ทารกสะอึก อาการสะอึกแม้ว่าเป็นเรื่องไม่อันตรายแต่หากเป็นทารกแรกเกิดแล้วพ่อแม่คงอยากช่วยให้ลูกหายไวไว งั้นชวนมาลองวิธีธรรมชาติที่ปลอดภัย แถมได้ผลดีเสียด้วย
วิธีธรรมชาติช่วย ทารกสะอึก ให้หายอย่างได้ผล!!
อาการสะอึก เมื่อเกิดขึ้นกับใครแม้จะไม่ใช่อาการร้ายแรง แต่ก็สร้างความรำคาญใจได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ยิ่งโดยเฉพาะหากเกิดกับเจ้าตัวเล็ก ทารกแรกเกิดด้วยแล้ว ทารกสะอึก เป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กวัยนี้ เนื่องจากการทำงานของร่างกายยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์นัก จึงทำให้พ่อแม่มักพบภาวะลูกสะอึกนี้กันได้บ่อย ๆ แต่เมื่ออายุมากขึ้น อาการเหล่านี้ก็จะน้อยลงจนหายไปเองในที่สุด
ลูก “สะอึก” ได้อย่างไร?
เด็กทารกสะอึก ถือเป็นเรื่องปกติ และมักเป็นหลังกินนมอิ่ม เพราะอาการสะอึกนั้นเกิดจากการหดตัวแบบผิดจังหวะของกล้ามเนื้อกระบังลม ซึ่งกระบังลมนั้นเป็นอวัยวะที่กั้นอยู่ระหว่างปอด กับช่องท้อง โดยมีหน้าที่ช่วยในการหายใจ อาการหดตัวแบบผิดจังหวะของกล้ามเนื้อกระบังลมนี้ยังเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมออีกด้วย จึงทำให้เราเห็นอาการสะอึกเป็นจังหวะที่สม่ำเสมอด้วยเช่นกัน
สำหรับเด็กทารกที่สะอึกหลังกินอิ่มนั้น เนื่องจากกระเพาะอาหารของเด็กทารกอยู่ชิดกับกล้ามเนื้อกระบังลม เมื่อกระเพาะอาหารขยายขนาดจึงไปรบกวนการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อกระบังลมจนทำให้เกิดอาการสะอึก หรือเกิดตอนที่เด็กกลืนนมเร็วเกินไปเพราะหิวจัด ทำให้ได้อากาศเข้าไปในมากเกินก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งได้เช่นกัน ซึ่งพอเด็กเริ่มโตได้ประมาณ 4-5 เดือน อาการสะอึกนี้ก็จะค่อย ๆ ลดและหายไปเอง
ความเชื่อ กับอาการ “สะอึก”
ความเชื่อกับสังคมไทย เป็นของคู่กันมาช้านาน กับคำกล่าวที่ว่า “โบราณว่าไว้” นั้นมักจะเป็นความเชื่อที่บอกต่อ ๆ กันมาจากรุ่นสู่อีกรุ่น กับวิธีการปฎิบัติตัวต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งในชีวิตประจำวัน ความเชื่อกับการทำให้หายสะอึกก็เช่นเดียวกัน วันนี้ลองมาศึกษากันดูเล่น ๆ สักหน่อยว่า โบราณได้ว่าไว้เกี่ยวกับวิธีทำให้หายสะอึกว่าอย่างไรกันบ้าง
ทุบหลังให้ตกใจ!!
เมื่อเห็นคนสะอึก หรือเมื่อเราสะอึกจงเตรียมตัวเตรียมใจไว้ได้เลยว่าจะต้องมีสักคนที่จะต้องแอบมาส่งเสียง หรือทุบหลังเบา ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว เพื่อหวังว่าจะให้ตกใจ แล้วหยุดสะอึกไปเอง หากใครลองแล้วได้ผลอย่างไรอย่าลืมแชร์ประสบการณ์กัน
ไม่ควรทำกับทารก : เส้นเอ็นในกระดูกซี่โครงของทารก ยังมีความบอบบางอยู่ ฉะนั้นการทำอะไรแรง ๆ ในบริเวณนั้น ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงได้ ฉะนั้น อย่าใช้วิธีนี้กับลูกน้อยจะดีกว่านะ และอย่าพยายามแหย่ลูกน้อยให้สะดุ้ง เพื่อจะได้หายสะอึกเด็ดขาด เพราะเสียงตบถุงกระดาษดังๆ อาจทำให้แก้วหูที่บอบบางของทารกเกิดความเสียหายได้ และอาการตกใจนั้น อาจเลยเถิดจนกลายเป็นอาการร้องไห้ไม่หยุดได้เช่นกัน
กินน้ำ 9 คำ!!
เมื่อใดที่สะอึก เคยหรือไม่ที่พ่อแม่ของเราจะยกน้ำมาดื่ม โดยกำชับว่าให้ดื่มเป็นคำ ๆ ทั้งหมด 9 คำ จะช่วยให้หายจากอาการสะอึกได้ ต้องขอ บอกว่าตอนเด็ก ๆ ก็เคยได้ลองประสบการณ์ในหัวข้อนี้เหมือนกัน เรียกได้ว่า อิ่มน้ำกันไปเลยทีเดียว
ปรับเปลี่ยนสำหรับทารก : ถ้าอาการสะอึกทำให้ลูกน้อยรู้สึกอึดอัด คุณก็อาจต้องลองป้อนน้ำให้ลูกน้อย โดยอาจผสมกับสมุนไพร ที่เชื่อว่าช่วยเยียวยาอาการโคลิค หรืออาการไม่สบายบริเวณลำไส้ได้ อาจเลือกสมุนไพรได้อย่างหลากหลาย ซึ่งก็รวมถึงขิง เม็ดยี่หร่า คาโมไมล์ และซินนาม่อน ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการจิบน้ำจะช่วยแก้อาการสะอึกในเด็กทารกได้ แต่วิธีนี้ก็ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าคุณจะให้ลูกน้อยกินอะไรใหม่ ๆ ก็ควรปรึกษาคุณหมอก่อน
กลั้นหายใจ!!
วิธียอดฮิตที่มักจะถูกเรียกให้ลองทำตามเพื่อหวังจะให้อาการสะอึกหายไป เนื่องจากว่าเป็นวิธีที่ง่าย ไม่มีอุปกรณ์ให้ยุ่งยากใด ๆ แต่จะได้ผลหรือไม่นั้นคงต้องลองดูกันเอาเอง
ยังมีอีกหลากหลายวิธี สำหรับความเชื่อกับอาการสะอึก แตกต่างกันไปตามแต่วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น แต่หากจะถามถึงผลลัพธ์แล้ว คงตอบไม่ได้ว่าจะได้ผลหรือไม่อย่างไร แต่ด้วยความเชื่อส่วนตัวเรื่องหนึ่งว่า ไม่ว่าจะทำวิธีใด ก็ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง และนี่อาจเป็นเหตุผลว่า สุดท้ายแล้วเมื่อเรารอ ปล่อยให้อาการสะอึกไปสักระยะ ร่างกายสามารถปรับตัวได้ก็จะหยุดอาการสะอึกไปได้เองเสียมากกว่าหายเพราะวิธีการใด วิธีการหนึ่ง จึงไม่ขอแนะนำวิธีการที่ไม่สามารถหาเหตุผล และข้อพิสูจน์ รวมถึงความปลอดภัยในการนำมาใช้แก้อาการสะอึกเหล่านี้ได้
หากเป็นเช่นนี้แล้ว ก็คงเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า อาการสะอึกหากเกิดขึ้นกับตัวผู้ใหญ่เองก็คงไม่เป็นปัญหา แต่หากเกิดกับเด็ก หรือเด็กทารก นอกจากจะนั่งรอดูให้อาการหายเองแล้ว เราจะยังมีวิธีการใด ๆ ที่พอจะช่วยบรรเทาให้เด็ก ๆ ไม่ต้องเป็นนานเกินไป หรือสามารถทำให้ไม่เกิดเลย หรือเกิดน้อยที่สุดได้ไหม?
