พัฒนาการทารก 7 เดือน เป็นช่วงที่ยุ่งของพ่อแม่มากกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากลูกเริ่มเคลื่อนไหวได้มากขึ้น และชอบนำสิ่งของเข้าปาก จึงต้องคอยระวังเป็นพิเศษ
พัฒนาการทารก 7 เดือน วัยแห่งการเล่น สำรวจ เรียนรู้!!
หากทารกยังไม่เริ่มนั่งได้เอง หรือฟันซี่แรกยังไม่เริ่มขึ้น เหตุการณ์เหล่านั้นอาจจะเริ่มเกิดขึ้นในเดือนนี้ได้ นอกจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว ยังมีความเปลี่ยนแปลงด้านใดบ้าง ที่อาจจะเกิดขึ้นในเดือนนี้ ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ พัฒนาการทารก 7 เดือน มาให้แล้วค่ะ
การเจริญเติบโตทางร่างกาย
ในเดือนนี้ ทารกอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนประมาณ 450-560 กรัม และส่วนสูงอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 เซนติเมตร
ทารกเพศชาย
น้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม
ส่วนสูงประมาณ 68 เซนติเมตร
ทารกเพศหญิง
น้ำหนักประมาณ 7 กิโลกรัม
ส่วนสูงประมาณ 66 เซนติเมตร
ทั้งนี้การเจริญเติบโตของทารกแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ทารกที่น้ำหนักและส่วนสูงไม่ตรงตามค่าเฉลี่ยดังกล่าว อาจเป็นทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ได้
ทารกอาจเริ่มมีฟันงอกขึ้น ในช่วงอายุ 5-7 เดือน ลองสังเกตว่าทารกมีอาการร้องไห้งอแงผิดปกติ หรือมีน้ำลายไหลหรือไม่ ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดจากอาการเจ็บเหงือก เพราะฟันจะเริ่มขึ้นนั่นเอง โดยฟัน 2 ซี่ด้านล่างอาจงอกขึ้นก่อน ต่อด้วยฟัน 2 ซี่ด้านบน และฟันด้านข้างควรจะงอกขึ้นมาภายในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า แต่ทั้งนี้ทารกบางคนฟันอาจไม่ขึ้นในช่วงเวลานี้ ทารกบางคนอาจมีฟันงอกขึ้นมาตั้งแต่แรกคลอดได้ หรือบางคนอาจเริ่มมีฟันงอกหลังจากอายุครบ 1 ปีแล้วก็ได้
การรับประทาน
ทารก 7 เดือน ยังคงดื่มนมแม่หรือนมผงเป็นอาหารหลัก สำหรับนมแม่ ทารกจะดื่มทุก 3-4 ชั่วโมง หากคุณแม่ต้องการปั๊มนมเก็บไว้ ควรปั๊มเก็บไว้ประมาณ 740 มิลลิลิตร หรือ 25 ออนซ์ต่อวัน แล้วแบ่งให้เท่ากับจำนวนที่ทารกดื่มในแต่ละวัน สำหรับทารกที่ดื่มนมผง ควรให้ดื่มคร้้งละประมาณ 180-240 มิลลิลิตร หรือประมาณ 6-8 ออนซ์ โดยให้ดื่ม 4-6 ครั้งต่อวัน
ในวัยนี้ทารกบางคนอาจมีฟันขึ้นมาหลายซี่แล้ว การรับประทานอาหารจึงสามารถทานได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่ดื่มนมแม่หรือนมผงเท่านั้น ทารกที่เริ่มทานอาหารบด ผักบด ผลไม้บด ในช่วงอายุ 4-6 เดือน สามารถเริ่มทานอาหารที่แข็งขึ้นมาเล็กน้อยได้ เช่น ผัก ผลไม่ ข้าวสวย เพื่อให้ทารกได้ฝึกการทานอาหารที่มีเนื้อหยาบขึ้น และฝึกการเคี้ยว ควรเริ่มให้อาหารที่มีเนื้อหยาบ 1-2 มื้อต่อวัน อาจเริ่มต้นเพียงเล็กน้อย จนเพิ่มขึ้นถึง 120-180 มิลลิลิตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของทารกแต่ละคน
