พัฒนาการทารก 5 เดือน ในวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่จะสามารถเห็นบุคลิค และพฤติกรรมของลูกได้ชัดเจนขึ้น ทารกจะมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว
พัฒนาการทารก 5 เดือน เติบโตรอบด้านอย่างไรบ้าง?
ย่างเข้าเดือนที่ 5 คุณพ่อคุณแม่คงหน้าตาสดใสขึ้นบ้าง เนื่องจากลูกจะเริ่มนอนได้นานขึ้นในเวลากลางคืน แถมยังขยันโปรยเสน่ห์ให้คุณพ่อคุณแม่ ยิ้มเก่ง น่ารัก น่าเอ็นดู ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลงใหลได้ปลื้ม ภูมิใจในฝีมือการเลี้ยงลูกมิใช่น้อย พัฒนาการด้านต่าง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง ทีมกองบรรณาธิการ ABK รวบรวมข้อมูล พัฒนาการทารก 5 เดือน มาฝากแล้วค่ะ
พัฒนาการทารก 5 เดือน เติบโตรอบด้านอย่างไรบ้าง?
พัฒนาการทางด้านร่างกาย
น้ำหนัก และส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์ คือ
ทารกเพศชาย น้ำหนักประมาณ 7 กิโลกรัม ส่วนสูงประมาณ 63 เซนติเมตร
ทารกเพศหญิง น้ำหนักประมาณ 6 กิโลกรัม ส่วนสูงประมาณ 62 เซนติเมตร
หากทารกอยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว แสดงว่าทารกมีสุขภาพที่ดี แต่ทั้งนี้ตัวเลขก็เป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น ทารกบางคนอาจมีสุขภาพแข็งแรง แม้มีตัวเลขน้ำหนัก และส่วนสูงไม่ตรงตามเกณฑ์ดังกล่าว
พัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อ
- ทารกสามารถนั่งตัวตรงได้นานขึ้น หรืออาจนั่งโดยไม่ตัองจับได้บ้างเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ดี ควรจะมีหมอนช่วยประคองไว้ด้วย
- สามารถพลิกตัวไป มาได้ จากนอนคว่ำ พลิกมานอนหงาย หรือนอนหงาย พลิกมานอนคว่ำ นอกจากนี้อาจกลิ้งตัวไปรอบห้องได้ ดังนั้นควรระวังอุบัติเหตุ ไม่ควรให้เด็กนอนบนเตียงสูง โดยไม่มีใครดูแล เด็กอาจตกเตียงได้
- ยื่นมือทั้ง 2 ไปจับสิ่งของ และนำเข้าปาก ควรล้างทำความสะอาดสิ่งของ หรือของเล่น ให้แน่ใจว่าปราศจากเชื้อโรค
- สามารถจับขวดนมได้เอง
- สามารถส่งของเล่นจากมือนึงไปอีกมือนึงได้
- กล้ามเนื้อเท้าแข็งแรงขึ้น สามารถลงน้ำหนักที่เท้า เมื่ออุ้มหรือยกตัวขึ้นบนพื้นแข็ง อาจใช้เท้ากระเด้งตัวขึ้น
พัฒนาการด้านการมองเห็น
- ทารกสามารถมองเห็นได้ดีขึ้น แต่ระยะทางที่มองเห็น จะแตกต่างกันในทารกแต่ละคน
- อาการตาเหล่ขณะใช้ตาทั้ง 2 ข้าง มองจุดเดียวกัน จะหายไปในวัยนี้
- ยังคงชอบสีที่เป็นสีหลัก คือ สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง แต่จะสามารถแยกแยะสีได้ดีขึ้น กล่าวคือ นอกจากสามารถแยกแยะสีได้แล้ว ยังสามารถแยกสีเดียวกัน ที่มีความเข้มของสีต่างกันได้
- ชอบดูหนังสือที่มีสีสันสดใส
- สามารถมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่ได้
พัฒนาการด้านการเรียนรู้ และสติปัญญา
- สามารถจำหน้าคน และสิ่งของที่คุ้นเคย ได้จากระยะไกล
- สามารถเรียนรู้ได้ถึงวัตถุที่ยังคงมีอยู่ คือ รู้ว่าวัตถุนั้นมีอยู่ ไม่ได้สูญสลาย หรือหายไปไหน ถึงแม้จะนำไปซ่อน ดังนั้น เมื่อเล่นจ๊ะเอ๋ ทารกจะเข้าใจว่าคนยังอยู่ตรงนั้น ไม่ได้หายไปไหน คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการนี้ได้ โดยการเล่นเกมส์ เช่น นำลูกบอลไปซ่อนใต้ผ้าห่ม แล้วให้ลูกลองหาดู
- เริ่มที่จะเรียนรู้ถึง เหตุและผล เช่น ทารกรู้ว่าถ้าเค้าทิ้งอาหารลงจากเก้าอี้กินข้าว อาหารจะตกลงที่พื้น
พัฒนาการด้านการสื่อสาร
- ในวัยก่อนหน้านี้ ทารกจะเข้าใจความหมายของคำพูดเป็นโทนเสียง แต่ในวัยปัจจุบัน ทารกมีการพัฒนาด้านการฟังมากขึ้น จะสามารถแยกแยะความแตกต่างของเสียงได้ ในไม่ช้า ทารกจะสามารถจำชื่อของตัวเองได้ และหันเมื่อมีคนเรียกชื่อ
- ถึงแม้ทารกจะยังไม่เข้าใจความหมายของคำพูดก็ตาม แต่สามารถทำเสียงอ้อแอ้ต่าง ๆ ได้มากขึ้น หรือเริ่มออกเสียงคำสั้น ๆ ที่มีการผสมของสระ และ พยัญชนะได้
