อาการของออทิสติก
1.พัฒนาการด้านภาษา ได้แก่
- พูดช้า พูดคำซ้ำๆ พูดด้วยภาษาของตัวเองคนอื่นไม่เข้าใจ เรียกชื่อไม่หัน ไม่เข้าใจคำสั่ง
- พูดติดๆ ขัดๆ พูดด้วยโทนเสียงที่ผิดปกติ หรือพูดเล่นเสียง พูดไม่ชัดมากๆ ตอบไม่ตรงคำถาม
- พูดทวนคำที่คนอื่นพูดจบ พูดตามโทรทัศน์ ทั้งแบบทันที และสักระยะหลังจากได้ยิน
- เข้าใจภาษาแบบตรงไปตรงมาตามตัวหนังสือ ไม่เข้าใจมุกตลก สุภาษิต สำนวน คำพังเพย
2.พัฒนาการด้านสังคม ได้แก่
- ไม่สบตา ไม่มองหน้า ไม่สื่อสารแสดงความต้องการของตัวเอง เช่น ไม่ชี้ไปที่ของที่อยากได้
- ไม่แสดงอารมณ์ทางสีหน้า ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ ดูไร้อารมณ์ ชอบอยู่คนเดียว ชอบเล่นคนเดียว
- ไม่หันหาเมื่อเรียกชื่อ แต่สนใจเสียงอื่นแทน ไม่สนใจฟังเวลาพูดด้วย
- ไม่สนที่จะปฏิสัมพันธ์กับใคร เช่น ไม่ทักใคร ไม่ยิ้มให้ ไม่ยิ้มตอบ วิ่งหนีเมื่อมีคนทัก
- ไม่สามารถพูดคุยกับคนอื่นได้นานๆ ไม่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่มีเพื่อนสนิทตามวัย
- ไม่แสดงท่าทางดีใจเมื่อพบพ่อแม่ เช่น ยิ้ม วิ่งมาหา หรือกอด และไม่ร้องตามเมื่อพ่อแม่จากไป
- ไม่วิ่งมาหาพ่อแม่เพื่อขอความช่วยเหลือหรือให้ปลอบเมื่อได้รับบาดเจ็บ ไม่แสดงความรักกับพ่อแม่
- ไม่เข้าใจสถานการณ์สังคมที่ซับซ้อน ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่เข้าใจความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น
- ไม่รู้จักแบ่งขนม หรือของเล่นให้เด็กคนอื่น ไม่สามารถทำท่าเลียนแบบผู้ใหญ่ เช่น แต่งหน้า หวีผม
3.พัฒนาการด้านพฤติกรรม ได้แก่
- ชอบทำกิจกรรมซ้ำๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เช่น ฟังเพลงเดิมๆ ดูการ์ตูนเรื่องเดิม
- รับการเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยได้ เช่น ต้องใส่รองเท้าคู่เดิมสีเดิมถ้าเปลี่ยนจะร้องไม่ยอมหยุด
- ชองเรียงของให้เป็นระเบียบ เช่น เรียงของเล่นเป็นแถวๆ ดูเป็นเด็กเจ้าระเบียบมากกว่าเด็กทั่วไป
- สนใจวัตถุเฉพาะส่วน เช่น รถยนต์สนใจส่วนล้อที่หมุน พัดลมที่ส่ายไปมา ชอบดูอะไรหมุนๆ
- ไม่เล่นสมมติตามวัย เล่นของเล่นไม่เป็น มักจะเอามาเคาะ โยน ถือ ดม หรือเอาเข้าปาก
- กิจวัตรประจำวันมีแบบแผนเฉพาะ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น กินอาหารชนิดเดิมๆ
- เคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ เช่น สะบัดมือ หมุนตัว เขย่งเท้า โยกตัว โขกศีรษะ ทำร้ายร่างกายตัวเอง
- มีความสามารถสูง มีความสนใจเฉพาะเรื่อง จนกลายเป็นความสามารถพิเศษ สะสมเรื่องที่สนใจ
- ตอบสนองต่อสิ่งเร้ามาก หรือน้อยเกินไป เช่น ไม่สามารถทนเสียงดังได้ หรือชอบทำเสียงดัง
- สนใจต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่คน มักสนใจเสียงอื่นๆ ที่ไม่ใช่เสียงคน
การรักษาออทิสติก
1.ปรับพฤติกรรมและฝึกทักษะทางสังคม เช่น ลดพฤติกรรมซ้ำๆ โดยการให้รางวัล คำชมเมื่อมีพฤติกรรมที่เหมาะสม เพิกเฉยเมื่อเด็กงอแง หรือเบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปยังสิ่งอื่นที่เด็กชอบในขณะที่เด็กงอแง
2.การฝึกพูด เป็นการรักษาที่สำคัญโดยเฉพาะในรายที่มีพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อความหมายล่าช้า การฝึกการสื่อสารได้เร็วเท่าไหร่จะทำให้เด็กเรียนรู้จากการใช้ภาษาได้เร็วเท่านั้น
3.การส่งเสริมพัฒนาการ ส่งเสริมพัฒนาการด้านอื่นที่ล่าช้าควบคู่กับการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร สังคม และการปรับพฤติกรรม
4.การศึกษาพิเศษ จัดการศึกษาที่มีระบบชัดเจน ไม่มีสิ่งเร้ามากเกินไป มีครูการศึกษาพิเศษดูแล โดยวางแผนการศึกษาร่วมกันระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียน จัดกิจกรรมการเรียนการสอนช่วงหยุดเรียน
5.การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาเพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและช่วยให้ฝึกเด็กได้ง่ายขึ้น การรักษาด้วยยาไม่ได้เป็นการรักษาอาการหลักของโรค ยาที่ใช้ ได้แก่ Methylphenidate Risperidone/Haloperidol
อ่านเพิ่มเติมคลิก: “วิจัยชี้ยาโรคซึมเศร้าเพิ่มความเสี่ยงให้ลูกเป็นออติสซึ่ม”
เครดิต: พญ.สุพาพรรณวดี ฟู่เจริญ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, แพทย์หญิง จอมสุรางค์ โพธิสัตย์ วว.จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น