อาการไม่สบายท้อง

อาการไม่สบายท้อง ปัญหาสุขภาพเล็กๆ ที่กระทบต่อพัฒนาการลูกน้อย

Alternative Textaccount_circle
event
อาการไม่สบายท้อง
อาการไม่สบายท้อง

อาการไม่สบายท้อง เป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับลูกตั้งแต่วัยทารก ไม่ว่าจะเป็นการร้องโคลิคที่ร้องนานซ้ำเวลาเดิมทุกวัน รวมถึงการแหวะนมออกมาหลังกินอิ่ม และอาการท้องผูกก็เป็นปัญหาที่ทำให้ลูกไม่สบายท้องด้วยเช่นกัน มาดูกันค่ะว่า สาเหตุของอาการไม่สบายท้องนั้นเกิดจากอะไร?

 

อาการไม่สบายท้อง (ร้องโคลิค / แหวะนม / ท้องผูก) เป็นเพราะอะไร?

รู้หรือไม่ว่าร้องโคลิค แหวะนม และท้องผูก ที่พบว่าเกิดขึ้นได้บ่อยกับทารกและเด็กเล็กนั้นเป็นกลุ่ม อาการไม่สบายท้อง ที่เกิดจากระบบทางเดินอาหารของลูกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ และเมื่อระบบการย่อยและการดูดซึมอาหารยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เมื่อลูกได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะช่วงแรกเกิดที่เด็กควรได้ทานนมแม่ แต่หากไม่ใช่นมแม่ ก็อาจจะทำให้ ลูกมีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร จนส่งผลให้ลูกรู้สึกไม่สบายท้องขึ้นมานั่นเองค่ะ

Good to know…ความไม่สบายท้องเป็นปัญหาที่ได้มีการวิจัยว่ามีโอกาสเกิดขึ้นกับเด็กตั้งแต่วัยทารกและเด็กเล็กโดยทั่วไปได้ถึง 30%[1]

ลูกร้องโคลิค ไม่มีสาเหตุ เป็นเพราะอะไร?

คุณพ่อคุณแม่ที่เพิ่งได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ตัวน้อยมาได้ยังไม่ถึงเดือน จู่ๆ ลูกก็ร้องไห้กวนนานเป็นชั่วโมงๆ ในช่วงเวลาเดิมของทุกวัน ปลอบยังไงก็ไม่ยอมหยุดร้องจนกระทั่งลูกหยุดร้องไปเอง และเมื่อคลำเนื้อตัวลูกก็ไม่มีไข้ดูแข็งแรงสบายดี สงสัยแบบนี้จะใช้อาการร้องโคลิคแล้วละค่ะ

การร้องไห้ปกติถือเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งของเด็ก แต่การร้องกวนงอแงเป็นพักๆ ในช่วงอายุ 5 เดือนแรก อาจเป็นการร้องโคลิค ที่สาเหตุส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากระบบทางเดินอาหาร เช่น

  • มีแก๊สในกระเพาะและลำไส้มาก
  • ย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้ไม่หมด
  • ระบบประสาทอัตโนมัติทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ผิดปกติ
  • จุลินทรีย์ในลำไส้มีความหลากหลายน้อย
  • หรือแม้แต่การแพ้นมวัวในเด็กก็เป็นสาเหตุของการร้องโคลิค[2]

ลูกท้องผูก เป็นเพราะอะไร?

อาการท้องผูกเกิดขึ้นได้กับทั้งเด็กทารก และในเด็กเล็ก ซึ่งสาเหตุมาจากระบบทางเดินอาหารของเด็กยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสมกับสภาพลำไส้หรือมาจากการเปลี่ยนแปลงสูตรนมในเด็ก เป็นต้น

อาการแสดงที่บอกว่าลูกท้องผูก คุณแม่สามารถสังเกตได้ดังนี้

  • ลูกถ่ายน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์
  • อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อน แห้ง แข็งเป็นเม็ดกระสุน
  • ขณะถ่ายอุจจาระลูกต้องออกแรงเบ่งมากกว่าปกติ
  • ลูกแสดงสีหน้าว่าเจ็บปวดทุกครั้งขณะขับถ่ายอุจจาระ[3]

ลูกแหวะนม เป็นเพราะอะไร?

