สังเกตไหมว่าทำไมอยู่ ๆ ลูกถึงมีผื่นขึ้นตามตัว ทั้งคันและแดง ลูกเกาทั้งคืนจนเป็นแผล สักพักผื่นก็เป็นขุย ๆ เหมือนผิวแห้ง นี่คือสัญญาณของโรค “ภูมิแพ้ผิวหนัง”
“ภูมิแพ้ผิวหนัง” โรคที่พบบ่อยในเด็ก เป็นแล้วรักษาไม่หาย
ภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis / eczema) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในไทยมากถึง 10-20% เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบได้บ่อยในเด็ก ตั้งแต่วัย 2 เดือนขึ้นไป โดย พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้อธิบายถึงวิธีสังเกตว่าลูกเป็น ภูมิแพ้ผิวหนัง หรือไม่ ดังนี้
วิธีสังเกตุลูกเป็น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือไม่?
โรคภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีอาการผิวแห้งและคัน มีผื่นผิวหนังอักเสบในแต่ละบริเวณของร่างกาย ในแต่ละช่วงอายุ ดังนี้
- ช่วงอายุ 2 เดือน-2 ปี มีผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณแก้ม หน้าผาก บริเวณที่มีการเสียดสีในช่วงที่เด็กยังคว่ำหรือคลาน
- อายุ 4-10 ปี รอยผิวหนังอักเสบเลื่อนไปสู่ตำแหน่งของข้อพับ บริเวณแขนและขา ข้อพับเข่า ข้อพับข้อศอก ข้อมือหรือข้อเท้า
- ช่วงอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะมีอาการผิวแห้ง คัน และแพ้ง่าย บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าแตกระแหง จนมีเลือดออกซิบ ๆ และจะแพ้สารต่าง ๆ ได้ง่าย
อาการเริ่มแรกของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ประมาณร้อยละ 50 จะพบในเด็กช่วงขวบปีแรก และประมาณร้อยละ 85 จะพบในเด็กช่วง 5 ขวบปีแรก อาการโรคมักเป็นเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ส่วนใหญ่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น เมื่อผู้ป่วยอายุเพิ่มขึ้น พบว่าประมาณร้อยละ 40-50 ของผู้ป่วย อาการจะดีขึ้นเมื่ออายุ 10 ปี เด็กบางคนอาจยังคงมีอาการเรื้อรังต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนอาจเริ่มมีผื่นภูมิแพ้ในช่วงวัยผู้ใหญ่
โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรง อาการจะมีเพียงผื่นขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายเท่านั้น แต่สิ่งที่ร้ายแรงของโรคนี้ กลับเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้หายขาด อาการโรคจะเป็นเรื้อรัง ในขณะที่เกิดผื่น จะมีอาการคันมาก ยิ่งเกาผื่นก็จะยิ่งลามเป็นวงกว้างไปเรื่อย ๆ และเมื่อคันมาก ๆ ก็จะเกาจนเป็นแผล และเมื่อหยุดเกา อาการผื่นก็จะดีขึ้นหรือหายไป และเมื่อไปเจอสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดผื่น ผื่นก็จะปรากฏขึ้นมาอีก และจะรู้สึกคันจนต้องเกาอีก ผู้ป่วยจะมีอาการอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ทำให้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ และถึงแม้ว่าอาการจะดีขึ้นเมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไป แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอาการดีขึ้น หากโรคนี้ไม่ได้รับการรักษาและการดูแลที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดอาการหนักและเรื้อรังนานขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้
ทางการแพทย์ได้แบ่งลักษณะอาการของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังไว้ 3 แบบ ดังนี้
- ผื่นระยะเฉียบพลัน คือ มีผื่นบวมแดงมากและคัน มี ตุ่มแดง ตุ่มน้ำ บางรายอาจมีน้ำเหลืองไหลซึมออกมา
- ระยะกึ่งเฉียบพลัน คือ ผื่นและตุ่มแดง คัน มีขุย อาจมีตุ่มน้ำบ้าง แต่ไม่พบน้ำเหลืองไหลซึมบนผื่น
- ระยะเรื้อรัง คือ ผื่นจะมีสีไม่แดงมากหรือออกสีน้ำตาล อาจนูนหนา คัน มีขุย และเห็นร่องผิวหนังชัดเจน
สำหรับในรายที่เป็นมาก ๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะภูมิแพ้ทางจมูก ตา หรือ หอบหืดร่วมด้วย หรือบางรายอาจพบรอยโรคผิวหนังอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กลากน้ำนม ขอบตาคล้ำและมีรอยย่นใต้ตา ริมฝีปากแห้งเป็นขุย เส้นลายมือชัดลึก ขนคุด ผิวสากเหมือนหนังไก่ ผิวบริเวณหน้าแข้งแตกแห้งเป็นแผ่น เป็นต้น
สาเหตุของโรค ภูมิแพ้ผิวหนัง
สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าพันธุกรรมอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น แพ้อากาศ ไอ จามบ่อย ๆ หอบหืด หรือมีโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ร่วมด้วย อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวก็อาจเป็นโรคนี้ได้ เนื่องจากความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจซ่อนเร้นอยู่โดยไม่เกิดอาการ นอกจากนี้ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญคือสิ่งแวดล้อม ได้แก่
อะไรบ้างที่ทำให้ผื่นนี้กำเริบมากขึ้น ?
