เบบี๋ไม่อยากให้อุ้ม (แล้วนะแม่)

Alternative Textaccount_circle
event

พอรู้จักทำอะไรๆ เองได้มากขึ้น ลูกก็จะไม่ใช่ทารกที่อยากให้คุณอุ้มตลอดเวลาแล้ว แต่เขาจะเป็นเด็กที่ไม่ชอบอยู่นิ่งๆ และจะยอมให้คุณอุ้มก็ต่อเมื่อเขาต้องการ

 

เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
ลูกวัยนี้พยายามใช้ร่างกายทำอะไรๆ เองมากขึ้นด้วย และคุณจะรู้สึกได้ว่า บางครั้งลูกจะหงุดหงิดที่คุณช่วยทำให้ แต่แน่นอนว่า ลูกน้อยก็ยังต้องการให้คุณใส่ใจอยู่ดี ดังนั้นคุณไม่ควรรีบตอบสนองทุกครั้งที่เขาร้องหา เพราะนี่คือโอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้ว่าคุณเองก็มีสิ่งที่ต้องทำเช่นกัน และเขาก็ต้องรู้จักอดทนรอ ความอดทนจึงไม่ใช่บทเรียนชีวิตที่ได้มาง่ายๆเลย

 

 
เป็นตัวของตัวเองอย่างปลอดภัย
หน้าที่ของลูกคือการสำรวจและค้นพบสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจนำมาการเจ็บตัว ความคงเส้นคงวาในการกำหนดขีดจำกัดจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ เพราะขีดจำกัดจะทำให้ลูกปลอดภัย ขณะเดียวกันก็สอนให้ลูกรู้ว่าโลกภายนอกมีภัยที่เขาต้องรู้จักหลีกเลี่ยง ทั้งยังสอนให้เขารู้จักมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นโดยคำนึงถึงคนอื่นด้วย พูดง่ายๆ ก็คือจะให้คนอื่นทำตามที่เขาต้องการทุกครั้งไม่ได้
คุณควรพยายามชักนำให้ลูกสำรวจสิ่งที่ปลอดภัยกว่าและพอจะรับได้ ไม่ใช่ห้ามเขาสำรวจ หรือหาตัวเลือกในการสำรวจให้สัก 2-3 ตัวเลือก เขาจะได้รู้สึกว่าควบคุมการกระทำของตัวเองได้มากขึ้น

 

หมอนนิ่ม & ตุ๊กตาเน่า
เด็กหลายๆ คนจะ “ติด” สิ่งที่ช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สบายใจได้ด้วยดี ซึ่งเรียกว่า “ของรักของหวง” อาจจะเป็นผ้าห่ม ตุ๊กตาผ้า หรืออะไรก็ตามที่มีความหมายพิเศษและทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชีวิต เช่น มีพี่เลี้ยงคนใหม่ ย้ายห้อง เดินทางไกล เจ็บตัว ฯลฯ ของรักของหวงจะทำให้เด็กๆ นึกถึงความมั่นคงปลอดภัยของบ้านและความรักของพ่อแม่ จึงรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดี
ดังนั้นคุณไม่ควรจะแยกลูกจากของรักของหวงในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงวัยที่เขากลัวคนแปลกหน้าและกลัวการแยกจากพ่อแม่มากที่สุด แต่ถ้าของรักของหวงคือผ้าห่ม พ่อแม่บางคนก็ไม่อยากให้ลูกลากไปนู่นมานี่ด้วยทั้งวัน ขอแนะนำวิธีรับมือด้วยการกำหนดเวลาใช้ เช่น ให้ใช้เฉพาะตอนถึงเวลานอน ตอนที่ต้องแยกจากพ่อแม่ ตอนเสียใจและหลังหกล้มเท่านั้น โดยเก็บผ้าห่มไว้ในจุดที่ลูกหยิบมาใช้ตามเงื่อนไขของพ่อแม่ได้ทุกเมื่อ พ่อแม่บางคนเลือกที่จะรับมือด้วยการเย็บผ้าห่มผืนเล็กๆ ให้ลูกพกติดตัวแทนผืนจริง และบางคนก็ไม่มีปัญหากับการติดผ้าห่มของลูก
สำคัญคือไม่ว่าจะเลือกรับมืออย่างไร คุณต้องคงเส้นคงวากับวิธีที่เลือกใช้ด้วยเช่นกัน

