คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มต้นส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อยของคุณเองได้ โดยเริ่มจากเรื่องแรก ที่เป็นเรื่องที่กำลังก่อให้เกิดปัญหาในวงกว้างในปัจจุบัน คือ การงดจอก่อน 2 ขวบ งดให้ลูกดูทีวี เล่นเกม เล่นโทรศัพท์มือถือ เพราะมีประโยชน์น้อยเป็นการสื่อสารทางเดียว ส่งผลให้ลูกของคุณนั่งนิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหว ไม่ได้ใช้ความคิด หรือลงมือทำ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรใช้เวลาทำกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการจะได้ประโยชน์กับลูกมากกว่า
แนวทางที่ช่วยส่งเสริม และกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
ปัญหาพัฒนาการล่าช้าในเด็กสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการบำบัดและการกระตุ้นพัฒนาการรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบำบัดด้านการพูด กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การบำบัดด้านความคิด พฤติกรรม รวมทั้งการฝึกทักษะในการเข้าสังคม แต่โอกาสที่จะหายมีอัตราที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ความสม่ำเสมอในการบำบัด และความร่วมมือของคนในครอบครัว
บำบัดด้านการพูด
การส่งเสริมหรือกระตุ้นพัฒนาการด้านการพูดนั้น พ่อแม่ และผู้ปกครองสามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง เช่น พูดตอบโต้กับลูก โดยการพูดช้า ๆ และออกเสียงให้ชัด เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ไปด้วย หรืออ่านนิทานให้ฟัง หากพัฒนาการด้านภาษาของเขายังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์จะมีขั้นตอนการบำบัดหรือกระตุ้นพัฒนาการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุและปัญหาที่เกิดขึ้น
กายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัดร่วมกัน
การกายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัด เป็นวิธีการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ๆ ที่มีปัญหาพัฒนาการด้านร่างกาย และทักษะการใช้ชีวิตอื่น ๆ โดยแพทย์จะแนะนำให้ทำกายภาพบำบัด เพื่อช่วยให้เขามีการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมตามช่วงวัย นอกจากนี้ ยังเน้นการปรับทักษะการใช้ชีวิตอื่น ๆ เช่น สอนให้ผูกเชือกรองเท้าด้วยตัวเอง หรือสอนให้วาด เขียน และระบายสี เป็นต้น ที่สำคัญยังเน้นการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและกระตุ้นพัฒนาการของกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยเสริมในการควบคุมร่างกายและทรงตัวให้เกิดความสมดุล รวมถึง สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น
ฝึกทักษะในการเข้าสังคม และการปรับตัว
การบำบัดด้านสังคมเป็นการบำบัดกลุ่มเด็กที่มีปัญหาในการเข้าสังคม และการควบคุมอารมณ์ เช่น รู้สึกโกรธ โมโห หรือสมาธิสั้น โดยมักจะมีนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ร่วมกันวิเคราะห์และเลือกกิจกรรมบำบัด ที่เหมาะสมกับปัญหาและช่วงอายุ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการให้เด็ก ๆ สามารถควบคุมตัวเอง และสื่อสารออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยที่ไม่สร้างปัญหาให้กับผู้อื่น นอกจากนี้ นักบำบัดอาจขอความร่วมมือจากคนในครอบครัวของเด็ก ๆ เพื่อช่วยให้การบำบัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม
การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม เป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่เน้นการพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงพฤติกรรมและความคิดที่อาจจะเข้าใจผิด โดยแพทย์จะพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหา และการรับรู้ที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับระบบความคิด อารมณ์ได้ และส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ปกติ
ที่มา : https://www.synphaet.co.th
เทคนิคดี ๆ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการลูก
Tummy Time (สำหรับเด็กทารกวัย 3 เดือนขึ้นไป)
“ให้คุณพ่อคุณแม่นอนเอนตัวประมาณ 45 องศา แล้ววางตัวเด็กให้ท้องชนท้อง มือหนึ่งประคองหลัง อีกมือประคองก้น ท่านี้เป็นการบังคับให้เด็กพยายามยกตัวขึ้นมา จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อคอ หลัง และยังสามารถกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาได้ด้วย เพราะระหว่างที่ทำ คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยกับเด็กไปด้วยได้ ทำเสียงสูง ต่ำ ให้เขาสนใจกับเสียงพูดของเรา”
อ่านนิทานร่วมกัน (สำหรับเด็กเกิน 4 เดือนขึ้นไป)
เสียงของคุณพ่อคุณแม่เป็นเครื่องมือช่วยกระตุ้นพัฒนาการลูกได้เป็นอย่างดี คุณหมอแนะนำให้เริ่มอ่านหนังสือให้เขาฟัง เด็กอายุ 4-12 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรจะเลือกหนังสือที่เป็นผ้าหรือเป็นยาง ที่ไม่ทำอันตรายต่อเด็ก ไม่มีมุมแหลมคม ฉีกไม่ได้ ส่วนรูปภาพก็จะเน้นรูปสัตว์ตัวใหญ่ ๆ เช่น ยีราฟ สิงโต คอยชี้ให้เด็กดู ให้เขามีส่วนร่วมในการจับ ในการเปิดหน้าหนังสือ อาจจะมีการทำท่าเลียนแบบให้ดูด้วยก็ได้ เช่น ท่ากระต่าย ท่าแมวมีหนวด หรือทำเสียงสูงต่ำให้เด็กรู้สึกสนใจ
ที่มา : นายแพทย์กิตติศักดิ์ สุรประยูร กุมารแพทย์ รพ. สุขุมวิท
หัดเดินด้วยเท้าเปล่า
การเดินด้วยเท้าเปล่า เป็นการกระตุ้นให้เด็กใช้กล้ามเนื้อขาและข้อเท้า และการเดินเท้าเปล่ายังช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะทรงตัว และทำความคุ้นเคยเกี่ยวกับการทำงานประสานงานต่าง ๆ ของอวัยวะต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยให้ลูกรู้สึกคล่องตัว เด็กบางคนไม่ชอบใส่รองเท้า หรือมัวพะวงกับรองเท้า ทำให้ไม่ยอมเดิน หรือวางเท้าแนบพื้น เดินเขย่ง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการฝึกเดินของลูกน้อย แต่ข้อควรระวัง คือ คุณพ่อคุณแม่ควรหาพื้นที่สะอาด เมื่อลูกน้อยหัดเดินจากเท้าเปล่า
ไม่ให้สื่อ สอนลูกพูด
เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี การพูดสามารถเรียนรู้ได้จาก “คน ” จริงๆเท่านั้น โดยสอนผ่านการเล่นและชีวิตประจำวัน ** ไม่สามารถเรียนรู้จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ** เด็กที่ดูสื่อ คุณพ่อคุณแม่อาจจะดีใจที่เด็กพูดได้ บางคนอาจพูดเป็นภาษาอังกฤษตามที่ดูมาด้วย แต่!! ถ้าสังเกตดูดีๆ ลูกจะพูดไม่ตรงกับสถานการณ์นะคะ เช่น เห็นหน้าหมอพูดว่า apple ซึ่งเราไม่ต้องการการพูดในลักษณะนั้น หรือบางคนอาจมาเป็นภาษาต่างดาวเลยก็พบบ่อย เพราะเด็กฟังคำศัพท์ตามในสื่อไม่ทัน
ที่มา : พ.ญ.มุทิตา ช่างภิญโญ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก รพ. บางปะกอก 9
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
พ่อแม่สำรวจตัวเองด่วน เป็นพ่อแม่สำเร็จรูป…สาเหตุลูกพัฒนาการช้า
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่