ทุกครั้งหลังมื้อนมแล้วลูกมีอาการแหวะนมออกมา การที่ลูกแหวะนมหรือสำรอกนมออกมา นั่นเป็นเพราะกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ หูรูดที่ปิดยังไม่สนิท เป็นผลให้เมื่อลูกทานนมเข้าไปแล้วจึงแหวะเอานมออกมาเล็กน้อยทุกครั้งหลังมื้อนมนั่นเองค่ะ

การเรอกับการแหวะนมไม่เหมือนกันนะคะ คุณแม่อย่าเพิ่งสับสน ถ้าจะสังเกตให้ง่ายๆ ว่านี่ใช่อาการที่ลูกกำลังแหวะนมออกมาหรือไม่ สามารถสังเกตได้ดังนี้

– หลังดูดนม ลูกมักมีอาการแหวะนมออกมาเล็กน้อย

– ไม่มีเหมือนพยายามขย้อน หรือจะอาเจียน

– มีอาการแหวะนมมากกว่า หรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อวัน[4]

อาการไม่สบายท้องส่งผลต่อพัฒนาการของลูกอย่างไร?

คุณพ่อคุณแม่อาจจะมองว่าก็แค่ลูกแหวะนม ร้องกวนโคลิค ท้องผูก พอลูกโตขึ้นเดี๋ยวก็หายไปเองแหละ ใช่อยู่ว่ากลุ่มอาการไม่สบายท้องที่เกิดขึ้นนี้ สามารถหายไปได้เองเมื่อลูกอายุมากขึ้น แต่จะดีกว่ามากหากสามารถช่วยแก้ปัญหาไม่สบายท้องให้ลูกได้ตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต เพราะอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของลูกได้ โดยเฉพาะพัฒนาการการเจริญเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการการเรียนรู้

กลุ่มอาการไม่สบายท้อง อย่างที่ทราบกันว่าส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากระบบทางเดินอาหารที่ยังไม่สมบูรณ์ เมื่อลูกได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่แรกเกิด ก็ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อร่างกายไม่รับสารอาหารอย่างเพียงพอครบถ้วน แน่นอนว่าย่อมกระทบต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย พัฒนาการ และการใช้สมองในการเรียนรู้ จดจำ

ดังนั้นเพื่อให้พัฒนาทุกด้านของลูกไม่สะดุดจากปัญหาไม่สบายท้อง แนะนำว่าคุณแม่ควรให้ลูกได้ทานนมแม่ตั้งแต่แรกคลอด น้ำนมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก ที่สำคัญนมแม่ย่อยง่าย จึงทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้งานได้หมด นมแม่เป็นนมที่เหมาะกับระบบทางเดินอาหารของลูกอย่างมาก และมีสารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายของลูกต้องการด้วยค่ะ

แล้วถามว่าถ้าแม่มีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ละต้องทำไงดี หากคุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้เนื่องจากไม่สบายมีปัญหาสุขภาพ แนะนำว่าควรปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับนมสูตรย่อยง่าย ซึ่งเป็นนมสูตรพิเศษที่ช่วยลดปัญหาไม่สบายท้องให้กับลูกวัยทารกและเด็กเล็กได้ค่ะ

 


อ้างอิงข้อมูลจาก
1Y. Vandenplas et al., JPGN 2015
2สุพร ตรีพงษ์กรุณา, ภาวะทางเดินอาหารทำหน้าที่ผิดปกติไร้โรคทางกายในเด็ก, 2558
3ตำราแนวทางเวชปฏิบัติโรคทางเดินอาหารในเด็กที่พบบ่อย ชมรมโรคทางเดินอาหารและโรคตับในเด็ก
4นายแพทย์มิชิโอะ มัตสุตะ เขียน, พรอนงค์ นิยมค้า แปล, สารานุกรมการเลี้ยงดูเด็ก เล่ม 1 เรื่องแหวะนม หน้า 85-86

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up