โรคมะเร็งจอตาคืออะไร?
โรคนี้คือ โรค/ภาวะ ตาวาว หรือ ลิวโคโคเรีย (Leukocoria) ได้แก่ โรคที่ทำให้การสะท้อนแสงภายในลูกตาผิดปกติ จึงเห็นเป็นตาวาวขึ้นโดยเฉพาะในที่มืด โดยชื่อโรคมาจากคำว่า Leuko แปลว่า สีขาว Coria แปลว่า รูม่านตา เมื่อสองคำรวมกันจึงหมายความว่า ภาวะเป็นสีขาวบริเวณรูม่านตา ซึ่งลักษณะที่เห็นจะเหมือนดวงตาของแมวเวลาค่ำคืน ที่ฝรั่งเรียกว่า Amaurotic cat eye (อะเมาโรติก แคท อาย หรือ ตาแมวตอนกลางคืน) เห็นเงาสะท้อนดูเป็นแสงแวววาวออกจากรูม่านตาบริเวณกลางตาดำ อาจจะมองเห็นเพียงจากด้านใดด้านหนึ่งหรือทุกทิศทาง อาจเป็นตลอดเวลาหรือเห็นเป็นบางครั้งก็ได้
จากสถิติพบว่า ทั่วโลกมีเด็กป่วยมะเร็งจอตา 8,000 รายต่อปี ส่วนประเทศไทยพบประมาณ 40 รายต่อปี โรคตาวาวเป็นโรคมักเกิดในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี พบได้ในเด็กเกิดใหม่ 1 ต่อ 18,000 – 20,000 เด็กหญิงและเด็กชายพบได้ใกล้เคียงกัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาเด็กจะเสียชีวิตภายใน 1-2 ปี หลังอายุ 7 ปี ไปแล้วจะพบน้อยมาก
สาเหตุของโรคมะเร็งจอตา
สาเหตุของโรคเกิดได้ทั้งจากพันธุกรรม ความผิดปกติในการแบ่งตัวของเซลล์จอตา และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยพบว่าหากครอบครัวมีประวัติ เด็กก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โรคมะเร็งจอตาร้อยละ 40 จะเป็นทั้งสองข้าง ประเภทนี้มักเกิดจากพันธุกรรม และร้อยละ 60 จะเป็นเพียงข้างเดียว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สูตรหาความเสี่ยงสำหรับพ่อแม่ในการพิจารณามีบุตรคนต่อไป
เนื่องจากมะเร็งจอตามีทั้งชนิดที่เป็นกรรมพันธุ์ และชนิดที่ไม่ได้เป็นกรรมพันธุ์ จึงได้มีผู้พยายามศึกษาถึงแนวโน้มการถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานของมะเร็งชนิดนี้ และพบว่า
- พ่อแม่ปกติ มีบุตรเป็นมะเร็งจอตา 1 คน โอกาสที่บุตรคนต่อไปจะเป็น = 6%
- พ่อแม่ปกติ มีบุตรเป็นมะเร็งจอตา 2 คน บุตรคนต่อไปมีโอกาสเป็น = 50%
- ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากมะเร็งจอตา และมีประวัติในครอบครัว มีโอกาสที่บุตรจะเป็น = 50%
- ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากมะเร็งจอตา แต่ไม่มีประวัติครอบครัว มีโอกาสที่บุตรเป็นโรค = 12.5%
โดยมะเร็งจอตามีลักษณะที่แตกต่างจากมะเร็งชนิดอื่นๆ ดังนี้
- อาจเป็นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพราะในบางครั้งจะตรวจพบทันทีในเด็กแรกเกิด
- เป็นมะเร็งอันแรกที่พิสูจน์ว่าถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แม้มะเร็งอื่นๆ จะพบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ส่วนใหญ่พิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่าถ่ายทอดแบบใด ขณะที่มะเร็งจอตาจะมีการถ่ายทอดแบบปมเด่น (dominant gene) และชี้ลงไปได้ว่ามีความผิดปกติที่โครโมโซม 13
- อาจพบพร้อมกันมากกว่าหนึ่งแห่ง โดยไม่ใช่การแพร่กระจายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เช่น พบเนื้องอกขนาดใกล้เคียงกันในตา 2 ข้าง
- มีโอกาสเกิดมะเร็งชนิดอื่น เมื่อรักษามะเร็งจอตาหายดีแล้ว หรือเป็นซ้อนขึ้นมาในขณะกำลังรักษา
- หายได้เอง (spontaneous regression) อันนี้ถือว่าเป็นข้อดีกว่ามะเร็งชนิดอื่น หรือที่เรียกกันว่าปาฏิหาริย์ เพราะขณะที่มะเร็งอื่นมีอัตราการหาย 1:80,000 แต่อัตราการหายได้เองของมะเร็งจอตาจะ อยู่ที่ 1:100 โดยจะเห็นเป็นรอยฝ่อของมะเร็งจอตาในบิดาหรือมารดาผู้ป่วย ที่ไม่เคยมีรายงานพบเห็นอยู่ประปราย