โรคตาในเด็ก มีความแตกต่างจากโรคตาในผู้ใหญ่ หลายโรคสามารถตรวจและรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยป้องกันไม่ให้โรคพัฒนารุนแรงไปไกลจนหมดหนทางรักษา คุณพ่อ คุณแม่ จึงไม่ควรมองข้ามปัญหาสายตา และการมองเห็นของลูกน้อย เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของลูกน้อย
ยุคไอทีทำให้มี โรคตาในเด็ก เพิ่มขึ้น
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในเด็กไทยพบปัญหาภาวะสายตาผิดปกติ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับที่เด็กใช้สายตาผ่านอุปกรณ์ดิจิตอลมากขึ้น การรับแสงและการเพ่งมองจอเป็นเวลานาน ส่งผลให้กล้ามเนื้อสายตาเมื่อยล้า หรืออาจทำให้จอตาเสื่อมไวขึ้น และนำไปสู่ภาวะตาบอดด้วยตาเลือนรางได้ หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลา เพราะสายตาและการมองเห็นคือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่พัฒนาการทางสมอง และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ให้เกิดกระบวนการจดจำคิดและสร้างสรรค์ จนกลายเป็นการเรียนรู้ความฉลาด และนำไปสู่พัฒนาการด้านอื่นตามมา ข้อมูลจากการสำรวจโดยครูในเด็กก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษาในโรงเรียน 17 แห่งในปี 2555 พบสายตาผิดปกติ ร้อยละ 6.6 จำเป็นต้องใส่แว่นสายตา ร้อยละ 4.1 คาดว่าทั่วประเทศมีเด็กที่จำเป็นต้องใส่แว่นตาประมาณ 2.6 แสนคน เพื่อลดปัญหาการตาบอดจากสายตาผิดปกติ
ข้อมูลข่าวจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า
รศ.พญ.สุดารัตน์ ใหญ่สว่าง จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาเด็ก ได้กล่าวถึงช่วงเวลาทองของการดูแลลูกน้อยเอาไว้ว่า
“3 เดือนแรกดวงตาของทารกจะล่องลอยไปมาเหมือนตาเข เพราะดวงตาสองข้างไม่ได้ใช้งานร่วมกัน ฉะนั้นแพทย์จะวินิจฉัยโรคตาเขได้เมื่อผ่าน 3 เดือนไปแล้ว และถ้าจะวัดการมองเห็นที่ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ก็ต้องรอจนอายุ 6 เดือน ซึ่งพัฒนาการนี้จะดำเนินไปจนสมบูรณ์เต็มที่เมื่อเด็กอายุได้ 8-9 ขวบ”
พัฒนาการทางด้านสายตาของเด็กจะเริ่มต้นขึ้นเมื่ออายุ 3-6 เดือน โดยเด็กทารกจะเริ่มใช้สายตาทั้งสองข้างพร้อมกัน เริ่มมองเห็นสี เห็นภาพสามมิติ และสามารถกะระยะได้ ก่อนที่จะมีอายุ 8-9 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่ลูกน้อยต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ หากมีโรคที่มาขัดขวางพัฒนาการทางสายตา ก็ต้องรีบรักษาอย่างทันท่วงที เพราะเมื่อสายตาหยุดพัฒนาแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาได้เหมือนเดิม