อวัยะเพศของเด็กผู้ชายรวมไปถึงลูกอัณฑะของทารกนั้นควรมีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์มาตั้งแต่เกิด ซึ่งกุมารแพทย์จะแจ้งให้คุณพ่อคุณแม่ได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด สำหรับภาวะ อัณฑะไม่ลงถุง ในเด็กนั้น ความผิดปกตินี้พบไม่บ่อยนัก แต่อาจเกิดขึ้นได้กับทารกเพศชายที่คลอดครบกำหนดประมาณร้อยละ 3 และทารกที่คลอดก่อนกำหนดประมาณร้อยละ 30 และอาจสูงถึงร้อยละ 33 ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลเสียต่อทารก อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่ออัณฑะเมื่ออายุมากขึ้น
อัณฑะไม่ลงถุง ความผิดปกติที่มักเกิดกับทารกคลอดก่อนกำหนด
ภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง คือการที่ลูกอัณฑะไม่ได้อยู่ในถุงอัณฑะ และไม่สามารถดึงลงมาในถุงอัณฑะได้ อัณฑะที่ไม่ลงถุงอาจคลำไม่ได้เนื่องจากอยู่ในช่องท้อง หรือคลำได้บริเวณขาหนีบ หรือเหนือถุงอัณฑะเพียงเล็กน้อย อาจคลำไม่พบตั้งแต่แรกเกิด หรือลงมาในถุงอัณฑะตอนแรกเกิดแล้วเคลื่อนกลับขึ้นไปภายหลัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้
แพทย์หญิงศนิ มลกุล ผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารศัลยศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลว่า ปกติอัณฑะของเด็กชายนั้นประกอบด้วยเซลล์ 2 กลุ่ม คือเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนเพศชาย และเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการสร้างตัวอสุจิ โดยลูกอัณฑะของเด็กนั้นถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เด็กยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดาในสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์ อยู่ที่ด้านหลังของช่องท้อง ระดับใกล้เคียงกับไตของเด็ก ต่อมาเมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตมาจนถึงสัปดาห์ที่ 24-26 อัณฑะจึงค่อยๆ เลื่อนตัวจากตำแหน่งเดิม ผ่านขาหนีบลงมาอยู่ที่ถุงอัณฑะ โดยปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้อัณฑะเลื่อนตัวลงมาได้นั้นมีหลายอย่าง เช่น การมีโครโมโซมเพศชายที่ปกติ การมีความดันในช่องท้องเป็นปกติ การมีเนื้อเยื่อที่เรียกว่า gubernaculum ยึดโยงระหว่างตัวอัณฑะมาที่ถุงอัณฑะ ซึ่งอิทธิพลของฮอร์โมนส์หลาย ๆ อย่างจะทำให้เนื้อเยื่อนี้หดสั้นลง ดึงเอาอัณฑะมาอยู่ในถุงได้ เป็นต้น
สาเหตุของอัณฑะไม่ลงถุง
สาเหตุของการเกิดภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุงนั้นยังไม่มีการยืนยันใด ๆ แต่สิ่งที่สังเกตได้คือความผิดปกตินี้มักจะพบในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทางการแพทย์ได้ลงความเห็นถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ทารกตกอยู่ในภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง ได้แก่
- ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย
- ความไม่สมบูรณ์เต็มที่ของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเมื่อทารกคลอดก่อนกำหนด
- ภาวะแทรกซ้อนที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ เช่นภาวะดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) และความผิดพลาดของผนังหน้าท้องด้านใน
- บุคคลในครอบครัวมีประวัติเคยตกอยู่ในภาวะนี้
- ได้รับสารเอสโตรเจน ยา หรือสารบางประเภทที่พบในสภาพแวดล้อม ซึ่งออกฤทธิ์ขัดขวางฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนตัวของอัณฑะ
- ความผิดปกติทางกายวิภาคของผนังหน้าท้อง มีส่วนของอวัยวะขัดขวางการเคลื่อนตัวลงของอัณฑะ
- ผู้ปกครองมีการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืช
- แม่ท้องดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์
- สูบบุหรี่หรือดมกลิ่นบุหรี่มากในขณะตั้งครรภ์
- แม่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมากเกินกว่าปกติ
- แม่เป็นโรคเบาหวาน
อ่านต่อ ภาวะแทรกซ้อนที่พบจากอัณฑะไม่ลงถุงในเด็ก คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่