ประสาทสัมผัสของลูกน้อยอายุ 18-19 สัปดาห์ เริ่มทำงานประสานสัมพันธ์กันแล้วนะ สังเกตได้ง่ายๆ ว่าเจ้าตัวน้อยจะออกอาการชอบและไม่ชอบต่อเสียงเพลง
เสียงกับภาพมาพร้อมกันได้ แต่อย่ามากเกินไปนะ
ลูกวัยนี้จะรู้จักเชื่อมโยงประสาทสัมผัสอย่างหนึ่งกับอีกอย่าง เช่น เสียงที่ได้ยินกับภาพเคลื่อนไหวที่เห็น แต่การแยกแยะสิ่งกระตุ้นประสาทสัมผัสที่จู่โจมเข้ามาพร้อมๆ กันก็เป็นเรื่องยากสำหรับเขา
ดังนั้นในงานเลี้ยงรวมญาติที่มีทั้งเสียงพูดคุยของคนมากหน้าหลายตา เสียงเพลงดังลั่นและเด็กโตที่ชวนกันวิ่งเล่นจึงทำให้ลูกน้อยงอแงได้ง่ายๆ ขณะที่การจับกระเด้งขึ้นๆ ลงๆ บนเข่าพร้อมกับร้องเพลงกล่อมเด็กให้ฟังก็ทำให้เจ้าตัวเล็กหายงอแงได้ไม่ยากเช่นกัน ทารกวัย 4 เดือนกว่าๆ นี้ จึงค่อนข้างชอบการเคลื่อนไหวขึ้นๆ ลงๆ ที่สัมพันธ์กับเสียงเพลงที่ไม่ดังเกินไป
พิสูจน์การเชื่อมโยง
นักวิจัยให้ทารกวัย 4 เดือนดูวิดีโอ 2 ม้วนพร้อมๆ กันโดยปิดเสียง ม้วนหนึ่งเป็นภาพคนเล่นจ๊ะเอ๋ ส่วนอีกม้วนเป็นภาพคนใช้ไม้ตีกลองแทมบูรีนและบล็อกไม้เป็นจังหวะ จากนั้นก็ให้ทารกดูวิดีโอ 2 ม้วนนี้อีกครั้งโดยเปิดเสียงวิดีโอม้วนใดม้วนหนึ่งให้ฟังด้วย ฉะนั้นทารกก็จะได้ยินเสียงคนพูดว่า “จ๊ะเอ๋!” กับลูกหรือเสียงคนตีกลองแทมบูรีนและบล็อกไม้เป็นจังหวะ ปรากฏว่าทารกส่วนใหญ่มองไปที่ภาพวิดีโอกับเสียงประกอบได้ถูกต้อง เหมือนกับจะบอกว่า “นี่ไงๆ เสียงนี้อยู่นี่ๆ” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าถึงจะอายุแค่ 4 เดือน แต่ทารกก็รู้จักเชื่อมโยงเสียงที่ได้ยินกับภาพการเคลื่อนไหวที่เห็นแล้ว
ใช้เสียงเพลงให้เป็นประโยชน์
ให้คุณจับลูกนั่งในเปลโยก เปิดเพลงมันๆ จากนั้นก็เต้นตามจังหวะเพลงให้เขาดู เพราะนอกจากจะให้ทั้งความสุขและความสนุกสนานกับลูกแล้ว กิจกรรมนี้ยังจะช่วยฝึกให้เขามีประสาทสัมผัสที่ประสานสัมพันธ์กันด้วย
ส่วนเวลาที่ลูกงอแงเพราะมีสิ่งกระตุ้นประสาทสัมผัสมากเกินไป คุณก็ควรจะอุ้มเขาไปในจุดที่พ้นจากความวุ่นวายดังกล่าว แล้วฮัมเพลงเบาๆ พร้อมกับโยกตัวไปมา รับรองว่าเสียงที่ทำให้สบายใจขึ้นและจังหวะการเคลื่อนไหวของคุณจะต้องทำให้เขาหายงอแงอย่างแน่นอน
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
ภาพ: Shutterstock