กาแฟ กับแม่ท้องเป็นสิ่งไม่คู่กัน แต่แม่จ๋าเตรียมเฮได้ หมอแนะวิธีทานกาแฟสำหรับแม่ให้นมลูก ว่าทานอย่างไรไม่ทำให้คาเฟอีนตกค้างในน้ำนมแม่ ลูกปลอดภัย แม่ได้ฟิน
หมอตอบชัด!!แม่ให้นมกินน้ำอัดลม ชา กาแฟ คาเฟอีนส่งถึงลูกไหม
ไหนจะคาเฟ่เปิดใหม่ ไหนจะกลิ่นหอมของกาแฟเตะจมูกแทบทนไม่ไหว แบบนี้คุณแม่จึงเกิดคำถามในใจกันใช่ไหมละว่า แม่ให้นมลูกจะกินกาแฟได้ไหม? ทีมแม่ ABK เรารู้ใจแม่ทุกคน วันนี้จึงได้หาคำตอบ มาตอบคำถามที่แม่หลาย ๆ คนเรียกร้องกันมาให้หายข้องใจกันเสียทีว่า แม่ให้นมลูกอย่างเราจะฟินกับกาแฟหอม ๆ รสละมุนได้หรือไม่
คาเฟอีน (caffeine) เป็นสารที่พบได้ใน เมล็ด ผล และใบจากพืชบางชนิด โดยพบมากในเมล็ดกาแฟ และเป็นที่นิยมกันอย่างมากในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการสังเคราะห์ขึ้นมาได้อีกด้วย คาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง จึงมีการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว ตลอดจนใช้รักษาโรคบางอย่าง เช่น โรคปวดศีรษะ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดบางรายอาจได้รับคาเฟอีนเพื่อกระตุ้นการหายใจ ดังนั้นคาเฟอีนจึงไม่ได้เป็นเพียงสารที่ให้แต่โทษอย่างที่เข้าใจกัน หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมก็สามารถใช้ประโยชน์จากสารคาเฟอีนนี้ได้เช่นกัน
ส่วนด้านเครื่องดื่มเราจะพบคาเฟอีนในเครื่องดื่มหลายชนิด เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง คาเฟอีนจึงไม่ได้มีแต่เพียงในกาแฟแก้วโปรดของคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น การได้รับคาเฟอีนเป็นประจำโดยเฉพาะในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ และการที่สารคาเฟอีนมีอยู่ในเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ นอกจากกาแฟด้วยแล้ว การที่เราจะคำนวณปริมาณสารคาเฟอีนจึงต้องรู้ปริมาณของมันในเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่เรารับประทานในแต่ละวันรวมด้วย
จำกัดปริมาณคาเฟอีนได้ด้วยการนับ
ปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มมีมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของเครื่องดื่ม และความนิยมในการบริโภคของแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละคน กล่าวคือ ในเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนปริมาณเท่ากันของแต่ละคน อาจมีปริมาณคาเฟอีนไม่เท่ากัน เช่น ในกาแฟหนึ่งแก้ว บางคนชอบเข้มข้นใส่กาแฟ 2 ช็อต ก็ย่อมมีปริมาณคาเฟอีนมากกว่ากาแฟแบบบาง ๆ อ่อน ๆ
ดังนั้นจะขอกล่าวถึงปริมาณของคาเฟอีนโดยทั่วไปในรูปแบบที่เตรียมเสร็จแล้วและพร้อมสำหรับดื่มนั้น ในกาแฟจะมีปริมาณคาเฟอีนมากกว่าชาและมากกว่าช็อกโกแลต ตามลำดับ เครื่องดื่มปริมาตร 1 แก้ว (ขนาด 240-250 มิลลิลิตร)
