ประโยชน์ของสารฟลูออไรด์คือช่วยป้องกันฟันผุ แต่ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะถ้ามีอยู่ในร่างกายมากเกินไปจะทำให้เนื้อฟันเปลี่ยนสีและฟันสึกเป็นรูเล็กๆ (เรียกว่าฟลูออโรซิส)
ฟลูออไรด์ตามธรรมชาติพบได้ในแหล่งน้ำ ส่วนในอาหารและนมแม่มีปริมาณฟลูออไรด์เพียงเล็กน้อย เริ่มมีคำแนะนำให้เสริมฟลูออไรด์แก่เด็กในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากสังเกตพบว่าคนที่อยู่ในบริเวณที่แหล่งน้ำดื่มมีฟลูออไรด์เพียงพอมีปัญหาเรื่องฟันผุน้อยกว่าคนที่อยู่ในบริเวณที่ไม่มีฟลูออไรด์ คุณแม่จึงควรหาข้อมูลให้ได้เสียก่อนว่าน้ำที่ใช้บริโภคอยู่มีปริมาณฟลูออไรด์เท่าไร (ตรวจสอบได้จากหน่วยงานประปาในท้องถิ่น) จะได้ทราบขนาดของ ฟลูออไรด์ที่ควรเสริมให้ลูก
ในกรุงเทพฯมีฟลูออไรด์ในน้ำประปาน้อยกว่า 0.3 ส่วนในล้านส่วน (ppm) เด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ขวบให้กินเสริมวันละ 0.25 มก. และอายุ 3 – 6 ขวบให้กิน 0.5 มก. บริเวณที่มีฟลูออไรด์ 0.3 – 0.5 ppm ไมต้องให้กินเสริมในช่วง 6 เดือนถึง 3 ขวบ และอายุ 3 – 6 ขวบให้กิน 0.25 มก. และบริเวณที่มีฟลูออไรด์มากกว่า 0.5 ppm ไม่ต้องให้กินเสริมในทุกช่วงอายุ
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีการเสริมฟลูออไรด์ในยาสีฟันแทบทุกชนิด ในเด็กที่บ้วนปากเป็นแล้วและไม่มีนิสัยชอบกลืนยาสีฟัน หากมีการแปรงฟันอย่างถูกต้องและนานพอที่ฟลูออไรด์จะได้สัมผัสกับฟัน หรือได้รับการเคลือบฟลูออไรด์จากทันตแพทย์ทุก6 เดือน อาจไม่มีความจำเป็นต้องเสริมโดยการกินเพิ่มเติมอีก เพราะการวิจัยในระยะหลังพบว่าการป้องกันฟันผุเกิดจากการที่ฟลูออไรด์ได้สัมผัสกับฟัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับของฟลูออไรด์ในร่างกาย
ส่วนปัญหาเรื่องฟันน้ำนมเกนั้นไม่มีความสัมพันธ์กับการเกเมื่อเป็นฟันแท้ค่ะ เพราะจะขึ้นอยู่กับขนาดของขากรรไกรและฟัน (เป็นไปตามพันธุกรรม) หากขากรรไกรเล็ก เวลาฟันขึ้นเต็มที่จะเบียดเสียดกันเป็นฟันเก แต่คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลในตอนนี้ เพราะลูกยังเติบโตไม่เต็มที่ (ที่สำคัญคือ อย่าให้ลูกฟันเกหรือฟันเหยินเพราะชอบอมจุกหลอกหรือจุกนมไว้ในปาก) เอาไว้ตอนอายุ 8 – 9 ขวบ ถ้าเห็นว่าลูกฟันเกแล้วค่อยบอกให้เขาเตรียมหยอดกระปุกเพื่อเก็บเงินไว้จัดฟันให้สวยอย่างไรก็ได้ค่ะ
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด