โรคไตไม่ใช่แค่เกิดและน่ากลัวสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้นนะคะ รู้หรือไม่ว่าเด็กก็เป็นโรคไตได้ด้วย และมีแนวโน้มว่าโรคไตในเด็กจะสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกต่างหาก โรคไตในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีป้องกันหรือไม่ ต่องอ่านค่ะ!!
สาเหตุการเกิดโรคไตในเด็ก
- โรคไตในเด็กที่เป็นแต่กำเนิด เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างไต และระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด เช่น ภาวะอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะปัสสาวะไหลย้อนจากกระเพาะปัสสาวะกลับขึ้นไปยังท่อไต บางรายมีความผิดปกติในการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ หรือมีภาวะเนื้อไตผิดปกติแต่กำเนิดชนิดต่างๆ ซึ่งบางชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม บางชนิดเกิดจากการได้รับยาหรือสารเคมีบางอย่างตั้งแต่อยู่ภายในครรภ์
- โรคไตในเด็กโตหรือเกิดขึ้นภายหลัง มีสาเหตุมาจากภาวะไตอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอ หรือที่ผิวหนัง รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเอสแอลอี (SLE) หรือโรคไตเนโฟรติกจากการสูญเสียโปรตีนปริมาณมากออกไปทางปัสสาวะ
- ภาวะเด็กอ้วน เป็นสาเหตุสำคัญที่พบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเป็น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงนำไปสู่โรคไตในอนาคตได้อีกด้วย ปัจจุบันพบว่าเด็กไทยมีภาวะอ้วนมากขึ้น สืบเนื่องมาจากรูปแบบการทำงานและการดำเนินชีวิตของพ่อแม่ในยุคใหม่ เช่น อาหารของครอบครัวที่เป็นอาหาร ฟาสต์ฟู้ด อาหารรสหวานจัด เค็มจัดเกินไป และพ่อแม่ที่อาศัย คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือการใช้สมาร์ทโฟนสำหรับการทำกิจกรรมโดยส่วนใหญ่ของเด็ก ทำให้เด็กไม่ได้ออกไปวิ่งเล่น หรือทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย
สัญญาณอันตรายโรคไตในเด็ก
- เด็กมีอาการบวมทั่วตัว หนังตาบวมมากอย่างเห็นได้ชัด
- ปัสสาวะผิดปกติ มีสีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ออกกะปริบกะปรอย ออกปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติ
- มีอาการซีด เหนื่อยง่าย หรือตัวเล็ก
เมื่อสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ควรนำเด็กพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะแรกและรับการดูแลอย่างเหมาะสม จะป้องกันการเสื่อมของไตได้ แต่หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม อาจเข้าสู่ภาวะไตเรื้อรัง
แนวทางรักษาโรคไตเรื้อรังในเด็ก
โรคไตในเด็กบางชนิด เช่น ไตอักเสบ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ สามารถรักษาให้หายได้และมีภาวะแทรกซ้อนน้อย ถ้าตรวจพบเร็วและรับการรักษาที่เหมาะสม ส่วนโรคในกลุ่มที่มีความผิดปกติของโครงสร้างไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้เร็ว ก็จะช่วยชะลอการเสื่อมของไตลงได้ สำหรับกรณีที่เด็กมีภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายก็จะได้รับการรักษาบำบัดทดแทนไตเช่นเดียวกันกับในผู้ใหญ่ ได้แก่
- การล้างไตผ่านทางช่องท้อง (peritoneal dialysis) ด้วยตนเอง หรือ อาศัยเครื่องอัตโนมัติ ซึ่งเป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเด็ก เพราะเครื่องจะควบคุมการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตแบบอัตโนมัติ ทำในเวลากลางคืนขณะที่เด็กนอนหลับ เด็กสามารถไปโรงเรียนได้ และเล่นกับเพื่อน ๆ ได้เหมือนปกติ
- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ต้องเดินทางไปที่ศูนย์ไตเทียมทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ใช้เวลาฟอกเลือดครั้งละ 3-4 ชั่วโมง ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เด็กต้องขาดเรียน การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (kidney transplantation)
ดูแลลูกให้ห่างไกลจากโรคไต
- ช่วงตั้งครรภ์ มารดาควรมีการตรวจติดตามโดยสูติแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสารเคมีหรือยาบางชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก
- สังเกตอาการแสดงของโรคไตข้างต้น ถ้าพบความผิดปกติควรพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว เพื่อแก้ไขสาเหตุที่จะทำให้เกิดโรคไต
- ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะโดยอาศัยพฤติกรรมการถ่ายปัสสาวะที่เหมาะสม เช่น ทำความสะอาดอวัยวะหลังขับถ่าย ไม่กลั้นปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะออกจนสุดโดยไม่เร่งรีบ ดื่มน้ำให้เพียงพอ (ในเด็กโตประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน) เพื่อให้รู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะ
- กินผัก ผลไม้ และดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงภาวะท้องผูก เพื่อให้ขับถ่ายปัสสาวะได้สะดวก
- ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดอาจมีผลเสียต่อไตได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนนำมาใช้กับเด็ก
- ระวังอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน โดยหลีกเลี่ยงการกินอาหารจุบจิบ อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารรสหวานเกินไป และสนับสนุนให้เด็กออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
แพทย์วินิจฉัยโรคไตอักเสบในเด็กได้อย่างไร ?
- การตรวจปัสสาวะ
- การตรวจเลือด
- ร่วมกับการตรวจเพาะเชื้อจากคอหอย หรือผิวหนังในรายที่สงสัยว่าไตอักเสบเกิดตามหลังการติดเชื้อ
ที่มา : thaihealth.or.th, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยนายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ,ข้อมูลจาก รศ.นพ.อนิรุธ ภัทรากาญจน์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล