ทำไม การกอดลูก อ้อมกอดจากแม่ จึงเป็นสิ่งที่อุ่นใจที่สุดของลูกน้อย และเด็กที่ไม่เคยได้รับการกอดจากพ่อแม่จะเป็นอย่างไร นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ มีคำตอบของเรื่องนี้มาฝาก
การกอดลูก สำคัญไฉน?
Q: มีข้อสงสัยว่า เพราะอะไรลูกถึงไม่ค่อยยอมให้อุ้ม อุ้มแล้วร้องไห้ แต่ตอนให้นมแม่ไม่ร้องค่ะ พอลูกร้องบ่อยๆ แม่เริ่มใจไม่ดี ตอนนี้ลูกอายุ 1 ขวบแล้ว ตัวเองเป็นคุณแม่เต็มเวลา มีพี่เลี้ยงช่วยค่ะ
A: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้ให้คำแนะนำเรื่อง การกอดลูก ว่า…
เด็กอายุขวบปีแรกทุกคนต้องการความรัก ความอบอุ่น และอิ่ม สามอย่างนี้สำคัญเท่าๆ กัน แม้จะมีหลักฐานให้เห็นเสมอๆ ว่าไม่เท่ากัน
ลูกลิงที่ไม่มีแม่ลิงอุ้มเลย แม้ว่าจะได้อาหารทางสายยางหรือป้อนเพียงพออย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์พบว่าลูกลิงจะผอมลงเรื่อยๆ จนตายไปในที่สุด ปรากฏการณ์นี้พบในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเช่นกัน ทารกหนึ่งขวบปีแรกที่อาหารพอเพียงแต่ขาดคนอุ้ม ในที่สุดก็จะโตช้าหรือไม่โตเอาเสียเลย หลายคนผอมลงเรื่อยๆ และไม่มีพัฒนาการ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าสมัยใหม่จึงเรียกร้องให้มีอาสาสมัครเข้าไปช่วยอุ้มทารก เล่นกับเด็ก และคอยอ่านหนังสือให้เด็กเล็กฟัง
ข้อดีของ การกอดลูก
จะเห็นว่าเรื่องอิ่มท้องนั้นสำคัญแน่แต่ก็อาจจะไม่สำคัญเท่ากับความอบอุ่น ความอบอุ่นเกิดได้จากผ้าห่มและการอุ้มกอด ความอบอุ่นจากผ้าห่มเป็นเรื่องสำคัญ เด็กอายุขวบปีแรกมีหน้าที่สำคัญคือเรียนรู้ว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นที่ไว้ใจได้ ทำให้ท้องอิ่มและปลอดภัย ท้องอิ่มหมายความว่ายามหิวก็มีนมมาให้ ปลอดภัยหมายความว่ายามร้อนก็มีพัดลมมา ยามหนาวก็มีผ้าห่มคลุม เวลามดกัดก็มีคนหยิบมดออกไป นี่คือสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย
1. ทารกหนึ่งขวบปีแรกจำเป็นต้องมั่นใจว่าสิ่งแวดล้อมปลอดภัย เมื่อมั่นใจแล้วจึงจะยอมพัฒนาการต่อไป
นั่นคือคว่ำ แล้วก็คลานไปข้างหน้า ตามด้วยนั่ง ยืนและเดินตอนต้นของขวบปีที่สอง ในทางตรงข้ามสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยย่อมทำให้มนุษย์คนหนึ่งพร้อมจะอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรและไม่ไปไหน ทารกก็มิใช่ข้อยกเว้น
ความอบอุ่นจากผ้าห่มว่าสำคัญแล้ว ความอบอุ่นจากการอุ้มกอดยิ่งสำคัญกว่า ผ้าห่มนั้นอุ่นกาย แต่อ้อมกอดแม่นั้นอุ่นใจ มีรายงานวิจัยทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่าพ่อหรือแม่ที่เปลือยท่อนบนอุ้มกอดทารกที่เปลือยเช่นกันสามารถสงบทารกลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ กล่าวคือ พื้นที่ที่เนื้อของพ่อหรือแม่สัมผัสกับเนื้อของลูกจะแปรผันตรงกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
2. การกอดลูก ช่วยให้จิตใจของทารกสงบลง
3. ส่งผลให้พฤติกรรมเลี้ยงยาก ร้องไห้งอแง แม้กระทั่งเด็กเล็กที่ดื้อมากสามารถสงบพฤติกรรมของตนเองลงได้เสมอ
การอุ้มกอดที่มีประสิทธิภาพคือการอุ้มกอดที่อุ่นใจ ผมคงให้ความมั่นใจแก่คุณแม่ได้ว่าการกอดเป็นการกระทำที่ทรงคุณค่าและไม่มีปัญหาอะไรหากเป็นการกอดที่ทำให้อุ่นใจ เคยเห็นคลิปคู่สมรสกอดกันแต่มือข้างหนึ่งเช็คสมาร์ทโฟนอยู่บ้างมั้ยครับ การกอดที่ใจเราอยู่ที่อื่นย่อมทำให้ความอุ่นใจที่อีกฝ่ายได้รับลดลงไม่มากก็น้อย
ผมได้แต่เชียร์คุณแม่ให้สำรวจตนเองสักครั้งว่าใจของเราเองสงบพอสำหรับการเลี้ยงลูกหรือเปล่า เวลาเราอยู่กับลูก เล่นกับลูก รวมทั้งอุ้มกอดลูก ใจของเราอยู่ที่เขาพอเพียงหรือไม่ หรือที่แท้แล้วใจของเราไปอยู่ที่อื่น เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กๆ ที่สำคัญมากน้อยไม่เท่ากันในแต่เด็กแต่ละคน เด็กบางคนพอใจเพียงแค่คุณพ่ออุ้มเดินไปมา ส่วนเรื่องคุณพ่อจะอุ้มไปดูฟุตบอลไปโดยไม่กอดเลยเขาไม่ว่า ในขณะที่เด็กบางคนไม่พอใจเท่านั้น เขาต้องการการอุ้มกอดที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเด็กคนอื่น คุณพ่อจะอุ้มด้วยดูหนังด้วยไม่ได้ ต้องอุ้มด้วยกอดด้วยร้องเพลงด้วยและทุ่มใจให้เขาด้วยถึงจะเพียงพอ
ผมแนะนำว่าให้อุ้มกอดต่อไปเรื่อยๆ อาจจะต้องสละเวลาอุ้มกอดเขามากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป อย่าปล่อยให้ความรู้สึก “ใจไม่ดี” มาทำให้ท้อถอยหรือเสียความมั่นใจ เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้วจะยิ่งทำให้คุณภาพของการอุ้มการกอดลดลง ขอให้มั่นใจได้ครับว่าการอุ้มการกอดของคุณแม่สำคัญและดีที่สุด ชนะแน่นอน
ขอบคุณบทความโดย: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์
แผนกจิตเวชโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
อ่านต่อ >> “7 วิธีสร้างสัมพันธ์หากลูกเบบี๋ไม่ให้กอด” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่