 

 

นอนกลางวันแค่รอบเดียว
ตอนอายุประมาณ 12 เดือน (หรือในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า) ลูกจะเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการนอนกลางวัน คือจะนอนกลางวันแค่รอบเดียวโดยอาจจะนอนกลางวันในช่วงเช้าช้าลง และไม่ยอมนอนในช่วงบ่าย หรืออาจจะนอนกลางวันในช่วงเช้าตามเวลาเดิม แต่นอนได้นานขึ้น
ทารกบางคนปรับตัวเข้ากับรูปแบบใหม่นี้ได้ในวันเดียวเท่านั้น แต่บางคนก็ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ ฉะนั้นถ้าลูกปรับตัวช้าหน่อย คุณก็ต้องพยายามหาวิธีที่จะทำให้เขาไม่นอนกลางวันในช่วงเช้าเพื่อให้เขานอนกลางวันในช่วงบ่ายได้นานขึ้น ซึ่งถึงจะทำให้เขางอแงในช่วงสายเพราะความเพลีย แต่ในไม่ช้าคุณก็อาจจะได้พักในช่วงบ่ายถึงวันละ 2 ชั่วโมง

 
Baby sleep quiz
แค่ตอบว่าประโยคดังต่อไปนี้ถูกหรือผิด..ก่อนดูเฉลยนะ ก็บอกได้แล้วว่าคุณรู้เรื่องการนอนของลูกดีแค่ไหน
1. ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่นอนหลับวันละ 18-20 ชั่วโมง
2. ทารกส่วนใหญ่เริ่มนอนเป็นเวลาตอนอายุราว 2 เดือน
3. ถ้าลูกวัย 6 เดือนยังไม่นอนยาวถึงเช้า (หรือยังไม่นอนยาว 5 ชั่วโมงรวดเป็นอย่างต่ำ) แปลว่าจะต้องมีอะไรบางอย่างผิดปกติ
4. ถึงจะเป็นตอนกลางดึก แต่ถ้าลูกหลับเกิน 5 ชั่วโมงแล้ว คุณควรจะปลุกมากินนม
5. ไม่ควรทิ้งขวดนมไว้ในเตียงคอกเพื่อให้ลูกหยิบมาดูดตอนกลางดึก
6. ควรสวมชุดหมีให้ลูกวัยแรกเกิดหรือทารก เขาจะได้นอนหลับสบาย
7. ถ้าต้องการ คุณจะทิ้งผ้าห่มหรือตุ๊กตาผ้าไว้ในเตียงคอกของลูกวัยทารกก็ได้
8. ทารกแรกเกิดมักจะสับสนระหว่างกลางวันกับกลางคืน เพราะการนอนกลางวัน-กลางคืนจะเริ่มพัฒนาตอนอายุราว 6 เดือน
9. ถ้าอยากให้ลูกวัยทารกนอนหลับ ต้องพยายามทำให้เขารู้สึกสบายตัว
10. ลูกวัย 6 เดือนควรนอนหลับวันละประมาณ 10 ชั่วโมง

 

 
เฉลย
1. ถูก
2. ผิด (6 เดือน)
3. ผิด (ทารกบางคนนอนยาวถึงเช้าตั้งแต่อายุแค่ 4 เดือน แต่บางคนก็เพิ่งจะเริ่มนอนยาวถึงเช้าตอนอายุ 12 เดือน)
4. ผิด (หากไม่มีความจำเป็นในเรื่องของสารอาหาร คุณก็ไม่ควรจะปลุกลูกมากินนมตอนกลางดึก)
5. ถูก
6. ถูก
7. ผิด (ไม่ควรทิ้งสิ่งที่อาจจะอุดกั้นทางเดินหายใจของลูกไว้ในเตียงคอก)
8. ผิด (จังหวะการนอนมักจะเริ่มพัฒนาตอนทารกอายุราว 3 เดือน)
9. ผิด (ถ้าอยากให้ลูกวัยทารกนอนหลับสบาย กิจวัตรช่วงก่อนนอนที่ทำเป็นประจำทุกคืนก็ช่วยได้)
10. ผิด (วันละประมาณ 12-14 ชั่วโมง)

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up