ทารก 6 เดือน กินน้ำ เพราะความเชื่อโบราณ ดีจริงหรือคิดไปเอง เปิดสถิติคนไทยให้ทารกกินน้ำก่อน6เดือนเกิน80%เหตุใดหมอถึงไม่แนะนำ ความเชื่อนี้ควรไปต่อหรือพอแค่นี้
ปู่ย่าให้ ทารก 6 เดือน กินน้ำ หลังกินนมจะเป็นอะไรไหม?
กรมอนามัย เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการให้น้ำเปล่าแก่ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน ว่า มีผลการศึกษาช่วงเวลา และปัจจัยสำคัญในการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมผสม หรืออาหารอื่น เมื่อปี 2559 ในกลุ่มแม่และผู้ดูแลหลักของทารก และเด็กเล็กอายุ 0-ปี จำนวน 1,147 คน จาก 16 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า อาหารอื่นที่ทารกได้กินมากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรก คือ น้ำเปล่า โดยแม่หรือผู้ดูแลหลักของทารกและเด็กเล็ก ร้อยละ 86.4 เคยให้ทารกกินน้ำในช่วงก่อนอายุ 6 เดือน โดยเหตุผลหลักที่ให้ทารกกินน้ำเปล่าก่อนอายุครบ 6 เดือน คือ
- ให้ทารกดื่มน้ำเพื่อล้างปาก ร้อยละ 55
- คิดว่าการกินน้ำเป็นเรื่องปกติ ร้อยละ 21.7
- ผู้ดูแลที่ไม่ใช่แม่ให้กิน ร้อยละ 15.6
- ทำให้ทารกไม่มีอาการตัวเหลือง ร้อยละ 10.7
- ช่วยระบบขับถ่าย ร้อยละ 10.1
- ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ร้อยละ 5.9
- คิดว่าทารกอาจหิวน้ำ คอแห้ง ร้อยละ 4.1
- ทารกกินนมผสม ร้อยละ 3.7
- ป้องกันอาการลิ้นเป็นฝ้า ร้อยละ 2.7
- ให้กินน้ำเมื่อมีอาการสะอึก ร้อยละ 2.7
- ได้รับคำแนะนำจากหมอ พยาบาล ร้อยละ 2.1
- คิดว่าการกินน้ำบำรุงสายตา ร้อยละ 2
- มีคนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวแนะนำ ร้อยละ 2
- ทารกกินยา ร้อยละ 1.9
- เด็กเริ่มกินอาหารแล้วจึงต้องดื่มน้ำ ร้อยละ 1.6
- อื่นๆ ร้อยละ 4.3
อันตราย!! หากให้ ทารก 6 เดือน กินน้ำ
เหตุใดในปัจจุบันถึงมีการรณรงค์ไม่ให้ป้อนน้ำแก่ทารกก่อน 6 เดือน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เด็กควรได้กินนมแม่อย่างเดียวติดต่อกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารอื่น เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่ย่อยง่าย และถูกสร้างมาให้เหมาะสมที่สุดกับสภาพร่างกายของทารก ช่วยป้องกันการติดเชื้อในทารกแรกเกิด ลดอัตราการเสียชีวิต พัฒนาระดับสติปัญญา
การป้อนน้ำให้ทารกอันตราย เพราะทารกมีน้ำหนักน้อยมาก การได้รับน้ำมากเกินไป สามารถทำให้เกลือแร่ในร่างกายเจือจางลง และเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ หรือ Water Intoxication ทำให้ชัก สมองบวม และเสียชีวิตได้
ข้อดีของการให้นมแม่เพียงอย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิด -6 เดือน
หากคุณแม่ยังคงไม่สบายใจกันว่า การให้นมแม่เพียงอย่างเดียวนั้นดีจริงหรือ เราลองมาดูถึงข้อดีของการให้นมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือนกันดูว่ามีข้อดีอะไรบ้าง
- พัฒนาการทางสมอง งานวิจัยเผยว่าทารกที่กินนมแม่มีโอกาสในด้านพัฒนาการทางสมอง และเชาว์ปัญญา ที่ดีกว่าเด็กที่กินนมผสม สารอาหาร และวิตามินจากน้ำนมแม่ช่วยให้สมอง และเซลล์ประสาททำงานได้อย่างเต็มที่สมบูรณ์ สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะได้รับประโยชน์จากนมแม่เพื่อช่วยให้พัฒนาทางสมองเป็นไปอย่างปกติ และช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคจิตเวชได้ในอนาคตด้วย
- ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ดี ด้วยการสร้างแอนติบอดี้ (Antibody) และภูมิคุ้มกันจากแม่ที่ส่งผ่านต่อมาทางน้ำนม มาต่อต้านอาการเจ็บป่วยทั่วไป เช่น ไข้หวัด แบคทีเรีย โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (RSV) เป็นต้น นอกจากนี้นมแม่ยังสามารถช่วยลดการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กได้ รวมไปถึงโรคร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไหลตายในเด็กทารก (SIDS) เป็นต้น
- ช่วยพัฒนาการทางร่างกายให้ลูกเติบโตได้อย่างปกติ ได้รับสารอาหารที่จำเป็น และที่ร่างกายต้องการ ทำให้กระดูก และกล้ามเนื้อแข็งแรง นอกจากนี้การดูดนมแม่จากอกยังช่วยในเรื่องของสุขภาพช่องปากในเด็ก เมื่อฟันบนขึ้นจะเรียงตัวไม่ทับซ้อนกัน และไม่ผุกร่อนอีกด้วย
สารอาหารในน้ำนมแม่
สารอาหารในน้ำนมแม่มีการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาหลังการคลอดเพื่อให้เหมาะสมกับตัวลูกน้อย ผ่านกระบวนการสร้างน้ำนมในร่างกายของแม่ที่เกิดจากการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นโดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 (Colostrum) เป็นระยะ 1-3 วันแรก น้ำนมจะมีสีเหลือง (น้ำนมเหลือง) เนื่องจากมีแคโรทีนสูงกว่านมระยะหลังมาก น้ำนมในระยะนี้อุดมสมบูรณ์มาก มีโปรตีนที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เกลือแร่ วิตามิน สารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของสมอง และการมองเห็นของลูก อีกทั้งยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยขับขี้เทาของลูกได้ด้วย
น้ำนมระยะที่ 2 (Transitional Milk) ในช่วงนี้น้ำนมจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น ซึ่งมีสารอาหารเพิ่มขึ้นทั้งไขมัน และน้ำตาลที่มีเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
ระยะที่ 3 (Mature Milk) เมื่อผ่าน 2 สัปดาห์แรกแล้ว น้ำนมแม่จะมีปริมาณที่มากขึ้น และมีสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของลูก ได้แก่
- โปรตีน ที่มีส่วนช่วยในการยับยั้งจากเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิด เพิ่มภูมิต้านทาน และเอนไซม์ที่สามารถทำลายผนังเซลล์ของแบคทีเรียได้
- ไขมัน ที่เป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ DHA (Docosahexaenoic Acid) และ AA (Arachidonic Acid) ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทและการมองเห็น
- น้ำตาลแลคโตส โดยพบว่าในนมแม่มีโอลิโกแซคคาไรด์หรือคาร์โบไฮเดรตสายสั้น (Human Milk Oligosaccharides หรือ HMOs) มากกว่า 200 ชนิด และมีปริมาณมากกว่าปริมาณที่พบในนมวัวถึง 5 เท่า และยังพบอีกว่า HMOs ในน้ำนมแม่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้
- วิตามินและแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต ได้แก่ A, B1, B2, B6, B12, C, D, E, K และแร่ธาตุซึ่งได้แก่ เหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน เป็นต้น
นอกจากนี้ในน้ำนมแม่ยังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ได้แก่ แอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ที่มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบทางเดินลำไส้ เส้นเลือด ระบบประสาท และระบบฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต
หาคำตอบมาให้แล้วที่นี่!! หากคุณยังคงให้ ทารก 6 เดือน กินน้ำ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
เพื่อล้างปาก (55%) ป้องกันอาการลิ้นเป็นฝ้า (2.7%)
นมแม่มีสารต้านเชื้อราที่จะเกิดในช่องปากทารก และมีปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมต่อร่างกายของเด็ก จึงไม่จำเป็นต้องป้อนน้ำตามเพื่อล้างปาก หากคุณแม่อยากล้างปากให้ลูก แนะนำให้ใช้ผ้าอ้อมสะอาดพันที่นิ้ว ชุบน้ำต้มสุกสะอาด เช็ดเหงือก ช่องปาก กระพุ้งแก้ม ให้ลูกน้อยหลังอาบน้ำก็พอ ก็สามารถแก้ไขอาการลิ้นเป็นฝ้าของลูกได้
คิดว่าการกินน้ำเป็นเรืองปกติ (21.7%)
นมแม่มีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 80% ซึ่งเป็นปริมาณน้ำ และสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของทารกอยู่แล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นที่ทารกจะต้องได้รับน้ำหลังอาหารเหมือนกับผู้ใหญ่ การที่ให้ลูกกินน้ำเข้าไปอีกยังเป็นอันตรายมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้ร่างกายของทารกได้รับน้ำมากเกินไป นอกจากจะทำให้อิ่มเร็วแล้ว ยังส่งผลให้กินนมได้น้อยลง เกลือแร่ในร่างกายเกิดการเจือจาง น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์อีกด้วย
ทำให้ไม่มีอาการตัวเหลือง (10.7%)
จากความเชื่อนี้ของนำคำตอบของทาง เพจ นมแม่แฮปปี้ ที่ได้กล่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า อาการตัวเหลืองเกิดจากเม็ดเลือดแดงที่แตกตัว แต่ละคนเหลืองมากน้อยไม่เท่ากัน ตับของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่จึงขจัดสารเหลืองออกจากร่างกายได้ช้า ซึ่งการป้อนน้ำไม่ช่วยให้หายเหลือง และนมแม่ไม่ทำให้เหลือง ส่วนทารกที่กินนมผงก็ตัวเหลืองได้สำหรับทารกที่กินนมแม่แล้วตัวเหลือง สาเหตุเพราะดูดผิดท่า อมไม่ลึก จึงไม่ได้น้ำนม หรือกินนมไม่บ่อยพอ นอนนานเกินไป หรือมีพังผืดใต้ลิ้น จึงดูดน้ำนมได้น้อย
อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาตัวเหลือง ไม่ควรเสริมน้ำหรือเสริมนมผง แต่ควรให้ลูกกินนมแม่บ่อย ๆ ดูดจริงจัง ไม่ตอด วันละ 8-10 มื้อ เพราะในน้ำนมส่วนหน้า มีแลคโตสช่วยให้ขับถ่ายสารเหลืองออกทางอุจจาระ
เหตุผลอื่น ๆ
มีคำแนะนำ ดังนี้
- เมื่อลูกสะอึก ปากแห้ง เหมือนหิวน้ำ ให้นมแม่แทนให้น้ำ
- ลูกป่วยต้องกินยา ให้ลูกกินยา วิตามินในช่วง 6 เดือนแรกได้ตามจำเป็น
- หากลูกจำเป็นต้องกินนมผง ไม่จำเป็นต้องให้น้ำเพิ่ม
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบกันอย่างที่กล่าวมาถึง สาเหตุที่ไม่ให้ทารกกินน้ำ ก่อน 6 เดือนแล้ว คงต้องช่วยกันสนับสนุน รวมถึงทำความเข้าใจกับคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย หรือผู้เลี้ยงดูลูกเราท่านอื่นที่ยังคงมีความเข้าใจผิด ๆ อยู่ โดยหากพวกท่านได้รับรู้ถึงข้อมูล ข้อเท็จจริงที่หมอได้แนะนำตักเตือนแล้ว เชื่อว่าผู้ใหญ่ทุกท่านต้องเข้าใจอย่างแน่นอน เพราะทุกคนก็หวังดีต่อลูก หลาน เหลน กันอย่างแน่นอน
ข้อมูลอ้างอิงจาก กรมอนามัย /mgronline.com/baby.kapook.com/เพจนมแม่แฮปปี้
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่