- กาแฟ มีปริมาณคาเฟอีน 60-200 มิลลิกรัม
- ชา มีปริมาณคาเฟอีน 10-50 มิลลิกรัม
- ช็อกโกแลต มีปริมาณคาเฟอีน 2-5 มิลลิกรัม
- กาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออก (decaffeinated coffee) ยังคงมีคาเฟอีนหลงเหลืออยู่เล็กน้อย โดยในเครื่องดื่ม 1 แก้วอาจมีปริมาณ คาเฟอีนราว 3 มิลลิกรัม
จะเห็นได้ว่าปริมาณคาเฟอีนมีอยู่ในเครื่องดื่มหลายชนิด ดังนั้นเราจึงควรระวังและจำกัดปริมาณคาเฟอีนที่ร่างกายจะได้รับในแต่ละวัน สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูก คาเฟอีนสามารถขับออกทางน้ำนมได้ดังนั้นแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองหากดื่มกาแฟปริมาณมากอาจส่งผลถึงปริมาณคาเฟอีนแก่ลูกได้
อ่านต่อ ดื่มกาแฟขณะตั้งครรภ์ แม้ในปริมาณพอดีก็มีผลให้ลูกตัวเล็กได้
กาแฟในน้ำนมแม่
คุณเป็นคนหนึ่งที่ติดกาแฟหรือเปล่า? แม่ที่ให้นมลูกจำนวนไม่น้อยติดกาแฟ หากสามารถเลิกดื่มได้ควรเลิกดื่มกาแฟในช่วงให้นมลูกนี้ไปก่อนเพื่อความสบายใจ และปลอดภัยของลูกน้อย แต่หากไม่สามารถเลิกได้ หรือต้องการความฟินจากรสชาติของกาแฟให้ชีวิตได้มีรสชาติกันสักหน่อยก็มิได้เป็นเรื่องที่ผิดแต่อย่างใด แต่คุณแม่อาจต้องรับประทานให้น้อยที่สุด แม้ว่าคาเฟอีนในน้ำนมไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อลูก แต่อาจมีผลรบกวนพฤติกรรมบางอย่างของลูกได้ โดยเฉพาะเมื่อให้นมแก่ทารกแรกคลอด ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน โดยทั่วไปการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณน้อยกว่า 200 มิลลิกรัม หรือดื่มกาแฟ 1-2 แก้ว (บางแหล่งข้อมูลอาจกำหนดไว้มากกว่านี้) มักไม่ส่งผล กระทบต่อทารก อย่างไรก็ตามไม่มีการศึกษาที่สนับสนุนอย่างชัดเจนว่าแม่ที่ให้นมลูกควรกำหนดปริมาณการบริโภคคาเฟอีนไว้ไม่เกินเท่าใด ในบางประเทศเคยกำหนดปริมาณไว้ที่ 300 มิลลิกรัม แต่ต่อมาลดเหลือ 200 มิลลิกรัม
ปริมาณคาเฟอีนในน้ำนมจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณที่แม่บริโภค คาเฟอีนถูกขับออกทางน้ำนมได้ดีและรวดเร็ว พบระดับคาเฟอีนสูงสุดในน้ำนมที่เวลา 1-2 ชั่วโมงหลังจากแม่ดื่มกาแฟ ปริมาณคาเฟอีนออกมาในน้ำนม 0.06-1.5% ของขนาดที่แม่ได้รับ หรือประมาณได้ว่าทารกที่ดื่มนมแม่น่าจะได้รับคาเฟอีนราว 7-10% ของปริมาณที่มารดาได้รับเมื่อปรับค่าตามน้ำหนักตัว หากแม่ได้รับคาเฟอีนน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม จะมีคาเฟอีนในน้ำนมต่ำมากจนวัดไม่ได้ (ต่ำกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร) คาเฟอีนมีค่าครึ่งชีวิตในน้ำนม 4-6 ชั่วโมง (หมายความว่าทุก ๆ ช่วงเวลาดังกล่าวปริมาณคาเฟอีนในน้ำนมจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง)
สังเกตอาการลูก วิธีง่าย ๆ ก่อนดื่มกาแฟ
ถึงแม้จะไม่มีผลการวิจัยที่ชัดเจนว่าแม่ที่ให้นมลูกสามารถดื่มกาแฟในปริมาณเท่าใดที่จะไม่เป็นอันตรายต่อการให้นมลูกก็ตาม แต่ขึ้นชื่อว่าคนเป็นแม่แล้ว ก็คงต้องคำนึงถึงลูกเป็นอันดับแรกกันใช่ไหม วันนี้จึงมีคำแนะนำดี ๆ จากคุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ที่ได้ให้คำแนะนำไว้ในเพจเฟสบุ๊กของคุณหมอว่า
สำหรับคุณแม่ให้นมลูกนั้น ###ไม่เหมือนกับคุณแม่ตั้งครรภ์ค่ะ คุณแม่ให้นมลูกสามารถกินกาแฟได้ค่ะ
แหม… ก็เลี้ยงลูก เหนื่อยและอดนอนมากมาย การกินกาแฟให้พอชื่นใจ วันละ 1-2 แก้ว หรืออาจได้ถึง 3 แก้ว ย่อมทำได้ค่ะ ถ้าสังเกตอาการลูก ไม่มีความผิดปกติ ไม่งอแง ไม่ยอมดูดนม ไม่หลับไม่นอน ก็แสดงว่ากินได้ แต่ถ้ามีอาการ ก็แสดงว่าคุณแม่กินเยอะเกินไป ให้ลดปริมาณลงมาค่ะ และควรกินกาแฟที่ไม่ผสมนมวัว เพื่อลดความเสี่ยงที่ลูกจะแพ้นมวัวแล้วทำให้ป่วยบ่อยๆค่ะ หรือถ้าแม่มีกินนมวัวบ้างเล็กน้อย ให้สังเกตอาการแพ้ของลูกด้วยค่ะ เช่น อาการงอแงมากกว่าปกติ ผื่นผิวหนังอักเสบ คันตามตัว อาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก หายใจครืดคราด คันตา เลือดกำเดาไหล และ อาการเจ็บป่วยบ่อยๆ ถ้ามีก็ลองหยุดดูว่าดีขึ้นไหม ถ้าไม่ดีขึ้น ก็แสดงว่าน่าจะเป็นจากสาเหตุอื่นค่ะ แต่ถ้าดีขึ้น ก็ควรงดกินนมวัวเพื่อไม่ให้ลูกต้องป่วยบ่อยๆ
- สังเกตอาการลูกว่าปริมาณกาแฟที่แม่ทานเยอะไปหรือยัง หากลูกทานนมแม่แล้วมีอาการผิดปกติ งอแง ไม่หลับไม่นอน ไม่ยอมดูดนม นั่นเป็นอาการแสดงว่า เขาได้รับปริมาณคาเฟอีน คุณแม่ควรลดปริมาณกาแฟลง อาการผิดปกติดังกล่าวก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น เพราะฤทธิ์คาเฟอีนในตัวลูกจะลดลงอย่างชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์หรือเร็วกว่านี้
- ควรกินกาแฟที่ไม่ผสมนมวัว เพื่อลดความเสี่ยงที่ลูกจะเกิดอาการแพ้นมวัว ซึ่งจะมีอาการดังต่อไปนี้ ผื่นผิวหนังอักเสบ คันตามตัว อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว คัดจมูก หายใจครืดคราด คันตา เลือดกำเดาไหล เป็นต้น
- สำหรับคุณแม่ที่ลูกเล็กกว่า 6 เดือน คาเฟอีนที่ถูกส่งผ่านไปถึงทารกจะอยู่ในตัวลูกนานกว่า เพราะตับที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ จึงควรระวังการสะสมของคาเฟอีนในร่างกายลูก และเด็กในช่วงวัยนี้ มีโอกาสในการแพ้อาหารสูง หากคุณแม่ทานกาแฟที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ ก็อาจทำให้ลูกเสี่ยงแพ้นมวัวมากยิ่งขี้นไปอีก จึงอยากแนะนำว่าให้อดใจรอไม่ทานกาแฟเลยจนลูกโตเกิน 6 เดือนขึ้นไปจะดีกว่า
