เด็กทารก จากแรกคลอดถึงอายุ 1 ปี มีความเจริญเติบโต และพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ทารกแต่ละคนจะมีการพัฒนาที่แตกต่างกันไป บางคนอาจช้าหรือเร็วในแต่ละด้านไม่เท่ากัน
เด็กทารก พัฒนาการแต่ละช่วงวัย จากแรกเกิด – อายุ 1 ปี
พัฒนาการเด็กแรกเกิด 0-12 เดือน จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆของ เด็กทารก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเริ่มเดินได้ ทารกจะมีพัฒนาการใหม่ๆทุกเดือน ทั้งนี้พัฒนาการด้านต่างๆของทารกแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ พัฒนาการทางร่างกาย พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา และพัฒนาการด้านสังคม ซึ่งทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้รวบรวมข้อมูล พัฒนาการด้านต่างๆของทารก มาให้คุณพ่อคุณแม่ในวันนี้แล้วค่ะ
เด็กทารก พัฒนาการแต่ละช่วงวัย จากแรกเกิด – อายุ 1 ปี
พัฒนาการทารกในแต่ละช่วงวัย
พัฒนาการแต่ละวัย ทารกแต่ละคนจะมีพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญาและภาษา และด้านสังคม แตกต่างกันไปตามช่วงวัย อย่างไรก็ดี พัฒนาการทารกในช่วงตั้งแต่แรกคลอดถึงอายุ 1 ปี มักเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ดังนี้
ช่วงวัย 1-3 เดือน
พัฒนาการทารกเริ่มตั้งแต่แรกคลอดจนถึงอายุ 3 เดือน ถือเป็นช่วงที่ร่างกายและสมองของทารกเริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับโลกภายนอก ทารกจะเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- พัฒนาการทางร่างกาย
- เมื่ออายุครบ 1-2 เดือน เด็กจะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายได้บางส่วน ซึ่งเริ่มจากกล้ามเนื้อคอ เด็กจะเริ่มหันศีรษะจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้าน หรือชันคอขึ้นเมื่อนอนคว่ำท้องแนบพื้น โดยท่านอนคว่ำที่ใช้ท้องพยุงช่วยนี้แสดงให้เห็นว่าเด็กเริ่มมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายที่ปกติตามวัย เมื่ออายุครบ 2-3 เดือน เด็กจะชันคอเองได้นานขึ้น โดยตั้งศีรษะหรือคอค้างไว้สักพักหนึ่ง
- กำและแบมือ
- สัมผัสและจับสิ่งของได้ โดยอาจหยิบฉวยมาถือไว้แน่น
- พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
- จ้องหน้า สบตาและสังเกตใบหน้ามารดาขณะที่ให้นม รวมทั้งสังเกตความซับซ้อนของลักษณะสิ่งของ เช่น สี ขนาด รูปร่าง ทั้งนี้ ทารกจะชอบมองมือหรือเท้าตัวเองและเริ่มเล่นนิ้วมือ
- เมื่ออายุครบ 2 เดือน เด็กจะเล่นนิ้วตัวเอง และมองตามสิ่งของที่เคลื่อนจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง และเมื่ออายุครบ 3 เดือน เด็กจะมองสิ่งต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวไปมารอบตัว
- มีปฏิกิริยาต่อเสียงที่ได้ยิน โดยอาจนิ่งฟังหรือยิ้มตอบ ซึ่งมักเกิดขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์
- เมื่ออายุครบ 3 เดือน จะสนใจรูปร่างหรือเสียงที่ดึงดูดความสนใจ รวมทั้งหันมองตามเสียงนั้น
- หัดพูดอ้อแอ้
- พัฒนาการด้านสังคม
- เมื่อพ่อแม่คุยหรือเล่นด้วย ทารกอาจยิ้มตอบ หรือพูดอ้อแอ้และเป่าน้ำลายเป็นฟอง
- เลียนแบบสีหน้าของพ่อแม่ รวมทั้งโผเข้าหาพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงเมื่อต้องการความปลอดภัย ความรัก และการปลอบโยน
ช่วงวัย 4-6 เดือน
ทารกในช่วงวัยนี้จะเริ่มรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว เด็กจะเรียนรู้และต้องการจัดการทุกสิ่งด้วยตัวเอง โดยพัฒนาการทารกช่วงวัย 4-6 เดือน เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ดังนี้
- พัฒนาการทางร่างกาย
- ขยับแขนขาแรงขึ้น
- ยกศีรษะขึ้นเองได้เมื่อต้องนอนคว่ำหน้า
- ใช้แขนยันตัวเองขึ้นมาได้เมื่อต้องนอนคว่ำหน้า
- เมื่ออายุครบ 4 เดือน เด็กจะเริ่มพลิกคว่ำพลิกหงาย โดยกลิ้งตัวจากหน้ามาหลัง และกลิ้งกลับจากหลังไปหน้าได้ โดยมักกลิ้งจากหน้าไปหลังได้ก่อน
- เอื้อมมือจับของและนำมาถือไว้ในท่านอนหงายได้ รวมทั้งเริ่มหยิบของเข้าปากตัวเอง
- เรียนรู้การส่งของจากมือข้างหนึ่งไปยังอีกมือข้างหนึ่ง รวมทั้งใช้มือคุ้ยของชิ้นเล็ก ๆ
- เมื่ออายุครบ 6 เดือน นั่งได้เองโดยไม่ล้ม โดยจะใช้มือช่วยพยุงตัวเองชั่วครู่ในช่วงแรก และต่อมาจะนั่งได้เองนานถึง 30 วินาที และมากขึ้นเรื่อย ๆ
- พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
- แยกความแตกต่างของใบหน้าคนแปลกหน้าและคนที่รู้จักได้
- เริ่มให้ความสนใจกับของเล่น สังเกตนิ้วมือและเท้าของตัวเอง รวมทั้งมองเงาสะท้อนของตัวเอง
- หัวเราะออกมาเสียงดัง และยังพูดอ้อแอ้
- เลียนแบบการแสดงสีหน้าและเสียงของพ่อแม่ ทั้งนี้ ทารกอาจพูดอ้อแอ้และหยุดเว้นช่วง เพื่อรอให้คนที่ตัวเองสื่อสารด้วยโต้ตอบกลับมา
- พัฒนาการด้านสังคม
- รู้สึกสนุกเมื่อได้เล่น และจะร้องไห้เมื่อหยุดเล่น
- เลียนแบบการเล่นทำเสียงได้
- มักโผเข้าหาแม่หรือพ่อ และจะร้องไห้ทุกครั้งเมื่อไม่เห็นพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงอยู่ใกล้ ๆ
- จดจำใบหน้าพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดได้ รวมทั้งรู้จักชื่อของตัวเอง
ช่วงวัย 7-9 เดือน
ทารกในช่วงวัยนี้จะมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่มากขึ้น เมื่อเริ่มเคลื่อนไหวและกลิ้งตัวได้มากขึ้น ทารกจะคิดหาวิธีเคลื่อนไหวไปข้างหน้าหรือข้างหลัง โดยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทาง พัฒนาการ ดังนี้
- พัฒนาการทางร่างกาย
- เคลื่อนไหวไปมามากขึ้น โดยเริ่มจากหัดคลาน และไถก้นไปกับพื้น ทั้งนี้ เด็กอาจหัดคลานโดยใช้แขนและขาช่วยนอกเหนือไปจากการคลานด้วยมือหรือเข่า อย่างไรก็ตาม ทารกบางคนอาจไม่คลานเลย แต่จะหัดเคลื่อนไหวจากการไถก้นไปกับพื้นไปจนถึงเริ่มเดินได้
- นั่งได้เองโดยไม่ล้ม
- หมุนกลิ้งได้ทั้งจากหน้าไปหลัง หรือจากหลังมาหน้า รวมทั้งกลิ้งตัวขณะที่หลับอยู่
- ดึงตัวเองให้ลุกขึ้นมายืนได้
- มักปีนป่ายเก้าอี้หรือโต๊ะ
- เรียนรู้การใช้นิ้วมือ รู้จักหยิบของด้วยนิ้วสองนิ้ว รวมทั้งเริ่มปรบมือเป็น
- ปีนป่ายและคลานได้
- พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
- มีปฏิกิริยาต่อถ้อยคำที่คุ้นเคย โดยเด็กอาจหยุดหรือจ้องหน้าแม่ หากได้ยินคำว่า “ไม่” รวมทั้งหันมองเมื่อได้ยินคนเรียกชื่อตัวเอง
- แยกอารมณ์ความรู้สึกได้จากการฟังน้ำเสียง
- เริ่มเปล่งเสียงพูดคำว่า “พ่อ” หรือ “แม่” ได้
- รู้จักเรียนรู้การใช้สิ่งของต่าง ๆ
- พัฒนาการด้านสังคม
- เล่นเกมที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น เล่นจ๊ะเอ๋
- กังวลเมื่อต้องอยู่กับคนแปลกหน้า เด็กจะไม่อยากอยู่กับคนอื่นนอกจากแม่ หรือจะหาทางหนีไปที่อื่นหากรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ใกล้ ๆ
