Q: ตอนนี้ลูกอายุย่าง 7 เดือนแล้ว ตั้งแต่เกิด เขาไม่ยอมดูดน้ำจากขวด ช้อน หรืออุปกรณ์อื่นๆ เลย ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ไม่ได้ผล ต้องสำลักออกมาทุกครั้ง จะให้ลูกกินน้ำอย่างไรดี
เด็กต้องได้รับน้ำเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งอาการของคนขาดน้ำคือปากแห้ง ตาโหล กระหม่อมที่กะโหลกบุ๋ม ฉี่น้อย และท้องผูก (แต่ถ้าลูกท้องผูกโดยไม่มีอาการอื่นๆ ข้างต้นร่วมด้วย ก็แสดงว่าเขาไม่ได้ท้องผูกเพราะขาดน้ำ แต่อาจเป็นเพราะไม่ถูกกับนมชนิดที่กินอยู่ หรือไม่ได้กินอาหารที่มีเส้นใย)
แต่ถ้าในหนึ่งวันเขาได้รับน้ำที่มากับนมและข้าวบดเพียงพออยู่แล้ว (ยกตัวอย่างเช่น ลูกวัย 7 เดือน หนักประมาณ 7 กิโลกรัม กินนมวันละ 720 ซี.ซี. หรือ 24 ออนซ์ ได้รับน้ำเข้าร่างกายเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ที่หนัก 70 กิโลกรัม กินน้ำวันละ 7,200 ซี.ซี.) ก็จะไม่รู้สึกหิวน้ำ และต้องวิ่งฉี่กันทั้งวันแน่นอน
เมื่อลูกโตขึ้น เขาจะเริ่มกินข้าวเป็นอาหารหลัก กินนมเป็นอาหารเสริมในปริมาณที่ลดลงกว่าเดิม ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เขาจะรู้สึกหิวน้ำ (เพราะถูกกระตุ้นโดยศูนย์ควบคุมความกระหายน้ำในสมอง) และกินน้ำได้ในปริมาณที่มากขึ้นไปเองค่ะ
นอกจากนี้ลูกยังต้องกินน้ำเล็กน้อยเพื่อล้างคราบนมไม่ให้ตกค้างในปาก แต่ถ้ากินน้ำไม่ได้เลย ก็ไม่ต้องกินค่ะ ให้ใช้วิธีเช็ดปากแทน (แต่ถ้ากินนมแม่ก็ไม่ต้องทำความสะอาดในระหว่างวัน ทำแค่เช้าและก่อนนอนก็เพียงพอ) ไม่ควรใช้วิธีผสมน้ำตาล น้ำหวาน หรือน้ำผึ้งลงในน้ำเพื่อจูงใจให้ลูกยอมกินน้ำ เพราะจะทำให้ลูกติดรสหวาน ฟันผุ และเป็นโรคอ้วน
เวลากินข้าวบดก็ควรเตรียมน้ำไว้เพื่อหล่อลื่นให้กลืนข้าวได้ง่ายขึ้น การใช้ช้อนเล็กๆ ที่ใช้ป้อนข้าวเพื่อตักน้ำปริมาณเล็กน้อยใส่ปากเพียงคำสองคำไม่น่าจะเป็นสาเหตุของการสำลักได้ ดังนั้นการที่คุณแม่บอกว่าลูกสำลักเวลาป้อนด้วยช้อนจึงอาจเป็นเพราะป้อนเร็วเกินไป น้ำเต็มช้อนเกินไป หรือป้อนหลายช้อนเกินไป (หากจิบจากถ้วยก็อาจเป็นเพราะเอียงถ้วยเกินพอดีจนน้ำไหลเข้าปากลูกมากเกินไปและทำให้สำลัก) เพราะผู้ป้อนอาจเกิดความเครียดและกดดัน กลัวว่าจะป้อนไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ลองเปลี่ยนเป้าหมายดูนะคะ…คิดเสียว่าป้อนแค่จิบๆ พอไม่ให้ฝืดคอ ลูกมักไม่ปฏิเสธน้ำตอนกินข้าวเพื่อให้กลืนข้าวได้ง่ายขึ้น ไม่ติดคอ และป้อนน้ำอีกครั้งตอนกินข้าวเสร็จเพื่อล้างคราบอาหารในปาก หากป้อนยากมากก็ไม่ต้องเครียด ลองแช่น้ำให้เย็นจนเป็นเกล็ดหิมะแล้วป้อนดู ลูกอาจชอบจนขอกินไม่เลิกเลยก็ได้
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด