เราหัดให้ลูกดื่มของเหลวโดยไม่ใช้ขวดดูดได้ตั้งแต่แรกเกิดค่ะ เช่น การจิบดื่มจากแก้วและการป้อนโดยใช้ช้อน การให้ทารกดูดนมจากขวดเป็นเพียงวิธีที่เราคุ้นเคยและสะดวกรวดเร็วที่สุดเท่านั้นเอง คุณแม่บางท่านที่มีปัญหาน้ำนมแม่มาช้ามากๆ และลูกจำเป็นต้องได้รับนมเสริมเนื่องจากน้ำหนักตัวลดลงมากผิดปกติ
หมอจะแนะนำว่าอย่าให้ลูกดูดนมจากขวดเพื่อป้องกันปัญหาสับสนหัวนม แต่ให้ใช้วิธีจิบดื่มจากแก้วหรือใช้ช้อนตักป้อน โดยจับตัวลูกตั้งขึ้น ใช้มือซ้ายของคนป้อน (ถ้าเป็นคนถนัดขวา) ประคองช่วงคอไว้ แล้วใช้มือขวาจับแก้วนมหรือใช้ช้อนป้อน เด็กทารกจะสามารถตวัดลิ้นออกมารับนมเข้าปากได้ และเมื่อฝึกฝนบ่อยๆ ทั้งคนป้อนและเด็กก็จะเกิดความชำนาญจนทำได้เร็วขึ้น พออายุประมาณ 4 – 5 เดือน เด็กจะมีช่วงคอและหลังที่แข็งแรง ทรงตัวได้ดีขึ้น คุณแม่อาจจับให้ลูกนั่งแบบมีที่พยุงกันล้ม เด็กบางคนจะเริ่มเอามือมาประคองแก้วได้บ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นกระดกแก้วได้เอง
หลังอายุ 6 เดือน เด็กจะนั่งทรงตัวได้ดีขึ้นและกระดกแก้วเองได้ คุณแม่หลายท่านจึงมักเริ่มฝึกลูกให้รู้จักดื่มจากแก้วในช่วงนี้ และให้ทำทุกวันจนเกิดความชำนาญ บางคนทำได้ดีมาก ไม่มีหกเลย พออายุ 1 ขวบ ลูกจึงดื่มนมจากแก้วหรือดูดหลอดได้ ทำให้เลิกใช้ขวดนมได้เร็ว ในรายที่ไม่ได้ฝึกตั้งแต่เล็กๆ แต่เพิ่งมาเริ่มตอนนี้ ก็อาจยากสักหน่อย เพราะช่วงอายุที่จะเข้าสู่ขวบที่สองนี้เป็นวัยต่อต้านพอดีเลย ถ้าลูกต่อต้าน อย่าดุหรือทำโทษ แต่ใช้วิธีทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เพราะเด็กบางคนชอบเลียนแบบผู้ใหญ่หรือเด็กโต พอเวลาผ่านไปสัก 2 – 3 สัปดาห์ค่อยลองใหม่
โดยเปลี่ยนแก้วใบใหม่เพื่อไม่ให้เหมือนเดิมด้วย ถ้าลูกชอบเทน้ำเล่น ช่วงแรกที่ฝึกก็ให้เป็นน้ำเปล่าจะได้ไม่เลอะมาก ทำความสะอาดได้ง่าย เตรียมปูผ้าไว้ซับน้ำ หรือใส่ผ้ากันเปื้อนให้ลูก อย่าใส่น้ำปริมาณมากๆหรือใช้แก้วแบบที่มีฝาปิด น้ำจะได้หกยากหน่อย ชนิดของแก้วต้องไม่แตกง่าย ถ้าก้นแก้วเป็นชนิดถ่วงน้ำหนักก็จะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าปากเร็วจนสำลักในกรณีที่ลูกกระดกแก้วเร็วเกินไป
เด็กบางคนชอบแก้วแบบมีหูจับหนึ่งหรือสองข้าง แต่บางคนก็ชอบแบบเกลี้ยงๆ ไม่มีหูจับ เพราะเหมือนแก้วของผู้ใหญ่ สำหรับลูกหมอชอบหัดดื่มจากฝาพลาสติกที่ใช้ครอบขวดนม เพราะใบเล็กๆ เบาๆ จับถนัดมือ และใส่น้ำได้ทีละน้อยๆ หมดแล้วเติมได้ สนุกดี เวลาทำหกก็ไม่เลอะมาก หมอก็ชอบ เพราะไม่ต้องเสียเงินซื้อแก้วหัดดื่มราคาแพงๆ ค่ะ บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
บทความโดย กองบรรณาธิการ
ภาพ shutterstock