- มีปฏิกิริยาต่ออารมณ์ความรู้สึกที่พ่อแม่แสดงออกมา
ช่วงวัย 10-12 เดือน
ช่วงสุดท้ายของพัฒนาการทารกในช่วง 1 ปีแรกนี้ นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของทารก เนื่องจากทารกอายุ 10-12 เดือน กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นเด็กเล็กหัดเดินได้ ทารกจะมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ดังนี้
- พัฒนาการทางร่างกาย
- เกาะราวและลุกขึ้นยืนได้เอง และอาจเดินก้าวแรกได้ด้วย โดยเด็กจะก้าวได้เองเมื่ออายุครบ 12 เดือน
- เริ่มเดินเตาะแตะเพื่อสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ไปทั่วบ้าน
- ปีนป่ายตามเก้าอี้หรือโต๊ะ ซึ่งช่วยกระตุ้นการเดินของเด็ก
- วางของเล่นเรียงซ้อนกัน
- เปิดหนังสือไปหน้าอื่นขณะที่พ่อแม่กำลังอ่านอยู่
- มักช่วยพ่อแม่แต่งตัวให้ตัวเอง
- เริ่มหยิบอาหารกินเอง
- พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
- ส่งเสียงอ้อแอ้และพูดคำง่าย ๆ ได้ เช่น คำว่า “หม่ำ ๆ” “มามา” “ปาปา” หรือ “ดาดา” ได้
- มักพูดคำที่พูดได้บ่อยอยู่ 2-3 คำ ซึ่งมักเป็นคำว่า “หม่ำ ๆ” “มามา” และ “ปาปา”
- เลียนแบบการกระทำของผู้ใหญ่ เช่น หวีผมตัวเอง กดรีโมตเล่น หรือทำเป็นคุยโทรศัพท์ เป็นต้น
- ชี้ไปที่สิ่งของที่อยากได้เพื่อให้พ่อแม่สนใจ
- เข้าใจประโยคบางประโยคที่คนใกล้ชิดสื่อสารออกมา รวมทั้งทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้
- เปล่งเสียงอุทานออกมาได้
- โบกไม้โบกมือ หรือชี้นิ้วไปยังสิ่งของที่อยู่เกินเอื้อม
- พัฒนาการด้านสังคม
- รู้จักแสดงความรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบกินอะไร เช่น ทิ้งช้อนไม่กินข้าวต่อ หรือเลื่อนจานอาหารที่ไม่ชอบออกไป
- ชอบเล่นเลียนแบบผู้ใหญ่ เช่น เลียนแบบการคุยโทรศัพท์
- รู้ความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลลัพธ์ เช่น เด็กจะรู้ได้ว่าหากร้องไห้ แม่จะมาหา
วิธีดูแลความปลอดภัยของทารก
พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทารก และดูแลทารกให้ปลอดภัยได้ โดยวิธีดูแลทารกให้ปลอดภัยทำได้ ดังนี้
- ไม่เขย่าตัวทารก เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อสมองหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต
- ควรให้เด็กนอนหลับในท่านอนหงาย เพื่อป้องกันภาวะเสียชีวิตเฉียบพลันในเด็กทารก (Sudden Infant Death Syndrome: SIDS)
- ไม่ควรให้เด็กได้รับอันตรายจากควันบุหรี่จากคนที่สูบบุหรี่
- ควรให้เด็กนั่งเบาะหลังโดยใช้ที่นั่งสำหรับเด็กทารกโดยเฉพาะเมื่อต้องโดยสารรถยนต์
- ควรตัดอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ และเลี่ยงให้เด็กกินผลไม้ที่มีเมล็ดหรือถั่วต่าง ๆ เพื่อป้องกันไอาหารติดคอ รวมทั้งไม่ให้เด็กเล่นของเล่นที่มีชิ้นส่วนเล็ก ๆ เพื่อป้องกันเด็กเอาเข้าปากและกลืนลงคอ
- ไม่ถือของร้อนเข้าใกล้เด็ก
- ควรพาเด็กไปรับวัคซีนป้องกันโรคให้ครบอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้ทราบถึงพัฒนาการของ เด็กทารก จากแรกเกิดถึง 1 ปี ที่ทีมกองบรรณาธิการ ABK นำมาฝากในวันนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า พัฒนาการแต่ละวัย ของลูกเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพลาดนะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.pobpad.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่