อุทาหรณ์อันตรายจากทีวีและหน้าจอเมื่อ ลูกเป็นออทิสติกเทียม จากการเลี้ยงดูที่ละเลย รู้ไว้ก่อนสายเลี้ยงลูกอย่างไรทำให้เสี่ยงเป็น ออทิสติกแท้เทียมต่างกันอย่างไร
เลี้ยงลูกกับหน้าจอเสี่ยง ลูกเป็นออทิสติกเทียม ต่างจากแท้ยังไง
คุณแม่ท่านหนึ่งได้เล่าเรื่องราวของน้องสาวของตัวเอง เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้พ่อแม่ท่านอื่นๆ ถึง อันตรายจากทีวี ที่น้องสาวถูกคุณแม่เลี้ยงดูและโตมากับทีวี ทีวีมีประโยชน์อยู่อย่างหนึ่งคือ ทำให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากรายการที่ดีมีสาระ แต่ถ้า ลูกเป็นออทิสติกเทียม จากการดูทีวีจะทำอย่างไร
นพ.กมล แสงทองศรีกมล จิตเวชเด็ก และวัยรุ่น เล่าถึงประสบการณ์การรักษาเด็กที่คุณพ่อ คุณแม่มาปรึกษาเรื่องพูดช้า และไม่ค่อยทำตามคำสั่ง เด็กบางคนอายุ 2-3 ขวบแต่ยังพูดไม่ได้ พูดเป็นคำเดียว หรือนานๆ พูดครั้ง และพูดเป็นภาษาที่ฟังไม่รู้เรื่อง เมื่อตรวจดูแล้วพบว่าไม่ใช่การได้ยินผิดปกติ ไม่ใช่เด็กออทิสติกแท้ และไม่มีความบกพร่องทางปัญญา
คุณหมอพบว่าคุณพ่อคุณแม่ ให้ลูกดูทีวีมากเกินไป คือดูนานเกิน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ใช่แค่ 1-2 ชั่วโมง โดยเด็กๆ ดูทีวีต่อเนื่องนาน 30 นาที ถึงมากกว่า 1 ชั่วโมง ถ้าเป็นวิดีโอซีดีก็จะดูจนจบแผ่น และวนดูซ้ำหลายรอบ มีการแสดงอารมณ์ร่วมกับทีวีที่ดู บางคนหัวเราะ ลุกขึ้นเต้นตาม หรือร้องไห้ตามทีวี เด็กบางคนเริ่มสนใจดูทีวีตั้งแต่ 9 เดือน ดูต่อเนื่อง นานขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น จนทำให้พัฒนาการช้า
ตัวอย่างที่คุณหมอพบ เช่น มีเด็กคนหนึ่งอายุ 2 ขวบ ยังพูดไม่ได้ เพราะคุณแม่ให้ดูทีวีเห็นว่าลูกชอบ ไม่ดื้อ ไม่ซน นั่งนิ่งๆ คุณแม่อีกคนให้ลูกวัย 2 ขวบ 6 เดือน ดูวิดีโอซีดี รายการเด็กที่เป็นภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ 1 ขวบ เพราะคิดว่าลูกจะได้หัดฟัง และพูดภาษาอังกฤษ แต่ผลกลับตรงกันข้าม ทำให้ลูกพูดช้า มีภาษาแปลกๆ ฟังไม่รู้เรื่อง เรียกไม่ค่อยหัน ไม่ทำตามคำสั่ง
ทำความเข้าใจกับ ออทิสติก เมื่อ ลูกเป็นออทิสติกเทียม!!
แค่เลี้ยงลูกกับทีวี หรือหน้าจอ จะทำให้ลูกเป็นออทิสติกเชียวหรือ? คำถามเหล่านี้ที่คุณพ่อคุณแม่สงสัยกันว่า ลูกเป็นออทิสติกเทียม นั้นเป็นอย่างไร ใช่ออทิสติกที่เรารู้จักกันหรือไม่ แตกต่างกันอย่างไร หากอยากได้คำตอบจากคำถามเหล่านี้เรามาทำความเข้าใจกับเรื่องดังต่อไปนี้กัน
ออทิสติก (Autism Spectrum Disorder)
โรคออทิสติก จัดอยู่ในกลุ่มการวินิจฉัยโรค ที่เรียกว่า พีดีดี หรือ ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน (Pervasive Developmental Disorders: PDDs) พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค แต่มีหลักฐานสนับสนุนชัดเจนว่าเกิดจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติ มากกว่าเป็นผลจากสิ่งแวดล้อม
