ฝึกลูกให้นอนดีตามช่วงวัย
1.แรกเกิด-3 เดือน
- ให้ลูกนอนกลางวันบ่อยๆ ช่วงอายุ 6-8 สัปดาห์ ทารกมักไม่ตื่นนานเกินครั้งละ 2 ชั่วโมง ถ้าพาลูกนอนช้ากว่านั้น ลูกอาจง่วง หรือเหนื่อยเกินไป จนทำให้มีปัญหานอนไม่หลับได้
- สอนให้ลูกรู้จักความแตกต่างของกลางวัน กลางคืน เมื่ออายุได้ 2 สัปดาห์ เล่นกับลูกให้ตื่นตัวในตอนกลางวันให้มากที่สุด เปิดไฟสว่าง ส่วนตอนกลางคืน อย่าเล่นกับลูก ห้องควรมืด และเงียบที่สุด อย่าคุยกับลูกนานเกินไป ลูกจะเรียนรู้ได้เองว่า กลางคืนคือเวลานอน
- สังเกตอาการง่วงของลูก ว่าลูกมีอาการขยี้ตา ดึงหูตัวเอง หรือหงุดหงิดง่ายกว่าปกติหรือไม่ ถ้าสังเกตเห็น ให้วางลูกลงนอน และสังเกตนาฬิกาชีวิตของลูก เพื่อให้รู้ว่าลูกพร้อมหลับแล้วหรือยัง
- สร้างกิจวัตรการนอน เริ่มได้เมื่ออายุ 6 สัปดาห์ หรือจะเริ่มก่อนก็ได้ มีหลักคือ ทำกิจวัตรทุกคืนในเวลาเดิม ไม่ควรทำกิจกรรมที่ตื่นเต้นเกินไป หรือทำให้กลัว ลองอ่านนิทานให้ลูกฟัง ร้องเพลงกล่อม เปลี่ยนชุดนอน หอมแก้ม ถ้าจะให้กินนม ควรกินให้เสร็จก่อน แล้วอุ้มลงนอนบนเตียงของเขา
- วางลูกลงนอนบนเตียง เมื่อลูกง่วงแต่ยังไม่หลับ เมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์ พญ.โจดี มินเดล รองผู้อำนวยการศูนย์ความผิดปกติด้านการนอน โรงพยาบาลเด็ก ฟิลาเดลเฟีย แนะนำว่า ลองให้เขาหลับด้วยตัวเอง แค่เอาลูกนอนบนเตียงตอนง่วงก็พอ
2.อายุ 4-6 เดือน
- กำหนดเวลาเข้านอน กลางวัน และกลางคืน เพื่อให้ลูกน้อยนอนให้เป็นเวลา เลือกเวลาเข้านอนที่เหมาะกับครอบครัว ถ้าลูกน้อยหลับช้ากว่าเวลา อาจเพราะทำกิจกรรมโลดโผนเกินไป ถ้าลูกมีปัญหานอนไม่หลับ หรือหลับช้ากว่าเวลา ลองพาลูกน้อยเข้านอนให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
- สร้างกิจวัตรก่อนนอน ทำตามลำดับเดิม เวลาเดิมทุกคืน เพื่อความสม่ำเสมอ
- ปลุกลูกน้อยในตอนเช้า เพื่อตั้งนาฬิกาชีวิตให้ลูก เขาควรนอน และตื่นตามกำหนดเวลา การปลุกลูกเวลาเดิมทุกเช้า จะช่วยให้ลูกนอนเป็นเวลาอีกด้วย
- ฝึกให้ลูกนอนหลับด้วยตัวเอง มีทารกเพียงบางคนที่หลับต่อเองได้ เมื่อตื่นกลางดึก ถ้าลูกน้อยหลับเองไม่ได้ ควรฝึกโดยพาลูกเข้านอนเมื่อง่วง แต่ยังไม่หลับ ถ้าได้ยินเสียงลูกตื่นกลางดึก ให้รอสักพักก่อน แล้วจึงลุกไปปลอบ หรือให้นม เพื่อให้ลูกมีโอกาสหลับต่อด้วยตัวเอง