- เริ่มเรียนรู้ถึงเสียงต่าง ๆ เช่น เสียงรถยนต์ เสียงสุนัขเห่า เป็นต้น
- ร้องไห้ด้วยเสียงที่แตกต่าง เพื่อสื่อสารถึงความต้องการที่ต่างกัน เช่น หิว ไม่สบายตัว ง่วง เป็นต้น
- ชอบเล่นกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่เลี้ยงดูใกล้ชิด
- ยกมือทั้ง 2 ขึ้น เพื่อส่งสัญญาณว่าอยากให้อุ้ม
- ยิ้มให้คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ที่คุ้นเคย
พัฒนาการด้านการนอน
ในวัยนี้ทารกยังคงนอนมากกว่าตื่น อาจนอนประมาณ 15 ชั่วโมงต่อวัน โดยนอนกลางคืนประมาณ 10 ชั่วโมง (อาจบวกลบ 2 ชั่วโมง) ทั้งนี้เด็กบางคนอาจตื่นกลางดึกได้ (อาจหิว หรือต้องการให้เปลี่ยนผ้าอ้อม) และนอนกลางวันประมาณ 5 ชั่วโมงต่อวัน วันละ 2 – 3 ครั้ง ทั้งนี้ระยะเวลาการนอนของเด็กแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของตัวเด็กเอง
พัฒนาการด้านการกิน
อาหารที่เหมาะสำหรับพัฒนาการทารก 5 เดือน คือ นมแม่ ผักบด ผลไม้บด เนื้อสัตว์บด เป็นต้น ในวัยนี้ทารกบางคนอาจเริ่มมี ฟันน้ำนม ขึ้นบ้างแล้ว แต่ทารกบางคนอาจมีฟันน้ำนมขึ้นเมื่ออายุ 1 ขวบ หรือบางคนเร็วที่สุด คือ อายุ 3 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม การที่ทารกมีฟันน้ำนมขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ทารกจะพร้อมรับประทานอาหารที่ต้องบดเคี้ยวแล้ว
ในวัยนี้ ทารกยังต้องการอาหารเหลว หรืออาหารอ่อนอยู่ โดยอาหารที่เหมาะสมกับทารก ในการเจริญเติบโต อีกทั้งยังได้รับสารอาหารที่เพียงพอ มีดังนี้
- น้ำนมแม่ ยังคงเป็นอาหารหลักของทารกวัยนี้ เป็นน้ำนมที่ดีทีสุด สำหรับพัฒนาการทารก 5 เดือน มีสารอาหาร และเสริมภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ยังไม่มีนมชนิดใด ที่ให้คุณค่าทางสารอาหารแบบเดียวกันกับนมแม่
- นมผงสำหรับเด็กทารก ควรเลือกสูตรที่ให้สารอาหารครบถ้วน และไม่มีสารที่เป็นอันตรายต่อทารก
- ปริมาณการบริโภคของน้ำนมแม่ หรือนมผงสำหรับเด็กทารก ประมาณ 25 – 35 ออนซ์ต่อวัน ประมาณวันละ 4 – 5 ครั้ง ครั้งละ 6 – 8 ออนซ์
- ผักบด เช่น ถั่วลันเตาบด แครอทบด มันเทศบด ฟักทองบด ผักเหล่าอุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุที่มีประโยชน์ อีกทั้งยังมีโปรตีนและแคลเซียม ที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโต นอกจากนี้ ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ และเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
- ผลไม้บด เช่น กล้วยบด มะละกอบด อะโวคาโดบด แอปเปิ้ลบด ให้สารอาหารจำพวกวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต และระบบภูมิคุ้มกัน
- เนื้อสัตว์บด เช่น เนื้อหมุบด เนื้อไก่บด ตับบด ปลาน้ำจืดบด เช่น ปลาทู ปลาช่อน ช่วยให้ทารกได้รับโปรตีน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และพลังงานให้แก่ทารก
การให้อาหารเสริมแก่ทารก ควรสังเกตว่าทารกพร้อมรับอาหารเสริมหรือยัง เช่น ทารกรู้สึกสนใจอาหารของผู้ใหญ่ ทารกแต่ละคนมีความพร้อมไม่เหมือนกัน ทารกบางคนอาจเริ่มตอน 4 เดือน ปริมาณการบริโภคไม่ควรเกิน 1 ช้อนโต๊ะต่อมื้อ วันละ 1 – 2 ครั้ง ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่อาจปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มให้อาหารเสริมลูก
ทารกเติบโต และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแต่ละเดือน หวังว่าบทความ พัฒนาการทารก 5 เดือน ที่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK รวบรวมข้อมูลมาฝากนี้ จะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ ทำให้เข้าใจพัฒนาการของลูกน้อยในวัยนี้ได้ดียิ่งขึ้นนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.pobpad.com, https://hellokhunmor.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Amarin Baby & Kids