พ่อแม่มือใหม่รับมือกับทารกร้องไห้มาก 3 เดือนแรก - Amarin Baby & Kids

พ่อแม่มือใหม่รับมือกับทารกร้องไห้มาก 3 เดือนแรก

Alternative Textaccount_circle
event

อาการที่ทารกร้องไห้มากในช่วง 3 เดือนแรก เป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติค่ะ เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันตั้งแต่แรกเกิด บางคนเลี้ยงง่าย สงบ ไม่ค่อยงอแง บางคนตื่นเต้นมาก ร้องไห้งอแงบ่อย และไวต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่นแสงหรือเสียง ความหิวเป็นตัวกระตุ้นให้ลูกร้องไห้ได้มากที่สุด แต่สาเหตุอื่น เช่นความเปียกชื้นจากอุจจาระหรือปัสสาวะ อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป การใส่เสื้อผ้ามากหรือรัดแน่นเกินไป การมีลมในท้อง การแพ้นมวัว หรือการเจ็บป่วย ส่วนเด็กบางคนร้องเพียงอยากให้อุ้มหรือได้รับความสนใจเท่านั้น

การที่เด็กอ่อนร้องไห้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง คนไทยมักเรียกภาวะนี้ว่า “ร้องไห้ 3 เดือน” โดยมักเกิดกับทารกอายุ 2-3 เดือนแรก ลักษณะสำคัญของอาการร้องไห้มาก ได้แก่

1. ร้องและหยุดร้องเองโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ขณะที่ร้องมีหน้าตาเหยเกคล้ายเจ็บปวด ทั้งที่ไม่เจ็บปวดอะไร ร้องนานต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมง บางคนนาน 5-6 ชั่วโมง มักจะเริ่มร้องช่วงเย็นๆ ถึงหัวค่ำ

2. ร้องไห้มากขึ้นเรื่อยๆ และมากที่สุดประมาณเดือนที่ 2 หลังจากนั้นจะร้องน้อยลง

3. คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถทำให้หยุดร้องได้ทันที แต่สามารถทำให้ร้องน้อยลงได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรพยายามค่อยๆ ปลอบลูกค่ะ

อันตรายของเด็กที่ร้องไห้มากใน 3 เดือนคือผู้ปกครองหรือผู้ดูแลหมดความอดทนหรือเหน็ดเหนื่อยจากการที่ลูกร้องไห้มาก แล้วเผลอจับเด็กเขย่า เพื่อให้หยุดร้อง การเขย่าอาจก่อให้เกิดอันตรายที่รุนแรงได้ เพราะศีรษะเด็กจะเคลื่อนไปมาหน้าและหลัง ศีรษะเด็กมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว อาจทำให้หลอดเลือดในสมองฉีกขาด ลูกอาจพิการหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อลุกเริ่มร้องไห้คือ

1. อุ้ม ปลอบ พูด หรือเดินค่ะ ส่วนใหญ่จะทำให้การร้องไห้ลดลง

2. ในกรณีที่ลูกร้องไห้นานมาก เมื่อพ่อแม่หรือผู้ดูแลเกิดความเครียด ให้วางลูกไว้ในที่ๆ สงบและปลอดภัย เช่นในเตียงของลูก และหลบออกไปผ่อนคลายสักพัก เมื่อรู้สึกดีขึ้นค่อยกลับมาดูลูกค่ะ ที่สำคัญอย่าจับลูกเขย่าหรือทำร้ายลูกเป็นอันขาด

บางครั้งอาจต้องให้แพทย์ประจำตัวตรวจร่างกายลูกรัก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้มีสาเหตุอื่นที่ทำให้ลูกร้องไห้มาก อย่าลืมว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้ทุกคนที่ดูแลลูกเข้าใจและไม่ปล่อยลูกไว้กับเพื่อนหรือญาติในช่วงเวลาที่ลูกมักจะร้องไห้มากค่ะ

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ

ข้อมูลจาก: ภาควิชากุมารเวชศาสตร์และงานพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพจาก: Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up