การที่จะดูว่าเด็กเป็นออทิสติกหรือไม่ ถ้าอาการมาก อาการรุนแรง จะดูออกได้ไม่ยาก แต่ถ้าอาการน้อย ๆ จะดูยากมาก ต้องอาศัยความเห็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น และบางคนอาจต้องประเมิน และติดตามระยะหนึ่ง จึงจะได้ข้อสรุปที่แน่นอน
โรคออทิสติก เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซี่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะสังคม ทักษะทางภาษา และการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย มีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจ เป็นแบบแผนซ้ำ ๆ ไม่ยืดหยุ่น ปัญหาดังกล่าวเป็นตั้งแต่เล็ก แสดงให้เห็นก่อนอายุ 3 ขวบ
ลักษณะอาการของออทิสติก
เด็กที่เป็นออทิสติกจะมีอาการแตกต่างกันหลากหลายรูปแบบ ไม่เหมือนกัน แต่จะมีลักษณะที่คล้ายกัน ด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้
ด้านสังคม เด็กจะอยู่ในโลกของตัวเองมาก สนใจสิ่งแวดล้อมน้อย เรียกไม่หัน ไม่สบตา ไม่สนใจใคร ไม่สนใจของเล่น ไม่สนใจในเรื่องที่คนรอบข้างกำลังสนใจอยู่ ไม่ชี้นิ้วบอกความต้องการของตนเอง ในรายที่อยู่ในโลกของตัวเองมาก จะกระตุ้นตัวเองเป็นระยะ เช่น หมุนตัว โยกตัว เขย่งเท้า สะบัดมือ เล่นมือ เล่นเสียง เป็นต้น
ด้านภาษา ไม่สมวัย โต้ตอบไม่เป็น เล่นไม่เหมาะสม จินตนาการไม่เป็น ไม่พูด พูดไม่รู้เรื่อง พูดเป็นภาษาต่างดาว แต่เป็นเลักษณะพูดซ้ำ ๆ พูดเลียนแบบ โดยไม่เข้าใจความหมายพูดเรียงประโยคไม่ถูกต้อง
ด้านพฤติกรรม ทำอะไรซ้ำ ๆ เป็นแบบแผน ไม่ยืดหยุ่น สนใจบางอย่างแบบหมกมุ่น ไม่มีประโยชน์ เช่น จ้องมองพัดลมหมุนได้นาน สะบัดแผ่นซีดีไปมาเพื่อดูแสงเงา รับประทานอาหารเมนูซ้ำเดิมไม่ยอมเปลี่ยน ใส่เสื้อตัวเดิมหรือสีเดิมตลอด ถ้ากิจวัตรที่เคยทำเปลี่ยนไปจากเดิมจะหงุดหงิด อารมณ์เสีย โวยวาย
ไฮเปอร์แอคทีฟ (Hyperactive) เป็นอาการที่พบร่วมได้ในเด็กออทิสติก ประมาณร้อยละ 70 มักพบมีความบกพร่องทางสติปัญญาร่วมด้วย ร้อยละ 50-70 แต่ในขณะเดียวกัน ก็พบว่ามีความสามารถพิเศษถึงร้อยละ 10
อาการผิดปกติของออทิสติกเริ่มสังเกตได้ชัดเจนขึ้นในช่วงอายุ 2 ปี เด็กยังไม่พูดเป็นคำ แต่จะพูดเป็นภาษาต่างดาวที่ไม่มีความหมาย เวลาอยากได้อะไรมักจะทำเอง หรือจูงมือพ่อแม่ไปหยิบโดยไม่ส่งเสียง ชอบจ้องมองสิ่งของที่เป็นแสงวาววับ แสงไฟ เงาที่กระเพื่อมไปมา หรือของหมุน ๆ เช่น พัดลม ล้อรถที่กำลังหมุน เริ่มเล่นมือสะบัดมือ หมุนตัว โยกตัว เขย่งเท้า พออายุ 3 ปีขึ้นไป อาการจะชัดเจนขึ้น และรุนแรงมากขึ้น ถ้าไม่ได้นำเข้าสู่กระบวนการดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
ออทิสติกเทียม!!