วิธีธรรมชาติ…ช่วยบรรเทาอาการทารกสะอึก
แม้ว่าอาการสะอึกไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ก็สามารถขัดขวางการให้อาหาร การย่อยอาหาร และกิจวัตรประจำวันของทารกได้ หากคุณพ่อคุณแม่กำลังกังวล และมองหาวิธีธรรมชาติในการบรรเทาอาการสะอึกของลูกน้อยอยู่นั้น ทาง ทีมแม่ ABK จะขอหยิบยกวิธีการบรรเทาการสะอึกแบบธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งยาใด ๆ มาให้ลองทำกันดู ว่าจะได้ผลดีกว่าวิธีทางความเชื่อที่เราบอกต่อ ๆ กันมาหรือไม่
ให้อาหารทารกในปริมาณที่น้อยลง
เมื่อลูกวัยทารกกำลังหิวหากได้รับนมมากเกินไป และเร็วเกินไปจากการที่เด็กดูดอย่างรวดเร็วเพราะความหิว นั่นอาจทำให้เขาเกิดอาการท้องอืดซึ่งอาจทำให้เกิดอาการสะอึกได้ แทนที่จะให้อาหารมื้อใหญ่เพียงครั้งเดียว ลองให้นมลูกเพียงครึ่งเดียว แต่ให้บ่อย ๆ เป็นสองเท่า ด้วยวิธีนี้ลูกน้อยของคุณก็จะสามารถย่อยนมได้ หลีกเลี่ยงที่จะทำให้ท้องอิ่มเกินไป และบรรเทาการเกิดลมในท้องที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสะอึก
อย่าป้อนนมขณะลูกร้องไห้งอแง
หากลูกน้อยของคุณมีอาการงอแง ร้องไห้มากเกินไป การอ้าปากนาน ๆ ทำให้มีลมเข้าไปในท้องจำนวนมาก เมื่อลูกร้องไห้เป็นเวลานาน อาจทำให้ลมเข้าไปในช่องทางมาเกินจนท้องอืดได้ แทนที่จะปลอบลูกด้วยการให้นมเพื่อหยุดการร้องไห้ พ่อแม่ควรจะปลอบให้ลูกสงบลงเสียก่อน ไม่ควรยัดเยียดขวดนมเข้าปากลูกขณะร้องไห้ เนื่องจากจะทำให้เขาดูดเอานมเข้าไปในท้องพร้อมกับลม เมื่อท้องอืด อาการสะอึกก็จะตามมา
จัดวางท่าของลูกขณะป้อนนมใหม่
แม่บางท่านมักจะให้ลูกนอนราบลงบนแขน ข้อศอกขณะป้อนนม ซึ่งท่าทางดังกล่าวเป็นอุปสรรคขัดขวางการไหลผ่านของลมในท้อง หากลองเปลี่ยนวิธีอุ้มลูกขณะให้นม ให้ทารกนั่งกึ่งนอนทำมุม 30-45 องศา ให้ตัวตรงหัวชันขึ้นมาอีกนิด ตำแหน่งนี้จะช่วยให้ลมผ่านขึ้นไปมาได้ตามธรรมชาติ ช่วยลดอาการท้องอืดได้ ท่าดังกล่าวก็จะเหมือนกับทารกที่ได้รับการป้อนนมด้วยนมแม่จากเต้านั่นเอง
เรอลูกระหว่างให้นม
วิธีง่ายๆ ในการชะลอการกินนมของทารกที่มากเกินไป คือ การจับเรอระหว่างให้นม หากคุณกำลังให้นมลูกด้วยนมแม่ ให้จับลูกเรอเมื่อกำลังเปลี่ยนข้างหน้าอก หากป้อนนมลูกด้วยขวดนม ให้เรอเมื่อป้อนนมไปได้ครึ่งขวด โดยการจับเรอนั้นให้จับลูกน้อยนั่งตัวตรง และลูบหรือตบหลังเบา ๆ หรือจับลูกอุ้มพาดบ่าแล้วค่อย ๆ ลูบ ตบเบาๆ ที่หลังเพื่อไล่ลมให้ลูกเรอออกมาให้ได้ ยิ่งอากาศในช่องท้องน้อยเท่าไหร่โอกาสในการสะอึกก็น้อยลงไปด้วยเช่นกัน
สังเกตวิธีการดูดนมของลูกว่าถูกต้องหรือไม่?
หากคุณกำลังให้นมลูก ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเธอดูดนมด้วยวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าลูกกำลังดูดนมแม่ ให้สังเกตว่าเขางับนมแม่ได้อย่างถูกต้อง หากไม่เป็นเช่นนั้น ลูกมีโอกาสที่จะกลืนอากาศเข้าไปด้วย สังเกตดูว่าลูกอมฐานของหัวนมด้านล่างได้มากกว่าฐานนมด้านบน โดยจะเห็นฐานนมด้านบนอยู่เหนือริมฝีปากของลูก ส่วนฐานนมด้านล่างจะถูกอมจนเกือบมิด แต่หากให้ลูกกินนมด้วยขวดนม ต้องสังเกตว่าจุกนมนั้นมีความมาตรฐานเพียงพอไหม เช่น เลือกขวดนมที่เหมาะสมรูไม่ใหญ่เกินไปทำให้ลูกดูดนมเร็วและมากเกิน ไม่ปิดจุกขวดนมแน่นเกินไป เป็นต้น
ถือขวดนมให้ถูกวิธี
หากคุณป้อนนมจากขวดนม ให้เอียงขวดนมเพื่อให้นมเต็มหัวนม ยิ่งมีอากาศสะสมที่ด้านล่างของขวดน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ตรวจสอบให้แน่ใจว่าศีรษะของทารกยกขึ้นเล็กน้อย และทำมุม 45 องศา ลูกจะมองเห็นใบหน้าของคุณได้ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ใช้จุกนมที่ดีเหมาะสมกับขวด ไม่รูใหญ่เกิดนไปจนทำให้ลูกดูดนมเร็ว และมากเกินไป ไม่ปิดจุกขวดนมแน่นเกินไป ทำให้ลูกต้องออกแรงดูดมากจนทำให้อากาศเข้าไปในช่องท้องมากเกิน จนทำให้สะอึกได้
นวดลูกน้อย ช่วยได้!!
หากลูกน้อยของคุณมีอาการสะอึก และไม่บรรเทาลง คุณสามารถวางทารกลงบนพื้น และปล่อยให้ลูกเคลื่อนไหวไปมาบนท้อง บางครั้งการได้ขยับตัวบ้างจะช่วยบรรเทาอาการท้องอืด และอาจหยุดสะอึกได้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถใช้วิธีนวดแผ่นหลังของทารกเบา ๆ ระหว่างนั้นเพื่อช่วยกระตุ้นอีกแรง หรือการนวดท้องไล่ลม นวดกดบริเวณหน้าอกไล่ลงมาบริเวณใต้สะดือ จากนั้นใช้มือทั้งสองข้างช้อนบริเวณสันหลังของลูก แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือนวดวนเป็นวงกลมบริเวณท้องของลูก เพื่อช่วยไล่ลม ก็จะบรรเทาอาการได้
Tips เพิ่มเติม ทำท่าปั่นจักรยานไล่ลม จับลูกนอนหงาย ค่อย ๆ ยกขาทั้งสองข้างขึ้นแล้วค่อย ๆ กดขาแนบกับหน้าท้อง ยืดขึ้นลงเหมือนท่าปั่นจักรยาน จะช่วยไล่ลมให้ลูกได้
ปล่อยให้หยุดเอง
โดยปกติแล้ว อาการสะอึกในเด็กทารกมักจะหยุดได้เอง ถ้าอาการสะอึกไม่ได้รบกวนลูกน้อย ก็ปล่อยให้เขาสะอึกไปเรื่อยๆ แต่ถ้าอาการสะอึกของเขาไม่ยอมหยุดเอง ก็ควรปรึกษาคุณหมอ เพราะมีบางกรณีที่อาการสะอึกอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่มีอาการรุนแรงได้
การที่เด็กทารกแรกเกิดมีอาการสะอึกหลังจากให้นมเสร็จนั้น ไม่ใช่เรื่องที่อันตรายร้ายแรง แต่เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน ซึ่งพอเด็กเริ่มโตได้ประมาณ 4-5 เดือน อาการสะอึกนี้ก็จะค่อยๆ ลดและหายไปเอง ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรกังวลจนเกินกว่าเหตุไปนัก หากสังเกตอาการสะอึกของลูกเป็นเพียงแค่ชั่วคราว สามารถหยุดเองได้ก็ควรปล่อยให้หยุดเอง ควรใช้วิธีตามธรรมชาติในการดูแลมิให้เกิดอาการสะอึกบ่อยมากเกินไปนักจะดีกว่า อย่าไปหยุดอาการสะอึกของลูกน้อยด้วยวิธีที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวทารกได้ แต่หากอาการสะอึกไม่ยอมหยุดเอง ก็ควรพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจละเอียดต่อไป
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.littleremedies.com/today.line.me/th/www.sanook.com/www.phyathai.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
อุทาหรณ์..แม่เตือน ล้างขวดนม ผิดวิธี เสี่ยงทำลูกติดเชื้อในกระเพราะอาหารได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่