หลัง 6 เดือนเริ่มมีอาหารเสริม 1 มื้อ (ปริมาณอาหาร 5-8 ช้อนโต๊ะ) จึงกินนมลดลงไป 5-8 ออนซ์ ปริมาณน้ำที่ผสมอยู่ในอาหารอาจมีเพียง 3 ออนซ์เท่ากับปริมาณน้ำหายไป 2-5 ออนซ์ต่อข้าว 1 มื้อ จึงควรให้ลูกกินน้ำเปล่า 2-5 ออนซ์/มื้อ แต่ถ้าลูกเป็นเด็กชอบกินนมถึงแม้ว่ากินข้าวแล้วก็อาจกินนมได้เท่าเดิม กรณีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ลูกกินน้ำเปล่าปริมาณมากๆ กินแค่พอล้างปากหรือกินน้ำเปล่าตอนกินข้าวไม่ให้ฝืดคอก็เพียงพอแล้ว หากไม่ได้กินน้ำเปล่า แต่กินนมลดลงไป ก็อาจมีปัญหาท้องผูกได้ สามารถกินน้ำเปล่ามากกว่านี้ได้เล็กน้อยถ้าอากาศร้อน แต่ถ้ามีภาวะไม่สบาย เช่น ไข้ อาเจียน ถ่ายเหลว จะต้องการน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือแร่เพิ่มขึ้นค่ะ
กรณีของลูกคุณแม่ไม่ได้ระบุมาชัดเจนว่ากินน้ำเปล่าวันละกี่ออนซ์ หมอจึงฟันธงไม่ได้ว่ากินน้ำเยอะไปจนผิดปกติหรือไม่ ถ้ากินปริมาณเท่ากับที่หมอกล่าวมาข้างต้นก็ถือว่าปกติไม่ได้มากเกินไป แต่ถ้ากินเกินสิบออนซ์/วัน ก็ถือว่ากินมากเกินไป ต้องระวังน้ำหนักขึ้นไม่ดีหรือภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติจนทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ จนเป็นอันตรายได้ค่ะ เพราะไตของทารกยังทำงานขับน้ำส่วนเกินออกได้ไม่เต็มที่
อีกกรณีถ้าลูกกินน้ำเปล่ามากผิดปกติ ร่วมกับปัสสาวะบ่อยมาก น้ำหนักตัวขึ้นไม่ดีหรือน้ำหนักลดร้องไห้งอแงผิดปกติตัวรุมๆ ผิวแห้ง ปลายมือปลายเท้าเย็น ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคเบาจืดเนื่องจากไตทำงานผิดปกติ หรือสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับปัสสาวะทำงานผิดปกติ ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาต่อไปค่ะ
ถ้าลูกกินน้ำเปล่ามากผิดปกติ ร่วมกับปัสสาวะบ่อยมาก น้ำหนักลด ผิวแห้ง อาจเป็นโรคเบาจืดได้
บทความโดย : พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
ภาพ : Shutterstock