- ถ้าเป็นห่วงเรื่องคาเฟอีนในน้ำนม เพื่อเพิ่มความมั่นใจก็สามารถให้ลูกกินนมแม่ก่อนแม่ทานกาแฟ หรือเลือกเว้นระยะการให้นมหรือปั๊มนม 2 ชม.หลังจากที่ได้ดื่มกาแฟ เพราะหลังทานกาแฟจะเป็นช่วงที่วัดระดับคาเฟอีนได้สูงที่สุด หลังจากนั้นระดับคาเฟอีนจะลดลงเอง โดยจะปั๊มหรือไม่ปั๊มนมทิ้งก่อนก็ได้
- การกินกาแฟที่เข้มข้น หรือปริมาณมากกว่า 3 แก้วต่อวัน ทำให้ระดับธาตุเหล็กในนมแม่ลดลงถึง 30% แม้ว่าคาเฟอีนในน้ำนมไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อทารก อย่างไรก็ตามหากแม่ที่บริโภคคาเฟอีนปริมาณสูงเป็นประจำ เช่น วันละ 750 มิลลิกรัมหรือมากกว่านี้ อาจส่งผลต่อพฤติกรรมบางอย่างของทารกอันเกิดจากฤทธิ์คาเฟอีนที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เช่น นอนน้อยลง ตื่นง่าย กระสับกระส่าย งอแง อยู่ไม่สุข ดูดนมได้ไม่ดี นอกจากนี้แม่ที่ดื่มกาแฟเกินกว่าวันละ 450 มิลลิลิตร (หรือ 2 แก้ว) เป็นประจำ อาจทำให้ธาตุเหล็กในน้ำนมลดลง ในระยะยาวอาจทำให้ทารกที่บริโภคนมแม่เพียงอย่างเดียวเกิดภาวะโลหิตจางได้เล็กน้อยจากการขาดเหล็ก
- สรรพคุณของคาเฟอีนในชา กาแฟ โคล่า โกโก้ ทำให้กระปรี้กระเปร่า แต่มันมีสรรพคุณในการขับน้ำและลดการดูดซึมของสารอาหารต่างๆ ดังนั้นถ้าจะทานก็ไม่ควรทานพร้อมกับวิตามิน (ลดการดูดซึม ประสิทธิภาพของวิตามินจะต่ำลง) และควรทานน้ำให้มากขึ้นเพื่อทดแทนน้ำนมที่ถูกขับออกมา และควรทานกาแฟพร้อมนมถั่วเหลืองที่มีแคลเซี่ยม เพื่อลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนได้
อ่านต่อ ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก ส่งผลไอคิวลดลงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
อย่างที่คุณหมอได้แนะนำกันไปว่า การทานกาแฟกับการให้นมลูกสามารถทำได้เพียงแต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้ดี เพราะคาเฟอีนก็มีผลต่อเจ้าตัวน้อยของคุณแม่ โดยได้รับผ่านทางน้ำนม และที่สำคัญนอกจากต้องระวังในเรื่องปริมาณของกาแฟต่อวันแล้ว แม่ยังต้องคำนึงถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนชนิดอื่นด้วย เพราะไม่ได้มีเพียงแค่กาแฟเท่านั้น ทั้งชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และช็อกโกแลต ก็ล้วนแล้วแต่มีคาเฟอีนทั้งสิ้น แม้จะตามใจปากอย่างไรก็อย่าลืมนึกถึงผลกระทบต่อลูกน้อยให้มากกว่ารสชาติที่ถูกปากก็แล้วกัน
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง FB:นมแม่แฮปปี้ / คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล / FB:สุธีรา เอืื้อไพโรจน์กิจ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เทคนิค 5 ดูดให้ทารก ดูดนม จากเต้าได้ดี ลูกแข็งแรง แม่น้ำนมเยอะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่