ฝึกลูกจับดินสอ อย่างไรดี?
การจับดินสอแบบ Tripod
- ให้ลูกนั่งหลังตรง วางเท้าราบไปกับพื้น การจัดท่าทางให้เหมาะสมแต่แรกสำคัญต่อการหัดจับดินสอ เพราะถ้าไม่ระวังอาจติดนิสัยนั่งอ่านเขียนหนังสือหลังค่อมไปตลอด คุณพ่อคุณแม่จึงควรเน้นท่าทางการนั่ง ต้องนั่งหลังตรง เลือกเก้าอี้ที่เตี้ยพอจะวางเท้าราบไปกับพื้นได้ทั้ง 2 ข้าง
- หยิบดินสอด้วยนิ้วโป้งกับนิ้วชี้
- วางนิ้วชี้บนดินสอ โดยปลายนิ้วชี้อยู่ปลายของดินสอ เพื่อใช้บังคับดินสอเวลาเขียนคู่กับนิ้วโป้ง ระวังอย่าบีบดินสอด้วยนิ้วชี้กับนิ้วโป้ง
- รองรับดินสอด้วยนิ้วกลาง จับดินสอด้วยนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ แล้วรองรับด้วยนิ้วกลางเพื่อความแม่นยำยิ่งขึ้น กดปลายนิ้วทั้งสามเล็กน้อยตอนถือดินสอ แล้วเริ่มเขียน การรองดินสอด้วยนิ้วกลางจะทำให้มุมของดินสอเปลี่ยนไป โดยจะทำมุมเฉียงและมั่นคงยิ่งขึ้น
- วางสันมือบนกระดาษ สันนิ้วก้อยและนิ้วนางจะวางพักอยู่บนกระดาษ เพื่อรองรับน้ำหนักมือ ทำให้เขียนสะดวก ให้สังเกตว่าหากลูกไม่ได้วางมือพักบนกระดาษ แสดงว่าลูกบีบดินสอแน่นเกินไป
ทำอย่างไรให้ลูกชอบเขียนหนังสือ
- ทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น ก่อนจะทำให้ลูกชอบเขียนหนังสือ พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเห็นเสียก่อนค่ะ ว่าการเขียนหนังสือเป็นเรื่องสนุก โดยคุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องเขียนหนังสือเป็นจริงเป็นจังก็ได้นะคะ อาจจะระบายสี หรือวาดรูปให้ลูกเห็น ก็จะทำให้ลูกเกิดความสนใจและอยากเข้ามาร่วมกิจกรรมกับคุณพ่อคุณแม่ด้วย
- ใช้เวลาในการเขียนหนังสือร่วมกัน ของเล่นที่ดีที่สุดของลูกคือ พ่อแม่ค่ะ การได้ใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ลูกย่อมมีความสุขอยู่แล้วค่ะ
- ไม่บังคับให้ลูกเขียนตามที่ต้องการ หากแรก ๆ ลูกจะเขียนมั่ว หรือเขียนผิดไปบ้าง ก็ไม่ควรไปบังคับหรือดุด่าว่ากล่าวค่ะ ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าวิธีเขียนที่ถูกต้องเป็นอย่างไร อาจจะจับมือให้ลูกเขียนก่อน แล้วให้ลูกเขียนตามก็ได้ค่ะ
- มีคำชมเชยให้เสมอ เมื่อลูกทำได้ดี หรือยอมเขียน คุณพ่อคุณแม่ควรจะชมเชยลูกบ้าง เพื่อให้ลูกมีกำลังใจ และมีความรู้สึกดีในการเขียนหนังสือต่อไปค่ะ
การเขียนหนังสือ ไม่จำเป็นจะต้องเขียนให้เป็นตัวอักษรได้อย่างสวยงามเสมอไป ดังนั้น การฝึกลูกจับดินสอ อาจจะเริ่มจากการระบายสี หรือการขีดเขียนตามจินตนาการของลูกไปก่อน จะทำให้ลูกไม่ต่อต้านการจับดินสอและการนั่งโต๊ะเป็นเวลานาน ๆ และเมื่อถึงวัยเรียน ที่ลูกจะต้องเขียนเป็นตัวอักษรแล้ว ลูกก็จะไม่ต่อต้านการเขียนหนังสือค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ ได้ที่นี่
แนะนำ 50 วรรณกรรมเพื่อลูกฉลาด ต้องอ่านก่อนโต
ฟิงเกอร์ฟู้ด เมนูหยิบจับ จุดเริ่มต้นของพัฒนาการลูก
ขอบคุณข้อมูลจาก: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด, boingboing.net, wikihow
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่