พัฒนาการทารก 8 เดือน วัยแห่งความอยากรู้อยากเห็น!! - Amarin Baby & Kids

พัฒนาการทารก 8 เดือน วัยแห่งความอยากรู้อยากเห็น!!

Alternative Textaccount_circle
event

พัฒนาการทารก 8 เดือน มีความอยากรู้ในทุก ๆ สิ่งรอบตัว เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ทุกวัน ส่วนการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย และอารมณ์ก็พัฒนาขึ้นมากเช่นกัน

พัฒนาการทารก 8 เดือน วัยแห่งความอยากรู้อยากเห็น!!

เด็กในวัย 8 เดือน พัฒนาการทารก 8 เดือน จะมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ มากขึ้นอย่างชัดเจน ทารกไม่เพียงแค่เรียนรู้โลกรอบ ๆ ตัว โดยการนำสิ่งของเข้าปาก แต่ยังเรียนรู้ถึงการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น และถึงแม้ว่าทารกจะยังไม่เริ่มเดิน แต่คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ถึงขาที่แข็งแรงขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวเดินในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งนี้พัฒนาด้านต่าง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้นำข้อมูลมาฝากแล้วค่ะ

คลานได้คล่อง
คลานได้คล่อง

พัฒนาการด้านร่างกาย

ร่างกายทารกในวัยนี้ จะมีพัฒนาการที่ชัดเจนมาก โดยจะมีน้ำหนักและส่วนสูงเพิ่มมากขึ้น จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 400 กรัมต่อเดือน ทั้งนี้การเจริญเติบโตของทารกแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกัน หากทารกมีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์มาตรฐาน และมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องวิตกกังวลใด ๆ

ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของทารกก็สามารถเพิ่มความสูงได้เช่นกัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมพัฒนาการได้ โดยให้ลูกได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ

ทารกเพศชาย

น้ำหนักประมาณ 7.2 – 9.5 กิโลกรัม

ส่วนสูงประมาณ 65.9 – 73.2  เซนติเมตร

ทารกเพศหญิง

น้ำหนักประมาณ 6.6 – 9 กิโลกรัม

ส่วนสูงประมาณ 64.2 – 72.8 เซนติเมตร

พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ

  • ทารกจะสามารถลุกนั่งเองได้
  • คลานได้คล่อง โดยเฉพาะเมื่อเจอสิ่งที่สนใจจะคลานได้อย่างรวดเร็ว
  • เริ่มเกาะยืนได้บ้างแล้ว โดยใช้เฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ เช่น ตู้ เตียง โต๊ะ ในการพยุงตัวขึ้นยืน คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกเกาะยืนบ่อย ๆ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อขา เตรียมพร้อมสำหรับการเดินในไม่ช้านี้
  • ใช้นิ้วหยิบของชิ้นเล็ก ๆ ได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรระวัง ไม่นำของชิ้นเล็ก ๆ ไว้ใกล้ลูก เพราะอาจหยิบเข้าปาก เป็นอันตรายได้
  • ชี้นิ้วไปที่สิ่งของต่าง ๆ ได้ โดยจะชี้นิ้วเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่หยิบของที่ต้องการให้ หรือชี้ไปที่สิ่งของแปลก ๆ เพราะสงสัย และอยากรู้ว่าคืออะไร

อย่างไรก็ตาม ทารกบางคนอาจคลานช้า แต่หากอายุ 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่เริ่มคลาน หรือคลานด้วยลักษณะที่ผิดปกติ ควรนำทารกไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ นอกจากนี้ การยืนเกาะของทารกบางคนอาจเริ่มช้า อาจเริ่มเมื่ออายุ 9 เดือนได้

พัฒนาการด้านประสาทสัมผัสและการมองเห็น

  • การมองเห็นดีขึ้น สามารถมองเห็นได้ในระยะที่ไกลขึ้น และสามารถแยกความลึกความตื้นของภาพที่เห็นได้ดีขึ้นด้วย
  • สามารถแยกแยะความแตกต่างของรูปร่างหรือพื้นผิวของสิ่งของต่าง ๆ ได้
  • มองตามของที่ตกลงพื้น

พัฒนาการด้านอารมณ์

  • แสดงความรู้สึกต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น จะปรบมือเมื่อรู้สึกตื่นเต้นดีใจ และโบกมือเมื่อจะจากกัน
  • มีอาการติดพ่อแม่ จะรู้สึกกลัว หรือวิตกกังวลหากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่ด้วย ดังนั้น หากมีความจำเป็นต้องให้ลูกอยู่กับผู้อื่น ควรอยู่กับลูกให้ลูกรู้สึกคุ้นเคยกับผู้ที่จะอยู่ด้วยก่อน ส่งสัญญาณให้ลูกรู้ล่วงหน้าว่าพ่อแม่จะไม่อยู่ด้วยสักพัก โดยการหอมแก้ม โบกมือ เป็นต้น แล้วบอกลูกว่าพ่อแม่จะไปไหน และพูดให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่จะกลับมา
  • ในวัยนี้สามารถจดจำใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่และผู้ที่คุ้นเคยได้ ดังนั้นจึงรู้สึกกลัวคนแปลกหน้า จะร้องไห้เสียงดังหรือผลัก หากโดนคนแปลกหน้าอุ้มหรือจับตัว
พัฒนาการทารก 8 เดือน
พัฒนาการทารก 8 เดือน

 พัฒนาการทางภาษาและการเข้าสังคม

  • เริ่มพูดเลียนแบบเสียงคำสั้น ๆ ได้ชัดขึ้น เช่น มะมา ปะปา หม่ำ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาของลูก
  • เข้าใจคำศัพท์ หรือประโยคง่าย ๆ ได้ เช่น นม หม่ำ สวัสดี ลาก่อน เป็นต้น
  • สนใจสิ่งรอบ ๆ ตัวมากขึ้น และสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของกับการกระทำต่าง ๆ หรือผลลัพธ์จากการกระทำของตัวเองได้ เช่น จะรู้ว่าถึงเวลาทานอาหาร เมื่อนั่งอยู่บนเก้าอี้สูง หรือเก้าอี้ทานข้าว และรู้ว่าถึงเวลานอน เมื่ออยู่บนเตียงนอน เป็นต้น

การรับประทาน

ทารกวัย 8 เดือน ยังคงดื่มนมแม่หรือนมผงอยู่ประมาณ 3 – 5 ครั้งต่อวัน ร่วมกับการให้อาหารบดหยาบ อาหารเสริม หรืออาหาร Finger Food

ตัวอย่างอาหารบดหยาบหรืออาหารเสริม และปริมาณอาหารที่ควรได้รับต่อวัน

  • ข้าวบดหยาบประมาณ 4 ช้อนโต๊ะ
  • ไข่ทั้งฟอง สลับกับเนื้อปลา เนื้อหมู หรือเนื้อไก่ 2 ช้อนโต๊ะ
  • ผักสุกบดหยาบ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ สลับผักให้หลากหลาย เช่น แครอท อะโวคาโด ฟักทอง บร็อคโคลี่ ผักโขม เป็นต้น
  • น้ำต้มผักกับกระดูกหมู 1 มื้อ
  • ผลไม้สุกหลังอาหาร เช่น แอ๊ปเปิ้ล กล้วย มะละกอ กีวี มะม่วง แตงโม บลูเบอรี่ เป็นต้น

อาหาร Finger Food คือ อาหารที่มีขนาดพอดีคำ ที่ทารกสามารถหยิบรับประทานเองได้ ช่วยในการฝึกให้ทารกรับประทานอาหารเอง

ในวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ถึงความพร้อมในการรับประทานอาหารด้วยตัวเองของทารก โดยทารกจะเอามือคว้าช้อนที่กำลังป้อนอยู่ หรือคว้าอาหารในจาน ซึ่งการการหยิบอาหารรับประทานเองนี้ จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของทารก

อย่างไรก็ตาม การเลือกอาหาร Finger food ก็ควรระวัง นอกจากอาหารควรจะเป็นชิ้นเล็กขนาดพอดีคำแล้ว ยังต้องพิจารณาถึง ความนิ่ม และความหนืด อีกด้วย ควรระวังทารกสำลัก หรืออาหารติดคอได้

ตัวอย่างอาหาร Finger Food มีดังนี้

  • ไข่กวน ไข่คน หรือไข่ต้มสุก หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ
  • พาสต้าผัดกับเนย น้ำมันมะกอก หรือซอสมะเขือเทศแบบโซเดียมต่ำ หั่นพอดีคำ
  • เต้าหู้หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี
  • ผักนึ่งหรือต้ม เช่น แครอท มันเทศ มันฝรั่ง หั่นพอดีคำ
  • ชีสต่าง ๆ หั่นพอดีคำ
  • ถั่วต่าง ๆ บดพอหยาบให้ทารกสามารถหยิบได้
  • ไก่ชิ้น ปลาชิ้น เนื้อบด หมูบด หั่นพอดีคำ

การนอน

ทารกในวัยนี้ ควรนอนวันละประมาณ 14 ชั่วโมง โดยนอนตอนกลางคืนประมาณ 10 -11 ชั่วโมง ทั้งนี้ทารกบางคนอาจหลับยาวถึงเช้า และนอนกลางวันรวมทั้งหมดประมาณ 3-4 ชั่วโมง ประมาณ 2 ครั้ง

วิธีดูแลทารก 8 เดือน

การดูแลทารกในวัยนี้ ซึ่งเป็นวัยเริ่มคลาน และเริ่มฝีกเกาะยืน จึงควรต้องมีความระมัดระวังดังนี้

  • ทำความสะอาดพื้นอยู่เสมอ และเก็บของต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก เช่น สารเคมี ของชิ้นเล็ก ๆ เพราะทารกอาจนำเข้าปากได้
  • ปิดรูปลั๊กไฟ ป้องกันทารกเอานิ้วแหย่เข้าไป
  • ควรปิดประตูห้องต่าง ๆ ให้สนิท ติดประตูกั้นบันได ป้องกันทารกปีนขึ้นบันได เพราะอาจตกลงมาจากบันไดได้
  • ปิดที่ปิดลิ้นชัก กันทารกเปิดลิ้นชักแล้วร่วงทับตัว
  • ไม่ควรให้ทารกดูโทรทัศน์เป็นเวลานาน ควรเปิดเพลง ร้องเพลง อ่านนิทาน เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นตบมือ เล่นจับปูดำ หรือพูดคุยแทน เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

ทั้งหมดนี้คือ พัฒนาการทารก 8 เดือน ที่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK รวบรวบข้อมูลมานำเสนอให้แก่คุณพ่อคุณแม่ เพื่อสังเกตถึงพัฒนาการของลูกน้อยว่ามีพัฒนาการที่สมวัยหรือไม่

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ตาแฉะ ทารกตาแฉะ ขี้ตาเป็นหนอง ปล่อยไว้อาจเป็นโรคนี้!!

ศีรษะทารกแรกเกิด บวมโนอันตรายไหม? จะยุบเมื่อไหร่?

เข้าใจ “เดอะวันเดอร์วีค” รับมือลูกงอแงแบบไม่มีสาเหตุ!

ลูกชอบมองเพดาน หัวเราะคนเดียว ทำท่าทางแปลกๆ ผิดปกติไหม?

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.pobpad.com, https://www.sanook.com, https://www.synphaet.co.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up