- สภาวะแวดล้อม เช่น สภาวะที่มีละอองเกสร ขนสัตว์ ไรฝุ่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผื่นมีอาการคันมากขึ้น
- เชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา อาจแทรกซ้อนทำให้เกิดการติดเชื้อบนผิวหนังของผู้ป่วย ผิวหนังที่อักเสบอยู่เดิมจะกำเริบมากขึ้น กรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย
- ฤดูกาล ผื่นผิวหนังอักเสบมักมีอาการมากขึ้น ในช่วงฤดูหนาว เพราะความชื้นในอากาศต่ำ อากาศแห้ง เย็น ทำให้ผิวหนังผู้ป่วยคันและเป็นผื่น ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน เพราะอากาศที่ร้อนทำให้เหงื่อออกมาก เกิดอาการคันและเกิดผื่นเช่นเดียวกับในฤดูหนาว
- เสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม และเครื่องประดับที่มีขน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์ จะทำให้เกิดการคันเพิ่มเติม
- สบู่ ครีม โลชั่น และผงซักฟอกที่ใช้เป็นประจำ สารเคมีเหล่านี้มีฤทธิ์ละลายไขมัน หรือ/และอาจมีส่วนประกอบที่ก่ออาการระคายเคืองแก่ผิวหนังทำให้เกิดอาการคันและเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้ง่าย
- อาหาร ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณ 10% พบว่าอาหารบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นแย่ลง มักพบในผู้ป่วยเด็ก เช่น นม ไข่ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์บางประเภท
- จิตใจที่วิตกกังวลความเครียดก็สามารถทำให้โรคกำเริบได้
วิธีการดูแลและรักษา
เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นเป้าหมายของการรักษาโรคผื่น ภูมิแพ้ผิวหนัง คือ พยายามควบคุมอาการของโรค ป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ และให้อยู่ในช่วงสงบนานที่สุดเท่าที่จะทำได้จนกว่าโรคจะหายไป โดยปฏิบัติตามหลักการ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้หรือสัมผัสกับสารระคายเคือง
- สบู่ควรใช้สบู่อ่อนๆ ไม่ควรใช้สบู่บ่อยเกินไป
- ผงซักฟอกเลือกชนิดที่ระคายเคืองน้อยควรซักล้างออกให้หมด
- เสื้อผ้าเลือกใช้เสื้อผ้านุ่มโปร่งสบาย เช่น ผ้าแพร ผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงผ้าขนสัตว์
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมาก ๆ
- ลดความเครียด ความวิตกกังวล
- แนะนำไม่ให้ผู้ป่วยเกา เนื่องจากการเกาจะทำให้ผื่นผิวหนังที่อักเสบกำเริบเห่อมากขึ้น อาจรับประทานยาต้านฮีสตามีนเพื่อช่วยลดอาการคัน
- ป้องกันและรักษาผิวแห้งโดยการทามอยซ์เจอไรเซอร์ หรือโลชั่น ควรทาหลังอาบน้ำทันที ถ้าผิวหนังยังแห้งมากควรทาเพิ่ม สามารถทาได้วันละหลายครั้ง
- ยาทากลุ่มสเตียรอยด์มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง ควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะโรคกลุ่มนี้ต้องใช้ยาเป็นเวลานาน อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง ปัจจุบันมียาทากลุ่มใหม่ ได้แก่ tacrolimus และ pimecrolimus ซึ่งควบคุมอาการของโรคได้ดีพอควรแต่มีราคาแพง การใช้ยากลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์
- กรณีที่มีตุ่มหนองเกิดแทรกซ้อนบนตุ่มหรือผื่นแดง แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์เพราะผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ แบคทีเรีย
- การรักษาอื่น ๆ เช่น การฉายแสงอาทิตย์เทียม การรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ใช้ในรายที่เป็นรุนแรงมากและเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถรักษาได้ผลด้วยวิธีต่าง ๆข้างต้นได้แล้ว ควรปรึกษาแพทย์
ผื่นในเด็กเล็ก เป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่เล็ก ดังนั้น เมื่อลูกมีผื่นแดงขึ้น และอาการผื่นไม่ดีขึ้น หรือเป็น ๆ หาย ๆ ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง อย่าซื้อยาใช้เองหรือหยุดยาเองในขณะที่ยังไม่หายดี เพราะหากเป็น ภูมิแพ้ผิวหนัง และไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี อาจทำให้อาการแย่ลงได้
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.hfocus.org, news.thaipbs.or.th, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล, สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่