พัฒนาการทารก 6 เดือน ทารกจะเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว สมองด้านซ้ายจะเริ่มสื่อสารกับสมองด้านขวา ซึ่งหมายความว่าทารกจะสามารถประสานการทำงานของร่างกายได้ดีขึ้น
พัฒนาการทารก 6 เดือน เรียนรู้พัฒนาการด้านต่างๆของลูก
เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ครี่งปีแล้วที่ลูกเกิดมา มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย และเดือนนี้ก็เช่นกัน ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้รวบรวมข้อมูล พัฒนาการทารก 6 เดือน มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นถึงพัฒนาการ และความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆของลูกน้อย มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
พัฒนาการทารก 6 เดือน เรียนรู้พัฒนาการด้านต่างๆของลูก
ทารกในวัยนี้เริ่มที่จะเรียนรู้ในการใช้เสียงเพื่อการสื่อสาร และเริ่มทานอาหารแข็ง หรืออาหารเสริมได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทารกบางคนอาจส่งสัญญาณว่าเริ่มทานอาหารเสริมได้ตั้งแต่ 4 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทารกแต่ละคน อาจปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มให้ทารกทานอาหารเสริม
การเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย
ทารกเพศชาย
น้ำหนักเฉลี่ย 7.5 กิโลกรัม
ทารกหญิง
น้ำหนักเฉลี่ย 6.5 กิโลกรัม
ส่วนสูงเฉลี่ย 64 เซนติเมตร
ตัวเลขด้านบนเป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น ทารกบางคนอาจมีน้ำหนักหรือส่วนสูง ไม่ตรงกับตัวเลขดังกล่าว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทารกแต่ละคน เพราะมีการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันไป
นอกจากนี้ ในวัยนี้ทารกอาจเริ่มมีฟันขึ้นแล้ว ซึ่งอาจทำให้ทารกมีอาการเจ็บเหงือก ส่งผลให้ทารกอาจมีเหงือกบวมแดง อยากกัดสิ่งของ เกิดอาการหงุดหงิด งอแง มีน้ำลายไหล หลับไม่สนิท ไม่อยากอาหาร หรือมีไข้ต่ำ
การรับประทาน
ปกติในวัยนี้ทารกจะดื่มนมแม่ทุก 3 – 4 ชั่วโมง ระยะห่างในการดื่มอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน คุณแม่ควรให้ลูกดื่มนมจนอิ่ม และคอยสังเกตว่าน้ำนมจากเต้าใกล้จะหมดหรือยัง อีกทั้งยังต้องสังเกตน้ำหนักตัวของลูกว่าเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมหรือไม่
ปริมาณในการดื่มนมต่อวันประมาณ 740 มิลลิลิตร หรือ 25 ออนซ์ หากต้องการปั๊มนมเก็บไว้ ควรแบ่งให้เท่ากับจำนวนครั้งที่ทารกดื่มต่อวัน ส่วนกรณีที่ทารกดื่มนมผง ปกติทารกจะดื่มประมาณ 6 ครั้งต่อวัน ประมาณครั้งละ 180 – 240 มิลลิลิตร หรือประมาณ 6 – 8 ออนซ์
ในวัยนี้การให้ทารกดื่มนมเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ควรเริ่มให้ทารกฝึกทานอาหารแข็ง หรืออาหารเสริม เพื่อให้ได้รับสารอาหาร นำไปเสริมสร้างการเจริญเติบโต ช่วยทำให้ทารกแข็งแรง และมีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่สมบูรณ์
อาหารเสริมสำหรับทารก 6 เดือน
หากยังไม่เริ่มให้อาหารแข็ง หรืออาหารเสริมแก่ทารกมาก่อน ควรเริ่มเมื่อทารกย่างเข้าสู่เดือนที่ 6 ควรเริ่มให้เด็กทานประมาณ 30 มิลลิลิตรหรือประมาณ 1 ออนซ์ในแต่ละมื้อก่อน แล้วจึงค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้น จนถึงมื้อละประมาณ 90 มิลลิลิตรหรือประมาณ 3 ออนซ์ และไม่ควรให้เด็กทานเกิน 90 มิลลิลิตรต่อวัน ทั้งนี้ควรเป็นอาหารที่มีเนื้อนิ่ม และควรให้อาหารชนิดเดียวเป็นเวลา 7 วัน เพื่อสังเกตว่าลูกมีอาการแพ้หรือไม่ เนื่องจากทารกอาจแพ้อาหารบางชนิด เช่น ไข่ ถั่ว เป็นต้น
- อาหารประเภทแป้ง
อาหารประเภทแป้ง เป็นอาหารที่จัดอยู่ในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานชั้นดี ช่วยทำให้ทารกแข็งแรง แต่ทั้งนี้ควรทานผัก ผลไม้ ร่วมด้วย เพื่อช่วยในการย่อยอาหารของทารก อาหารประเภทแป้งที่เหมาะกับทารกวัย 6 เดือน คือ ข้าว ข้าวต้ม ข้าวโอ๊ต ขนมปัง มันฝรั่ง มันเทศ ข้าวโพด เป็นต้น ทั้งนี้ควรนำมาบด ปั่น หรือผสมกับนม เพื่อให้มีเนื้อนิ่ม เหลว ช่วยให้ทารกทานได้ง่ายขึ้น
- อาหารประเภทโปรตีน
