พัฒนาการทารก 4 เดือน วัยนี้ได้ก้าวผ่านวัยแรกเกิด (Newborn) เข้าสู่วัยทารก (Infant) แล้ว คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลง ทางด้านต่างๆของลูกน้อย
พัฒนาการทารก 4 เดือน มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?
ในวัยนี้ เป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาทางด้านร่างกาย และสมอง ทารกส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ของน้ำหนักในตอนแรกเกิด (หรือมีน้ำหนักมากขึ้น) และจะสามารถนอนหลับได้ยาวนานขึ้นในเวลากลางคืน พัฒนาการทารก 4 เดือน จะเป็นอย่างไร ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว ตามมาดูกันค่ะ
พัฒนาการด้านร่างกาย และการเคลื่อนไหว
- เริ่มพลิกตัวได้เอง ช่วงนี้ควรระวังลูกตกเตียง หรือที่สูง ควรให้นอนบนเบาะนิ่มที่มีพื้นที่
- กล้ามเนื้อแขน หน้าอก และคอ แข็งแรงขึ้น เมื่อนอนคว่ำ สามารถใช้มือยันหน้าอก และผงกหัวขึ้นได้
- สามารถนั่งได้ โดยมีเบาะ หรือคน พยุงอยู่ด้านหลัง ควรระวังช่วยประคองศีรษะไว้
- ตาและมือ จะทำงานประสานกันได้ดียิ่งขึ้น สามารถคว้าของใกล้ตัวได้ และกำของได้แน่น มือสองข้างสามารถมาจับกันตรงกลางได้
- ไขว่คว้า เหยียดมือและเท้าได้ ทิ้งของเล่นไว้ใกล้ ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการใช้มือ และสายตา
- เอื้อมมือคว้าสิ่งของที่มองเห็น และสนใจ เช่น ผม ต่างหู สร้อยคอ หรือถ้วยกาแฟ ควรระวังอาจเกิดอุบัติเหตุได้
- ชอบเขย่าสิ่งของ และนำสิ่งของเข้าปาก
- เล่นกับเท้าตัวเอง และนำเท้าเข้าปาก
พัฒนาการด้านการเรียนรู้ และสติปัญญา
- สามารถจดจำหน้าพ่อ แม่ หรือคนใกล้ชิดได้
- สามารถมองสิ่งของที่เคลื่อนไหวจากด้านหนึ่ง ไปยังอีกด้านหนึ่งได้
- ชอบมองดูสิ่งของที่มีหลากหลายสี และหลากหลายรูปทรง
- แสดงออกให้รู้ว่ากำลังมีความสุข หรือเศร้าอยู่
- ตอบสนองต่อความรัก และความใส่ใจ
พัฒนาการด้านสังคม และอารมณ์
- ยิ้มให้กับคนที่รู้สึกคุ้นเคย คุณพ่อคุณแม่ควรยิ้มตอบ และพูดคุยกับลูก
- เริ่มจดจำวัตถุ และสิ่งของได้ เช่น สุนัข และผ้าห่มผืนโปรด ทั้งนี้สามารถมีส่วนร่วมกับสิ่งที่ลูกน้อยสนใจ ด้วยการมอง และชี้ตาม
- ทารกจะเรียนรู้การเล่น โดยจะรู้สึกหงุดหงิด หรือร้องไห้ เมื่อให้หยุดเล่น
- สนใจที่จะเล่นกับผู้คน
พัฒนาการด้านภาษา และการสื่อสาร
- เริ่มส่งเสียง อ้อแอ้ มีการเลียนแบบเสียง และสีหน้าของผู้ใหญ่
- สามารถสังเกตได้ถึงเสียงร้องที่แตกต่าง ระหว่างร้องเพราะ หิว เจ็บปวด ง่วง หงุดหงิด หรือไม่สบายตัว เมื่อลูกร้องไห้ ควรตอบสนองให้เร็วที่สุด สังเกตว่าลูกร้อง เพราะต้องการสื่ออะไร
น้ำหนัก และส่วนสูง เฉลี่ยตามเกณฑ์มาตรฐาน
ทารกชาย
น้ำหนักเฉลี่ย 5 – 7.5 กิโลกรัม
ส่วนสูงเฉลี่ย 58.10 – 64.60 เซนติเมตร
ทารกหญิง
น้ำหนักเฉลี่ย 4.5 – 7 กิโลกรัม
ส่วนสูงเฉลี่ย 56.80 – 64.50 เซนติเมตร
อาหารสำหรับทารกวัย 4 เดือน
ในวัยนี้ ยังคงให้น้ำนมแม่ หรือนมจากขวด (ในกรณีที่มีความจำเป็น ไม่สามารถให้นมแม่ได้) หรือให้ผสมทั้งนมแม่ และนมจากขวด เป็นอาหารหลัก
นมแม่นั้น สะอาด มีคุณค่า และสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีน วิตามิน ไขมัน แร่ธาตุต่าง ๆ ครบ ช่วยให้ทารกเจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย และสมอง ลดโอกาสการเกิดภูมิแพ้ มีโคลอสตรัม หรือนมน้ำสีเหลือง ๆ ช่วงแรกหลังคลอด ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค และยังช่วยระบายขี้เทา ซึ่งค้างอยู่ในลำไส้ทารก น้ำหนักตัวของแม่ลดลงอย่างรวดเร็ว มดลูกเข้าอู่เร็ว
ในวัยนี้ จะสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลง ของพฤติกรรมการบริโภค ร่างกายจะเติบโตขึ้น ทำให้กระเพาะสามารถเก็บปริมาณอาหารได้มากขึ้น จึงมีผลทำให้ การบริโภคในแต่ละมื้อมีปริมาณมากขึ้น
ระยะห่างในแต่ละมื้อจะยาวนานขึ้น จะห่างกันประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง ปริมาณน้ำนมในแต่ละมื้อ ประมาณ 4 – 6 ออนซ์ หรือวันละ 24 – 36 ออนซ์
อาหาร ที่เหมาะสมสำหรับทารก ทั้งชนิดและปริมาณ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนา และการเจริญเติบโตของร่างกาย และสมองของทารก
อาหารเสริม
อาจปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มให้อาหารเสริมแก่ทารก ทารกแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทารกบางคนพร้อมที่จะเริ่มทานอาหารแข็ง (solid food) หรืออาหารเสริม เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนที่ 4 แต่ทารกบางคนพร้อม เมื่อใกล้เข้าเดือนที่ 6 อาจสังเกตความพร้อมของทารกดังนี้
- เมื่อทารกสามารถนั่งได้บนเก้าอี้ทานข้าวเด็ก
- คอแข็ง สามารถตั้งศีรษะได้โดยไม่ต้องประคอง
- สามารถเคลื่อนอาหารเข้าไปในปาก และกลืนได้ โดยไม่ใช้ลิ้นดันอาหารออกจากปาก
- อ้าปาก เมื่อนำอาหารมาใกล้ปาก
- มีความเจริญเติบโตเพียงพอ อย่างน้อยมีน้ำหนักตัวเป็น 2 เท่า ของน้ำหนักตัวเมื่อแรกคลอด
หากเริ่มให้อาหารเสริม ปริมาณที่ให้ไม่ควรเกิน 1 ช้อนโต๊ะ ต่อมื้อ วันละ 1 – 2 ครั้ง ทั้งนี้จุดประสงค์เพื่อ ฝึกให้ทารกรับประทานอาหารแข็ง มิใช่เพื่อให้ได้รับสารอาหาร
ควรเริ่มจากอาหารกึ่งเหลว และเริ่มให้อาหารเพียงชนิดเดียวเป็นเวลา 7 วันก่อน เพื่อดูว่ามีอาการแพ้หรือไม่ เช่น อาจเริ่มให้รับประทานข้าวบดก่อน จากนั้นเป็นข้าวบดกับน้ำแกงจืด ข้าวบดกับไข่แดงต้มสุกบด ข้าวบดกับตับบด ข้าวบดกับถั่วต้มเปื่อยบด ข้าวบดกับเต้าหู้ขาวบด กล้วยน้ำว้าบด มะละกอบด หรือซุปฝักทอง
การนอน
ทารกวัย 4 เดือน ควรนอน 12 – 16 ชั่วโมงต่อวัน ทารกบางคนอาจนอนหลับ ในเวลากลางคืนได้ยาวนาน ประมาณ 10 – 12 ชั่วโมง โดยตื่นขึ้นมากินนม 1 – 2 ครั้ง และนอนกลางวัน ประมาณ 3 – 5 ชั่วโมงต่อวัน วันละ 2 – 3 ครั้ง ระยะห่างกัน 1.5 – 2.5 ชั่วโมง
ฝึกให้ลูกนอน
- ให้ลูกเรียนรู้เวลากลางวัน และกลางคืน ทำบรรยากาศให้แตกต่างกัน ในตอนกลางวันอาจเปิดผ้าม่าน หรือเปิดไฟให้สว่าง เปิดเพลงสำหรับเด็ก พอตกกลางคืนก็เปิดไฟสลัว ๆ เงียบ ลูกจะเรียนรู้ที่จะแยกแยะเวลาที่แตกต่างกันได้
- สร้างบรรยากาศให้น่านอน อุณหภูมิไม่ควรร้อน หรือหนาวเกินไป ควรอยู่ที่ 25 – 25 องศา ไฟสลัว ๆ เปิดเพลงกล่อมเด็กเบา ๆ พูดคุยกันเบา ๆ ทำอะไรค่อย ๆ
- ไม่หยอก หรือเล่นกับลูกก่อนนอน การหยอก หรือเล่น จะทำให้ลูกไม่ง่วง และอาจละเมอร้องไห้กลางดึก ทำให้หลับไม่สนิท หากจะพูดคุยกับลูก ควรใช้น้ำเสียงเรียบ ๆ พูดเบา ๆ หรือใช้เสียงโทนต่ำ
- นอนเป็นเวลาอย่างพอดี การนอนตื่นสาย นอนกลางวันเยอะ จะทำให้ลูกไม่ง่วงเมื่อถึงเวลานอนตอนกลางคืน
- ฝึกให้ตื่นและนอนเป็นเวลา ลูกจะเรียนรู้ และค่อย ๆ ปรับตัวได้ในที่สุด
เมื่อรู้ถึงรายละเอียด พัฒนาการทารก 4 เดือน ที่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK นำมาฝากแล้ว คงช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของลูกน้อยกันได้นะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.unicef.org, https://www.si.mahidol.ac.th, https://www.synphaet.co.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Amarin Baby & Kids