ความเครียดในเด็กทารก ส่งผลเมื่อโตขึ้น
ล่าสุด ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Wisconsin ที่ Madison ได้ติดตามดูพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กจำนวน 560 คน เป็นเวลานาน 20 ปี โดยเริ่มตั้งแต่หลังคลอด ทีมนักวิจัยสอบถามพ่อแม่ถึงความเครียดที่เกิดขึ้นภายในบ้านเป็นช่วงๆ ตั้งแต่เด็กอายุครบ 1 เดือน 4 เดือน และ 1 ขวบ
โดยมีคำถามว่า พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยแค่ไหน คุณแม่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดลูกหรือไม่ หรือออกไปทำงานหลังคลอดลูกหรือไม่ หลังจากเด็กๆ อายุครบ 4 ขวบครึ่ง ทีมวิจัยได้เริ่มตรวจเลือดของเด็กๆ เพื่อวัดฮอร์โมนความเครียดเป็นช่วงๆ และเมื่ออายุครบ 18 ปี ได้ทำการสแกนสมอง เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลง
โครี่ เบอร์จี หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า หากเด็กเกิดความเครียดตั้งแต่เล็กๆ จะมีปริมาณฮอร์โมนความเครียดในเลือดสูง กลายเป็นเด็กวัยรุ่นที่เครียดง่าย วิตกกังวล และส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ โดยเด็กเล็กเพศหญิงที่เติบโตภายในบ้านที่มีความเครียดอยู่รอบๆ ตัว เมื่อโตขึ้นจะมีภาวะเครียด และวิตกกังวลมากกว่าเด็กเล็กเพศชาย
รามัส เบริ์น ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์แห่งภาควิชาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย University of Wisconsin กล่าวว่า ภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมภายในครอบครัว ยังสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เพราะสมองของเด็กยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เนื่องจากสมองของคนเรามีความยืดหยุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ จึงยังมีวิธีแก้ไขปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นในเด็กเล็กได้ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาต่อไป