไปเอง ระหว่างนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องทำใจยอมรับ อดทน และพยายามไม่เครียด ที่สำคัญควรสลับกันดูแลลูก อย่าปล่อยให้แม่ดูแลเพียงคนเดียว เพื่อให้อีกฝ่ายได้ไปพัก ผ่อนคลายอารมณ์ รอเวลาที่ลูกน้อยน่ารักคนเดิมกลับมา
เรื่องที่พ่อแม่สงสัย พัฒนาการทารก 2 เดือน
ฟันขึ้น : แม้จะเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในพัฒนาการทารก 2 เดือนแต่ก็เป็นไปได้ที่ทารกจะมีฟันขึ้นในเดือนนี้ โดยปกติฟันจะขึ้นเมื่อลูกอายุ 4-6 แต่ถ้าลูก 2 เดือนมีอาหารน้ำลายยืด ร้องไห้งอแง นอนไม่หลับ และไม่ยอมกินนม อาจเป็นเพราะฟันกำลังจะขึ้น หรือถ้าไม่แน่ใจควรให้คุณหมอตรวจดูอาการ
การขับถ่าย : ทารกที่กินนมผสมมักอึวันละครั้งหรือสองครั้ง ส่วนทารกที่กินนมแม่จะอึบ่อยกว่านั้น หรืออาจจะไม่อึเลยถึง 7 วัน ไม่ถือว่าเป็นปัญหา คุณพ่อคุณแม่อย่ายึดติดความถี่ ให้ดูที่คุณภาพเป็นหลัก หากลูกวัย 2 เดือนท้องผูก อึที่ออกมาจะเป็นก้อนกลมแข็ง แต่ถ้าลูกท้องเสีย อึจะเหลวเป็นน้ำกว่าปกติ
การกิน : หากกินนมขวด เดือนนี้ลูกยังคงกินนมถี่ทุก 3-4 ชั่วโมง จำนวน 4-5 ออนซ์ต่อครั้ง และบางทีลูกก็อาจหิวเป็นพิเศษ หรือกินน้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนเด็กนมแม่ก็อาจกินทุก 2 หรือ 3 ชั่วโมง หากลูกกำลังหลับสนิทและได้เวลากินนมแล้ว ไม่จำเป็นต้องปลุกขึ้นมากิน และทารกยังไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำ เพราะน้ำในนมมีปริมาณน้ำที่มากเพียงพออยู่แล้ว
การนอน : ลูกนอนหลับประมาณ 15 – 16 ชั่วโมงต่อวัน โดยกลางคืนทารกจะนอน 8-9 ชั่วโมง (อาจไม่ติดต่อกัน ซึ่งถือว่าปกติ) และนอนกลางวันอีกราว 3 รอบ หรือรวมประมาณ 7-8 ชั่วโมง
ลูก 2 เดือนสามารถฝึกให้นอนยาวได้หรือยัง?
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะอยากฝึกให้ลูกนอนยาวเร็วๆ แต่โดยทั่วไปแล้วควรรอให้ลูกอายุ 4 เดือนก่อน ซึ่งตอนนั้นลูกจะตื่นมากินนมกลางคืนน้อยลงตามธรรมชาติ และมีรูปแบบการนอนคงที่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มฝึกการนอนให้ทารกด้วยการพาลูกลงนอนเปลทุกครั้งที่ลูกทำท่าง่วง แต่ยังไม่หลับ สิ่งสำคัญคือการฝึกให้ลูกนอนหลับเองให้ได้ ซึ่งเป็นทักษะที่จะทำให้ลูกนอนเองในตอนกลางคืนโดยไม่ต้องปลุกพ่อแม่
เช็คลิสต์ที่ต้องทำ
- พาลูกไปพบแพทย์และฉีดวัคซีนตามนัด
- ให้ลูกมีเวลา Tummy Time หรือการนอนคว่ำเล่น เพื่อให้ลูกได้ฝึกกล้ามเนื้อคอและแขน
- เล่นเกมกับลูก : คุณพ่อคุณแม่อาจหาวัตถุที่ทำให้เกิดเสียงต่างๆ เช่น กระดาษ, ไม้เคาะ, ของเล่นเขย่า ฯลฯ นำมาทำให้เกิดเสียงต่างๆ ให้ทารกฟัง จากนั้นให้ลูกจับสิ่งของนั้นแล้วช่วยเคาะ ขยำ หรือทำให้เกิดเสียง ทารกจะตื่นเต้นกับเสียงที่แปลก แตกต่างกันออกไป ทั้งยังช่วยฝึกทักษะการฟังและเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกน้อยด้วย
แหล่งข้อมูล www.thebump.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่