อาหารที่เหมาะสำหรับทารก 7 เดือน
ธัญพืช
ทารกเริ่มเคี้ยวธัญพืชต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เช่น
- ข้าวสวย
- ฃ้าวกล้อง
- ข้าวบาร์เลย์
- ข้าวโอ๊ต
- ข้าวฟ่าง
- ลูกเดือย
ผัก
อาจนำไปบดหรือต้มจนนิ่มก่อน เพื่อให้ทารกทานได้ง่ายขึ้น เช่น
- ฟักทอง
- แครอท
- อะโวคาโด
- ดอกกะหล่ำ
- หน่อไม้ฝรั่ง
- บร็อคโคลี่
- ผักโขม
- ผักคะน้า
- กะหล่ำปลี
- บวบ
ผลไม้
อาจยังต้องเลือกผลไม้ที่สุกแล้ว หรือมีเนื้อนิ่ม เพื่อทารกจะได้เคี้ยวง่าย หรืออาจนำผลไม้มาบดก่อนได้ เช่น
- กล้วย
- แอ๊ปเปิ้ล
- มะม่วง
- บลูเบอรี่
- กีวี
- ลูกแพร์
- สตรอเบอรี่
- มะละกอ
- ส้ม
- แตงโม
- ลูกพีช
- ลูกพลัม
อาหารประเภทแป้ง
ทารกในวัยนี้สามารถย่อยอาหารประเภทแป้งได้ดีขึ้น และยังมีคาร์โบไฮเดรต ซึ่งจะช่วยสร้างพลังงานให้กับทารกอีกด้วย เช่น
- ข้าว
- ขนมปัง
- พาสต้า
- มันฝรั่ง
- มันเทศ
- ธัญพืชจำพวกข้าวต่าง ๆ
อาหารประเภทโปรตีน
โปรตีน เป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยในการเจริญเติบโตของทารก อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ กระดูก และเสริมพลังงานได้เป็นอย่างดี แต่อาหารประเภทโปรตีนบางชนิดเป็นอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ซึ่งมีเนื้อที่แข็ง จึงควรนำไปต้ม บด หรือปั่น ให้นิ่มก่อน เพื่อง่ายต่อการเคี้ยวของทารก อาหารประเภทโปรตีน เช่น
- เนื้อหมู
- เนื้อวัว
- เนื้อไก่
- ปลา
- ไข่
- ถั่ว
- เต้าหู้
ผลิตภัณฑ์จากนม
ในวัยนี้ทารกสามารถย่อยโปรตีนในนมได้ดีขึ้น จึงสามารถเริ่มดื่มนม หรือทานอาหารที่ผลิตจากนมวัวได้มากขึ้น เช่น
- นมวัวพาสเจอร์ไรส์
- นมแพะ
- นมแกะ
- โยเกิร์ต
- ชีส
การนอน
ทารกวัย 7 เดือน ควรนอนวันละประมาณ 14 -15 ชั่วโมง โดยนอนตอนกลางคืนประมาณ 6 – 11 ชั่วโมง ทั้งนี้ทารกบางคนอาจหลับยาวถึงเช้า แต่บางคนอาจตื่นในเวลากลางคืนได้ และนอนกลางวันรวมทั้งหมดประมาณ 3-4 ชั่วโมง ประมาณ 2 ครั้ง
การใช้กล้ามเนื้อ
- ทารกสามารถนั่งได้เองโดยไม่ต้องประคองหรือมีหมอนหนุน
- อาจยืนทรงตัวได้โดยมีผู้ใหญ่คอยประคองอยู่
- สามารถเอื้อมเอาสิ่งของเข้ามาหาตัว และใช้มือจับไว้ได้
- ถือแก้วน้ำ และยกแก้วน้ำขึ้นมาดื่มเองได้ และอาจทานอาหารจากช้อนได้
- อาจเริ่มคลาน กลิ้ง หรือไถลำตัวไปกับพื้นรอบ ๆ ห้องได้แล้ว หรือทารกอาจใช้หลายวิธีร่วมกัน เพื่อช่วยในการเคลื่อนที่
การมองเห็นและการได้ยิน
ระยะในการมองเห็นพัฒนาขึ้น และสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นภาพสีได้แล้ว นอกจากนี้การได้ยินก็พัฒนาขึ้นเช่นกัน เมื่อทารกได้ยินเสียงพูด อาจรู้ได้ว่าผู้พูดอยู่ตรงไหน และทารกยังอาจพยายามเลียนแบบเสียง และวิธีการพูดอีกด้วย
การสื่อสาร
ความจำจะพัฒนาขึ้นมาก ทารกอาจรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งของต่าง ๆ แม้ว่าตนเองจะมองไม่เห็นสิ่งของนั้นแล้ว โดยสังเกตได้จากการที่ทารกเริ่มโยนสิ่งของลงพื้นแล้วมองตามสิ่งของนั้น
ทารกจะเริ่มเข้าใจความหมายของคำพูดมากขึ้น โดยทารกอาจหันไปหาเสียงที่เรียกชื่อของตนเอง หรือแสดงปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อถูกปฏิเสธแม้จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทุกครั้งก็ตาม นอกจากนี้ทารกอาจพยายามสื่อสารโดยการใช้เสียง อาจส่งเสียงที่แตกต่างกัน เช่น หัวเราะ หรือออกเสียงสั้น ๆ ต่อเนื่องกัน โดยสามารถออกเสียงสระและพยัญชนะได้ เช่น ปะปา มะมา
ทารกอาจสื่อสารอารมณ์ต่าง ๆ โดยการแสดงออกทางใบหน้า และยังเข้าใจความรู้สึกของผู้พูดจากน้ำเสียงและสีหน้าได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังอาจมีอาการติดแม่ หากคุณแม่ต้องออกไปนอกบ้าน อาจต้องรอจนกว่าลูกจะหลับ หรือให้ผู้ที่ช่วยดูแลเบี่ยงเบนความสนใจของทารกไว้ขณะจะออกนอกบ้าน หากลูกร้องไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะทารกจะหยุดร้องเองในเวลาไม่นาน
เคล็บลับการดูแลทารกวัย 7 เดือน
การเลี้ยงดูทารกนั้น ควรเรียนรู้วิธีส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ เพื่อให้ทารกเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง เคล็ดลับต่าง ๆ มีดังนี้
- ให้ทารกนั่งเก้าอี้สูงหรือเก้าอี้ทานข้าว เพื่อให้ทารกได้ร่วมรับประทานอาหารกับครอบครัว และได้ฝึกทารกให้ทานอาหารเองได้
- ชอบเล่นจ๊ะเอ๋ ทารกจะหัวเราะอย่างสนุกสนาน ช่วยพัฒนาทางด้านอารมณ์
- นำผ้าห่มมาปิดลูกบอลหรือตุ๊กตา แล้วเปิดผ้าห่มออก ทารกจะสนุกกับเกมส์ และช่วยทำให้ทารกได้เรียนรู้ถึงการมีอยู่อย่างถาวรของวัตถุสิ่งของ
- นำของเล่นมาวางไว้ในจุดที่ไม่สามารถเอื้อมถึง เพื่อให้ทารกพัฒนาการเคลื่อนไหว โดยพยายามไปหยิบของเล่น
- อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง และอธิบายว่ามีอะไรอยู่ในภาพบ้าง
- เล่น และพูดคุยกับลูกเป็นประจำ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อและภาษา
- ควรใช้ยางกัดหรือผ้าให้ทารกกัด เพื่อบรรเทาอาการเจ็บเหงือกเมื่อเริ่มมีฟันขึ้น ไม่ควรใช้เจลบรรเทาอาการเจ็บเหงือก ที่มีส่วนผสมของสารเบนโซเคน เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้
- หากทารกมีฟันขึ้นแล้ว ควรแปรงฟันทุกวัน โดยใช้แปรงสีฟันเด็กที่ขนนุ่ม และใส่ยาสีฟันเล็กน้อย
- ควรเก็บของมีคม สารเคมี และสิ่งของต่างๆที่เป็นอันตรายต่อทารก เนื่องจากวัยนี้สามารถเคลื่อนที่ได้บ้างแล้ว นอกจากนี้ควรปิดปลั๊กไฟไม่ให้ทารกใช้นิ้วแหย่เข้าไปได้
พัฒนาการทารก 7 เดือนที่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK รวบรวมข้อมูลมาฝากนี้ คงจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่นำไปเป็นคู่มือในการดูแลลูกน้อยกันนะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.pobpad.com, https://hellokhunmor.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่