จับมั่นๆ ของมือน้อยๆ

Alternative Textaccount_circle
event

สัมผัสเล็กๆ นี่แหละถือเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของเขาด้วย ว่าแล้วมาทำความรู้จักกับการจับของลูกน้อยอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกันสักหน่อย…น่าจะดี

 
การกำมือจับของลูกน้อยในช่วงสัปดาห์แรกๆ เป็นปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ (Reflex) เท่านั้น คือ เมื่อมีอะไรเข้ามาอยู่ในมือปุ๊บ นิ้วน้อยๆ ก็หุบปั๊บอัตโนมัติ

 
2 เดือน

 
การกำมือจับเวลามีของมาเข้ามือทันทีของลูกน้อยที่เป็นเพราะปฏิกิริยารีเฟล็กซ์จะค่อยๆ น้อยลง เขาจะเริ่มพยายามจับสิ่งที่สะดุดสายตามากกว่า แรกๆ ลูกมักจับของที่จับได้ง่ายก่อน อย่าง เส้นผม หรือเสื้อผ้า และอาจจะแถมด้วยการดึงมาสำรวจใกล้ๆ ด้วยปากของเขา และมักจับอยู่ครู่เดียวแล้วก็ปล่อยไป เพราะกล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรงนั่นเอง คุณหมอคริสติน ฮันนิบัล ผู้อำนวยการศูนย์ดูแลเด็กเล็ก โรงพยาบาลเด็กพิทท์สเบิร์ก อธิบายเสริมว่า “ทารกจะพัฒนาการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นเมื่อวันเวลาผ่านไป” และในแต่ละช่วงก็จะมีพัฒนาการให้เห็นด้วย

 
4 เดือน

 
ลูกน้อยจะชอบจับหรือถือของประเภทเป็นสายยาวๆ หรือแม้แต่ของที่จับยากๆ เพราะมีขนาดใหญ่หรือมีเหลี่ยมมุมกว้างเกินกว่านิ้วเล็กๆ ของลูกจะจับได้ อย่างของเล่นพลาสติก

 
6 เดือน

 
เข้าสู่ช่วงนี้ คุณจะเห็นลูกเอื้อมมือไปจับสิ่งของที่เขาเคยลองแล้วแต่หยิบไม่ถึง รวมทั้งยังเปลี่ยนของจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้ด้วย

 
9 เดือน

 
มาถึงตอนนี้ เด็กส่วนมากจะหยิบสิ่งของชิ้นเล็กๆ ได้ มีชื่อเรียกการจับให้เห็นภาพว่า “จับแบบก้ามปู” คือใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งในการจับนั่นเอง

 
หากคุณอยากช่วยเสริมพัฒนาการด้านนี้ให้ลูกก็เป็นเรื่องแสนง่าย แค่หาของนุ่มมือ น้ำหนักเบา มีผิวสัมผัสที่แตกต่างกันไป และมีเหลี่ยมมุมน่าสนใจให้จับ จะเป็นของเล่น หรือของใช้ใกล้ตัวลูกน้อยไม่เกี่ยงอยู่แล้ว แค่ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่เร่งเขา และช่วยเหลือกันบ้างลูกก็ยิ่งชอบใจจ้า…

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up