โปรตีน เป็นสารอาหารที่มีส่วนช่วยซ่อมแซมกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ เซลล์ และช่วยนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย นอกจากนี้ยังสร้างแอนติบอดีให้ร่างกายทารกสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อ ลดความเสี่ยงจากการเป็นไข้ เจ็บป่วย อาหารประเภทโปรตีน ได้แก่ ไข่ ถั่ว เต้าหู้ ปลา ไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ทั้งนี้ควรปรุงให้สุก แล้วปั่น บด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ
- ผัก
ผัก มีวิตามิน ไฟเบอร์ สารต้านอนุมูลอิสระ และน้ำ ช่วยเพิ่มพลังงาน บำรุงสายตา และลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งบางชนิด โรคหัวใจ ผักที่เหมาะกับทารก เช่น แครอท ฝักทอง อะโวคาโด บร็อคโคลี่ ผักกาด ผักโขม ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น ทั้งนี้ควรนำไปต้ม หรือนึ่งให้นิ่ม แล้วบด หรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ
- ผลไม้
ผลไม้ เป็นแหล่งรวมวิตามิน แร่ธาตุ โฟเลต โพแทสเซียม และไฟเบอร์ ช่วยทำให้ลำไส้ในทางเดินอาหารแข็งแรง ป้องกันท้องผูก ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ โรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ผลไม้ที่เหมาะกับทารก ได้แก่ กล้วย แอ๊ปเปิ้ล มะละกอ กีวี่ ส้ม สตรอเบอร์รี่ มะม่วง แตงโม แคนตาลูป พรุน ลูกแพร์ เป็นต้น ควรนำมาล้างทำความสะอาด แล้วบด ปั่น หรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ
- ผลิตภัณฑ์จากนม
อาหารที่ทำจาก นมพาสเจอร์ไรส์ เช่น โยเกิร์ต ชีส อาจเหมาะสำหรับลูกวัยตั้งแต่ 6 เดือน ขึ้นไป ทั้งนี้ควรผสมกับอาหารชนิดอื่น ๆ ไม่ควรให้ทานเป็นอาหารมื้อหลักเพียงอย่างเดียว จนกว่าทารกจะอายุ 1 ขวบ
อย่างไรก็ดี ไม่ควรให้ทารกทาน นมเปรี้ยว เพราะเป็นนมที่หมักด้วยแลคโตแบคทีเรียบาซิลลัส (Lactobacillus) ที่ช่วยส่งเสริมในเรื่องระบบขับถ่าย การย่อยอาหาร แต่ก็อาจทำให้ลูกปวดท้อง ท้องร่วง หรือท้องผูกอย่างรุนแรงได้
มื้อแรกที่เริ่มฝึกให้ทารกทานอาหารแข็ง หรืออาหารเสริม ควรให้ปริมาณเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ทารกคุ้นชินกับอาหาร
ในวัยนี้สามารถให้ทารกเริ่มดื่มน้ำเปล่าได้แล้ว แต่ทั้งนี้ไม่ควรให้เกินวันละ 120-180 มิลลิลิตร เพราะอาจทำให้ทารกอิ่มจนไม่ดื่มนม
การนอน
ทารกนอนวันละประมาณ 14-15 ชั่วโมง โดยนอนตอนกลางคืน 10-11 ชั่วโมง และนอนกลางวันรวมทั้งหมดประมาณ 3-4 ชั่วโมง ประมาณ 2-3 ครั้ง
การใช้กล้ามเนื้อ
- ทารกสามารถดันตัวเองขึ้นนั่งได้ โดยใช้มือและหัวเข่า แต่ยังคงต้องระวังทารกล้มขณะนั่งได้
- สามารถโยกตัวไปมาขณะนั่งได้
- พลิกตัวไปมาขณะนอนคว่ำและนอนหงายได้ ทารกบางคนสามารถกลิ้งไปรอบๆได้
- การหยิบจับสิ่งของทำได้ดีขึ้น โดยอาจใช้มือหรือนิ้วดึงสิ่งของเข้ามาหาตัว นอกจากนี้ยังถือสิ่งของและย้ายไปยังมืออีกข้างได้
การมองเห็น
ระยะในการมองเห็นมีการพัฒนาขึ้น โดยทารกสามารถมองพ่อแม่ที่อยู่คนละห้องได้ และยังสามารถมองของที่อยู่ใกล้ได้ เช่น ของบนพื้น
สีตาอาจเปลี่ยนจากตอนแรกคลอด โดยทารกที่มีสีตาอ่อนอาจมีการเปลี่ยนสีหลายครั้ง อาจใช้เวลาประมาณ 6 เดือนสีตาจึงจะคงที่
การสื่อสาร
ทารกอาจยิ้ม หัวเหราะ หรือส่งเสียงสั้นๆได้ ทั้งยังเริ่มจำผู้คนและสิ่งของรอบตัวได้ จึงอาจทำให้ทารกมีท่าทางหวาดกลัวเมื่ออยู่กับคนแปลกหน้า หรือเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ๆ และร้องไห้เมื่อรู้สึกกลัว
พัฒนาการทารก 6 เดือน จะมีการพัฒนาด้านต่างๆเพิ่มมากขึ้น ตามบทความที่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้นำเสนอนี้ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรสังเกตการเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อย ให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์และแข็งแรง
หมอย้ำ 8 ข้อควรรู้ กฎหมายคาร์ซีท “รักลูกอย่ากอด” นั่งคาร์ซีทปลอดภัยกว่า
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.pobpad.com, https://hellokhunmor.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่