ภาวะออทิสติกเทียม ปัจจุบันพบว่าเด็กไทยมีภาวะนี้ มากขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุหลักของออทิสติกเทียม ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของสมอง แต่เกิดมาจากการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมให้เกิดอาการของออทิสติกขึ้นมา
ที่มาของการพูดถึงออทิสติกเทียม เริ่มต้นจากการที่พบเด็กเป็นออทิสติกมากขึ้นเป็นทวีคูณ โดยในช่วงปี 1974 มีรายงานออทิสติก 1 คนในเด็ก 5000 คน แต่ในปี 2014 จากรายงานของ CDC สหรัฐอเมริกา พบเด็ก 1 คนต่อ 68 คน จึงเริ่มหาสาเหตุ และความสัมพันธ์กันของการเกิดภาวะดังกล่าว เกิดการศึกษาขนาดใหญ่ที่ตีพิมพ์ลง JAMA Pediatrics พบว่าการดูทีวี วิดีโอ และการไม่มีปฎิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู กับเด็ก 12 เดือนสัมพันธ์กับการเกิดอาการคล้ายออทิสติก ของเด็กที่อายุ 2 ปี ที่มีความบกพร่องของการสื่อสาร พูดช้า สื่อสารไม่ได้ มีปัญหาการแสดงออกทางอารมณ์ และการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่น
ทำไมเด็กที่ดูทีวีมากๆ ถึงมีพัฒนาการช้า และอาจเกิดภาวะออทิสติกเทียม
เด็กที่ดูทีวีซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว เกือบตลอดวัน นาน 6-8 ชั่วโมง สนใจจดจ่ออยู่แต่กับทีวี ไม่สนผู้คน หรือสิ่งรอบข้าง เด็กๆ ก็จะขาดเวลาและโอกาสในการกระตุ้นการพูดคุย ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ เซลล์สมองเกี่ยวกับการพัฒนาภาษาการปฏิสัมพันธ์ไม่ได้รับการกระตุ้น เรียนรู้ที่จะรับอย่างเดียว ไม่เรียนรู้ที่จะส่งออกไป เด็กๆ เหล่านี้จึงพูดช้า และไม่ทำตามคำสั่ง
ผลกระทบจากการดูทีวี ทำให้เด็กมีปัญหาทางภาษา และการเข้าสังคม ทำให้สมาคมกุมารแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ออกกฎและคำเตือนให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรดูทีวีเลย และเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป ควรดูไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ให้คุณพ่อคุณแม่ปิดทีวี หรือซ่อนเอาไว้เพื่อไม่ให้ลูกเห็น แล้วเล่นกับลูก เช่น เล่นจ๊ะเอ๋ ไล่จับ ซ่อนหา ต่อเลโก้ เล่นอะไรก็ได้ที่มีรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ พูดคุยตอบโต้กัน กระตุ้นการพัฒนาสมอง เด็กๆ จะเริ่มดีขึ้น
ดูทีวีมากเป็นออทิสติกเทียมจริงหรือ?
พรทิพย์ ซุ่นอื้อ พยาบาลวิชาชีพ กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลตรัง กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นขณะที่เด็กๆ ดูทีวีว่ามีคุณแม่ท่านหนึ่งปรึกษาคุณหมอถึง 3 คน คุณหมอทั้ง 3 คนตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าลูกเป็นออทิสติกเทียม เกิดจากการเลี้ยงดูผิดๆ ปล่อยให้ลูกดูทีวีตั้งแต่ 8 เดือน วันละ 2-3 ชั่วโมง เพราะเห็นเขามีความสุข และยิ้ม
- เด็กๆ สนใจมอง แสง สี เสียง โดยเฉพาะรายการโฆษณาที่เปลี่ยนภาพเร็ว ดึงดูดความสนใจ แต่เด็กจะไม่เข้าใจความหมาย นอกจากตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่กระตุ้นเท่านั้น
- ขณะที่เด็กๆ ดูทีวี จะเปล่งเสียง หรือเลียนเสียงออกมาน้อยมาก เพราะทีวีเป็นการสื่อสารทางเดียว
- การปล่อยให้เด็กอยู่กับทีวีนานๆ ทำให้เด็กทนฟังกับเสียงที่ไม่เข้าใจ เด็ก 1 ใน 5 จะยังพูดไม่ได้เมื่อถึงวัยที่สมควรพูด
คุณพ่อ คุณแม่สามารถใช้ทีวีให้เป็นประโยชน์ได้ ดังนี้
- ดูโทรทัศน์ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัว พูดคุยในประเด็นต่างๆ ในรายการที่ได้ดูด้วยกัน
- ใช้โทรทัศน์กระตุ้นการอ่านของลูก เลือกรายการโทรทัศน์ที่ดี สอนให้เข้าใจค่านิยม และบทเรียนในชีวิต
- เลือกให้ลูกดูรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับการศึกษา ข่าวสารรอบตัว และประวัติศาสตร์
การบำบัดรักษาเด็กออทิสติก และเด็กที่มีภาวะออทิสติกเทียม
เมื่อผ่านการตรวจประเมิน และวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางแล้ว จะเข้าสู่การบำบัดรักษาโดยทีมนักวิชาชีพต่าง ๆ
นักกิจกรรมบำบัด ปรับระดับการรับความรู้สึกในด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสม ลดอาการซน อยู่ไม่นิ่ง การกระตุ้นตัวองส่งเสริมทักษะต่างๆ ในการใช้ชีวิต
นักจิตวิทยาพัฒนาการ ส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสม และลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมทักษะทางภาษา และทักษะทางสังคม
นักจิตวิทยาคลินิก บำบัดเด็ก และวัยรุ่นที่มีปัญหาทางจิตใจ ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม และสัมพันธภาพ ให้คำปรึกษากับพ่อ แม่ และผู้ปกตครอง คนในครอบครัว
นักแก้ไขการพูด ส่งเสริมทักษะการพูดความชัดเจนในการสื่อสาร ครูการศึกษาพิเศษ สอนทักษะการเรียนรู้ทางด้านวิชาการที่เฉพาะเจาะจง เมื่อเด็ก ๆ แต่ละคนพร้อมเข้าสู่การเรียน
เครดิต: มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย, www.oknation.net , เลี้ยงลูกตามใจหมอ ,www.growingsmart-ot.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ประสบการณ์จากคุณแม่ ลูกพูดช้า สาเหตุ เพราะดูทีวี มือถือ และแท็บเล็ต
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่