อาการข้างเคียงและการดูแลหลังการฉีดวัคซีน
- วัณโรค (BCG) หลังฉีด6-12สัปดาห์จะปรากฏตุ่มนูน เป็นหนอง แตกเป็นแผล เป็นๆหายๆ3-4สัปดาห์จนกลายเป็นแผลเป็น การดูแลหลังฉีดวัคซีนให้ใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วเช็ดรอบๆแผลแล้วซับให้แห้ง อย่าบ่งตุ่มหนอง บางรายแผลเกิดเป็นตุ่มหนองขนาดใหญ่ หนองไหลจากแผล ต่อมน้ำเหลืองโต ควรพาเด็กไปพบแพทย์
- ตับอักเสบบี หลังฉีดยาประมาณ3-4ชม จะมีอาการปวด บวม บริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำๆ ให้รับประทานยาลดไข้ได้ในขนาดที่เหมาะสม
- คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หลังฉีดยาประมาณ3-4ชั่วโมง อาจมีอาการปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีด เป็นไม่เกิน 2 วัน บางครั้งพบมีก้อนไตแข็งใต้ผิวหนังบริเวณที่ฉีดยา สาเหตุจากการระคายเคืองสารที่ผสมในวัคซีน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณดังกล่าว จะหายได้เองภายใน 1-2 เดือนมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ ในกรณีแพ้วัคซีนไอกรนจะแสดงอาการ ไข้สูงเกิน 40.5องศาเซลเซียส ร้องไห้นานเกิน 3 ชั่วโมง หรือกรีดร้องเสียงแหลม มีอาการช็อกภายใน 48 ชั่วโมง หรือชักภายใน 3 วัน หากพบอาการสงสัยว่าเด็กจะแพ้วัคซีนไอกรน ให้พาไปพบแพทย์
- โปลิโอ ให้โดยการรับประทาน อาการข้างเคียงพบน้อยมาก
- หัด หัดเยอรมัน คางทูม หลังฉีดวัคซีน เด็กอาจมีไข้ช่วงวันที่ 5-12หลังการฉีด อาจจะมีผื่นแดงพร้อมกับอาการไข้ คล้ายการออกหัดแต่ผื่นขึ้นน้อยกว่า อาการจะคงอยู่ประมาณ 2วันก็จะหายไป บางรายมีอาการคล้ายเป็นหวัด บางรายมีอาการปวดตามข้อร่วมกับอาการไข้ต่ำๆช่วงวันที่ 8- 12หลังฉีดยาและอาการจะคงอยู่ประมาณ 1-3วันก็จะหายไป บางรายมีต่อมน้ำเหลืองต้นคอโตและมีผื่นจางๆร่วมด้วย เมื่อเด็กมีไข้ ให้รับประทานยาลดไข้ เช็ดตัวด้วยน่ำอุ่นเพื่อลดไข้ อาการผื่นขึ้น ปวดตามข้อ ต่อมน้ำเหลืองต้นคอโต เกิดจากผลข้างเคียงของยาและจะหายได้เอง ไม่ต้องพาเด็กไปโรงพยาบาล
- ไข้สมองอักเสบ อาจมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดยา และจะหายได้เองในเวลา2-3วัน อาจมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลียไม่สบาย ในกรณีที่มีไข้สูง ซึม หรือมีผื่นลมพิษ หรืออาการอื่นใด ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีการดูแลรักษาอาการข้างเคียงหากปวดบวมบริเวณที่ฉีดให้ประคบด้วยผ้าเย็น หากมีไข้รับประทานยาลดไข้ในขนาดเหมาะสม หากอาการเป็นมากหรือรุนแรงควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
วัคซีนทางเลือก สำหรับเด็กที่ควรได้รับเพิ่มเติม ภายใต้คำแนะนำของกุมารแพทย์ การฉีดวัคซีนทางเลือกบางชนิดอาจมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงให้อยู่ในดุลพินิจของผู้ปกครองแต่ละราย วัคซีนเหล่านี้ ได้แก่ วัคซีนโรต้า ใช้รับประทานในเด็กเล็ก วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แนะนำฉีดประจำทุกปี วัคซีนป้องกันโรคสุกใส
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- เคล็ดลับ ปราบอาการเจ็บของลูกหลังฉีดวัคซีน
- วิธีดูแลลูก หลังฉีดวัคซีน
- วัคซีนพื้นฐาน 6 ชนิดที่ลูกน้อยต้องได้รับ
- ลูกจำเป็นต้องรับวัคซีนเสริมหรือไม่?