พัฒนาการทารก 2 เดือน คุณพ่อคุณแม่สามารถเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของลูกในวัยนี้ ที่ไม่ได้มีแค่การกิน การนอน และการร้องไห้อีกต่อไป
พัฒนาการทารก 2 เดือน มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร?
ผ่านวัยแรกคลอด 1 เดือนแรก ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 2 ทารกมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ มากขึ้น มีการเจริญเติบโต และมีการตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวได้มากขึ้น มีระยะเวลาในการตื่นนอนยาวนานขึ้น ฉะนั้นทารกจึงมีเวลาเล่นมากขึ้น เป็นโอกาสที่คุณพ่อคุณแม่จะเล่น และมีปฏิสัมพันธ์กับลูก เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อย พัฒนาการทารก 2 เดือน เป็นอย่างไรบ้าง ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้รวบรวมมาให้แล้วค่ะ
พัฒนาการทางด้านร่างกาย
เด็กทารกในวัยนี้ อาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดือนแรกประมาณ 0.7 – 0.9 กิโลกรัม และมีความยาวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 – 3.8 เซนติเมตร ทั้งนี้ทารกเพศชาย อาจมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 5.6 กิโลกรัม และมีความยาวลำตัวตั้งแต่หัวถึงเท้าประมาณ 58 เซนติเมตร ส่วนทารกเพศหญิง จะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 5.1 กิโลกรัม และมีความยาวลำตัวตั้งแต่หัวถึงเท้าประมาณ 57 เซนติเมตร แต่อย่างไรก็ดี ทารกที่มีสุขภาพดีบางคนอาจมีน้ำหนัก หรือความยาวไม่ตรงกับเกณฑ์ดังกล่าว เพราะการเจริญเติบโตของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน และขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
ทารกสามารถมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่ไปมา เพื่อจะจดจำรูปร่าง และลักษณะของวัตถุที่มองเห็น การได้ยินดีขึ้น เริ่มแบมือ กำมือ และเอื้อมมือ เพื่อที่จะหยิบจับสิ่งของรอบตัว แขนขาเริ่มยืดได้ตรงขึ้นเวลานอนหงาย ทารกอาจเริ่มยกศีรษะ และดันลำตัวขึ้นได้ เมื่อคุณพ่อคุณแม่อุ้มพาดบ่า
พัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อ
ทารกจะมีกล้ามเนื้อคอที่แข็งแรงขึ้น เมื่อนอนคว่ำจะเริ่มยกคอได้ และเมื่อประคองให้อยู่ในท่านั่ง จะสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะได้ดีขึ้น การแบมือกับการกำมือ จะเกิดขึ้นพอๆกัน นอกจากนี้ ทารกอาจยืดและใช้กล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวขึ้น โดยทารกอาจจับของเล่นที่นำไปวางไว้บนมือข้างหนึ่งได้ และอาจยืดขาหรือเตะขาได้มากขึ้น
พัฒนาการด้านการสื่อสาร
ทารกจะเริ่มมองเห็น และได้ยินชัดขึ้น อาจทำให้ทารกสามารถจดจำ และแสดงอารมณ์ตอบสนองด้วยการยิ้ม เมื่อรู้สึกชอบหรือพอใจ เริ่มทำเสียงในลำคอได้บ้าง หรือหันศีรษะไปตามเสียง ทั้งนี้ทารกยังคงใช้การร้องไห้เป็นการสื่อสารหลัก หากรู้สึกไม่สบายตัว หิว หงุดหงิด
พัฒนาการด้านการมองเห็น
ทารกอาจมองเห็นสิ่งของและคนได้ ในระยะประมาณ 45 เซนติเมตร และสามารถมองเห็นได้กว้างถึง 180 องศา โดยทารกอาจมองตามคนที่เดินเข้ามาใกล้ นอกจากนี้ ยังชอบมองรูปแบบที่มีความซับซ้อน มากกว่าวัตถุหรือสีเรียบ ๆ อย่างสีขาวดำ ซึ่งแตกต่างจากเด็กทารกอายุ 1 เดือน
พัฒนาการด้านการกิน
สำหรับนมแม่ ควรให้เด็กดื่มนมทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง สำหรับนมผง อาจให้เด็กดื่มนมจากขวดครั้งละประมาณ 120 – 150 มิลลิลิตร หรือ 4 – 5 ออนซ์ ทุก ๆ 3 – 4 ชั่วโมง แต่ไม่จำเป็นต้องปลุกลูกให้ตื่นมากินนม หากเด็กกำลังหลับอยู่ ซึ่งเด็กจะสื่อสารเอง เมื่อหิวนม นอกจากนี้ ไม่ควรให้เด็กดื่มน้ำหรือกินอาหารอย่างอื่น เพราะอาจเป็นอันตรายได้ แต่อาจยกเว้น หากเป็นคำแนะนำของแพทย์
พัฒนาการด้านการนอน
ในวัยนี้ โดยทั่วไปยังคงมีการนอนที่คล้ายคลึงกับทารกวัย 1 เดือน โดยอาจนอนวันละประมาณ 15.5 ชั่วโมง แบ่งเป็นการนอนในเวลากลางคืนประมาณ 8.5 ชั่วโมง และนอนในเวลากลางวันอีกประมาณ 7 ชั่วโมง ซึ่งจะนอนช่วงสั้น ๆ ประมาณ 3 ครั้ง ในวัยนี้ การนอนของทารกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โดยทารกอาจเริ่มเรียนรู้ที่จะหลับได้ด้วยตัวเอง สามารถหลับได้เร็ว ช่วยลูกให้เรียนรู้การนอนได้ด้วยตัวเอง โดยหากลูกส่งสัญญาณว่าง่วง ให้นำลูกนอนลงบนที่นอน ทั้งนี้การนอนของทารกอาจมีความแตกต่างกัน ตามลักษณะนิสัยของทารกแต่ละคน
เคล็ดลับในการดูแลทารก
การเคลื่อนไหวร่างกาย
ในวัยนี้ ทารกต้องการเรียนรู้และฝึกฝน ทางด้านกล้ามเนื้อ การมองเห็น การฟัง และการสื่อสาร จึงควรให้เด็กมีการเคลื่อนไหว เพื่อพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อ อาจบริหารร่างกายให้ทารก เช่น จับขาทารกทำท่าเหมือนถีบจักรยาน โดยทำอย่างเบามือ และฝึกกล้ามเนื้อคอ แขน ขา โดยการวางของเล่นไว้ด้านหน้า เพื่อให้ทารกอยากมอง หรืออยากเอื้อมมือไปจับ
การสัมผัสและการสื่อสาร
คุณพ่อคุณแม่ควรสัมผัสใกล้ชิดกับลูก โดยการกอดและอุ้ม หรืออาจนวดตัวเหมือนวิธีที่นวดกับทารกวัย 1 เดือน นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ อีกด้วย อาจอ่านหนังสือ หรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง จะทำให้ทารกได้เรียนรู้ และจดจำเสียง ทารกอาจมีการตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการสื่อสารและภาษา ซึ่งจะช่วยให้ทารกฝึกออกเสียงได้ในภายหลัง
การปลอบเมื่อทารกร้องไห้
เมื่อทารกร้องไห้ อาจคาดเดาได้ยากว่าทารกต้องการสื่อสารอะไร คุณพ่อคุณแม่แต่ละบ้านก็จะมีเทคนิคที่แตกต่างกันไปในการปลอบลูก เช่น ให้ดื่มนม อุ้ม พาเดินเล่น ร้องเพลงกล่อม ให้ดูดจุกหลอก เปิดเพลง เปิดเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงคลื่นจากทะเล เสียงในป่า เป็นต้น
การหาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก
คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาถึงแหล่งที่มาของข้อมูลต่าง ๆ ก่อนเสมอ ไม่ควรเชื่อในทันที เพราะข้อมูลนั้นอาจมีความคลาดเคลื่อน หรือเป็นข้อมูลเท็จได้ ควรตรวจเช็คข้อมูลจากแหล่งอื่นมาประกอบ เพื่อยืนยันความถูกต้อง หรืออาจสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อความมั่นใจ
การดูแลสุขภาพทารก
ควรพาทารกไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจสุขภาพ และรับการฉีดวัคซีนตามที่กำหนด สำหรับคุณแม่ที่ให้นมบุตร ควรสอบถามแพทย์เกี่ยวกับการป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดกับตน และอาจส่งผลไปถึงทารกได้
วิธีดูแลทารกให้ปลอดภัย
- ไม่ควรเขย่าตัวทารก เพราะกล้ามเนื้อช่วงคอยังไม่แข็งแรงนัก และอาจเป็นสาเหตุให้มีเลือดออกในสมองได้
- ไม่ควรปล่อยให้ทารกนอนคว่ำเพียงอย่างเดียว เนื่องจากทารกยังไม่สามารถพลิกศีรษะและตัวได้เอง อาจทำให้ทารกหายใจลำบาก หรือหายใจไม่ออก ซึ่งอาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้
- หลีกเลี่ยงทารกจากควันบุหรี่
- ระวังทารกสำลักนม
- นำสิ่งของอันตรายให้อยู่ไกลจากทารก เช่น ของร้อน มีด กรรไกร ของมีคมต่าง ๆ
- ควรให้ทารกนั่งคาร์ซีท เพื่อความปลอดภัย หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น โดยติดตั้งที่เบาะหลัง และหันหน้าเข้าหาเบาะ หรือหันหน้าเข้าหาท้ายรถ
- ระวังสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัวทารก โดยทารกอาจนำไปปิดหน้าตัวเองได้ เช่น ผ้าห่ม ผ้าอ้อม ถุงพลาสติก ซึ่งอาจทำให้ทารกหายใจไม่สะดวก หรือหายใจไม่ออก จนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
สัญญาณบ่งชี้ว่าทารกอาจมีพัฒนาการล่าช้า
หากพบอาการดังต่อไปนี้ ควรพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
- ร้องไห้เป็นเวลานาน
- ไม่มองตามวัตถุต่าง ๆ เช่น หน้าคุณพ่อคุณแม่ ของเล่น
- ไม่มีการตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน เช่น หันศีรษะมาตามเสียง ส่งเสียงตอบรับ หรือสะดุ้ง
- ดื่มนมได้น้อย
- กำมือแน่น ไม่คลายมือออก
- กล้ามเนื้อ แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง หรือเกร็งเหยียดผิดปกติ
พัฒนาการทารก 2 เดือน ที่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK รวบรวมข้อมูลมาฝากนี้ คงทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือเรื่องต่าง ๆ ได้นะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
รวมลิงก์ ลงทะเบียนคนท้องรับของฟรี พิเศษสำหรับคนท้องและแม่ลูกเล็ก
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.pobpad.com, https://hellokhunmor.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่