อาการหลับไม่ตื่นในทารก SIDS อายุ 1 เดือน-1 ปี เสี่ยงมาก
คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน คงจะเคยได้ยินและได้รับทราบเกี่ยวกับ โรคไหลตาย หรืออาการที่นอนหลับไป โดยไม่รู้สึกตัวตื่น อีกเลย ซึ่งมีข่าวกันอยู่บ่อย ๆ อยู่แล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่รู้ว่า ในเด็กทารก ก็เกิดอาการนี้ได้เช่นกัน เรียกว่า อาการหลับไม่ตื่นในทารก หรือ SIDS หรือ Sudden Infant Death Syndrome ค่ะ ความน่ากลัวน่ากลัวก็คือ โรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในเด็กลำดับต้น ๆ ถึงร้อยละ 40 – 50% โดยเฉพาะเสี่ยงมากในเด็กอายุ 1 เดือน – 1 ปี อาการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร จะป้องกันอย่างไร คุณพ่อคุณแม่ห้ามพลาดข้อมูลนี้ค่ะ
อาการหลับไม่ตื่นในทารก
โรค SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรือโรคไหลตาย เป็นภาวะที่ทารกในช่วงอายุ 1 ปีแรกเสียชีวิตขณะนอนหลับ เกิดขึ้นได้แม้ในทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงดี มีพัฒนาการที่ดี และร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน โดยก่อนการเสียชีวิตเด็กมักไม่มีอาการป่วย หรือแสดงความผิดปกติใด ๆ ออกมา พบบ่อยที่อายุ 2-4 เดือน และจากสถิติแล้ว โรคนี้มักเกิดกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
สาเหตุของอาการหลับไม่ตื่นในทารก
สาเหตุของภาวะนี้ เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มากีดขวางการหายใจของทารกขณะนอนหลับ เช่น
- การจัดท่าให้ทารกนอนคว่ำ หรือนอนตะแคง ซึ่งอาจทำให้หายใจลำบาก โดยเฉพาะถ้านอนบนที่นอนที่นิ่มมากเกินไป
- การที่มีผ้าห่ม หรือวัตถุนิ่ม ๆ เช่น ตุ๊กตา หมอนเล็ก ๆ ปิดหน้าทารกขณะนอนหลับ เพราะจะไปขัดขวางการหายใจ
- การถูกผู้ใหญ่นอนทับ เป็นต้น เนื่องจากทารกยังเคลื่อนไหวศีรษะได้ไม่ดี
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของภาวะนี้ คือ
- ทารกเกิดก่อนกำหนด เพราะสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจ และภาวะตื่นตัวขณะนอนหลับของเด็ก อาจยังไม่พร้อมทำงานเป็นปกติ รวมทั้งเด็กมีน้ำหนักตัวต่ำ
- ควันบุหรี่ จากคนในบ้านที่สูบบุหรี่ หรือหากแม่ของเด็ก ตั้งครรภ์ขณะมีอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือฝากครรภ์อย่างไม่เหมาะสม รวมทั้งสูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ หรือหลังจากคลอด ก็เพิ่มความเสี่ยงให้เด็กเผชิญกับโรคนี้ได้
- อุณหภูมิห้องนอนที่ร้อน
- การติดเชื้อในทางเดินหายใจก่อนเสียชีวิต ทารกส่วนใหญ่มักเป็นหวัด ซึ่งอาการป่วยดังกล่าว อาจทำให้เด็กมีปัญหาในการหายใจ
การป้องกัน SIDS
ปัจจุบันไม่มีวิธีป้องกัน SIDS แต่ลดความเสี่ยงต่ออาการนี้ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ให้เด็กทารกนอนหงาย ไม่ว่าเด็กจะนอนกลางวัน หรือนอนในช่วงเวลากลางคืนก็ตาม
- แม่ของเด็กควรตรวจสุขภาพจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งงดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช้สารเสพติด ทั้งในระหว่างที่ตั้งครรภ์ หรือหลังจากคลอดบุตรแล้ว
- ไม่สูบบุหรี่ภายในบ้าน และไม่สูบบุหรี่ใกล้เด็ก
- สวมถุงนอน หรือชุดนอนที่หนาพอดีให้กับเด็ก เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นแต่ไม่ร้อนจนเกินไป และไม่ควรปกคลุมส่วนศีรษะของเด็กเอาไว้
- ก่อนวางเด็กลงในเปล ให้นำสิ่งของอย่างตุ๊กตา หมอน ผ้าห่ม และแผ่นรองกันชนออก รวมทั้งไม่ใช้แผ่นรองนอนที่หนา แต่ให้ใช้ฟูกที่แข็ง และผ่านการรับรองว่าปลอดภัย และปูผ้าที่มีขนาดพอดีกับเปล คลุมทับฟูกอีก 1 ชั้น
- ให้เด็กทารกอมจุกหลอกในขณะที่นอนหลับ โดยอาจให้เด็กดูดนมจากเต้านมได้ถนัดก่อน จึงให้เด็กอมจุกหลอก ทั้งนี้ ไม่ควรใช้จุกหลอกชนิดที่มีสายคล้องรอบคอเด็ก และไม่ควรผูกจุกหลอกติดไว้ที่เสื้อผ้าหรือสิ่งอื่น ๆ
- ให้เด็กดื่มนมจากเต้านมอย่างน้อยเป็นเวลา 6 เดือนหลังคลอด เนื่องจากอาจช่วยให้เด็กตื่นตัวกับสิ่งเร้าได้ง่ายในขณะที่นอนหลับ รวมทั้งนมจากแม่อาจช่วยส่งผ่านสารต้านอนุมูลอิสระไปยังทารก ซึ่งอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อได้
- นอนอยู่ในห้องเดียวกันกับเด็ก แต่ไม่ควรให้เด็กนอนร่วมเตียงกับผู้ใหญ่ เนื่องจากพ่อแม่ของเด็ก อาจเผลอใช้ผ้าห่มคลุมจมูก และปากของลูกในขณะที่นอนหลับอยู่ หรือเด็กอาจไปติดอยู่ในช่องว่างระหว่างหัวเตียงกับฟูกที่นอน จนทำให้หายใจไม่ออกได้ และไม่ควรให้เด็กนอนร่วมกับสัตว์เลี้ยงหรือคนอื่น ๆ
- ให้เด็กรับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ เนื่องจากมีงานศึกษาพบว่า การฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคไหลตายในเด็กได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
ขอบคุณข้อมูลจาก
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, โรงพยาบาลพญาไท, pobpad
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
สังเวยอีก 1 ชีวิต เด็กนอนคว่ำ ลูกวัย 3 เดือนหยุดหายใจคาเตียง