โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จมูก คอ และท่อลม ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และทำให้เกิดอาการไอที่มีลักษณะเฉพาะ คุณพ่อ คุณแม่ ควรระมัดระวังไม่ให้ ลูกเป็นโรคไอกรน เพราะในเด็กทารก และเด็กเล็ก อาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
ลูกเป็นโรคไอกรน แพทย์เตือนเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต!
เมื่อไม่นานมานี้ มีข้อมูลข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์ ระบุว่า กรมควบคุมโรคเตือนเกี่ยวกับโรคไอกรนในเด็ก หากพบว่าเด็กมีอาการไอเป็นชุดๆ ไอมาก ไอแล้วมีเสียงวู้ป ให้ระวังโรคไอกรน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “สถานการณ์โรคไอกรนในประเทศไทย ปี 2561 มีรายงานผู้ป่วยโรคไอกรน 12 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต พบมากที่สุดในเด็กอายุ 1-3 เดือน โดยในปีนี้พบผู้ป่วยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ราย และรายล่าสุดเป็นเด็กหญิง อายุ 2 เดือน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
โดยทั่วไปแล้วโรคไอกรนพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในเด็ก ซึ่งติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว มักพบได้มากในเด็กแรกเกิด และเด็กเล็ก โดยอาการจะรุนแรงมาก และมีอัตราการเสียชีวิตสูงในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จามรดกันโดยตรง
“ส่วนใหญ่แล้วโรคไอกรนจะหายได้เป็นปกติ มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการไอมากๆ เช่น ปอดอักเสบ/ปอดบวม เป็นภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่พบได้ถึงประมาณ 20% ของเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ โดยเกิดจากการมีเชื้อแบคทีเรียตัวอื่นเข้ามาแทรกซ้อนและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี”
“ภาวะปอดแฟบ (Atelectasis) ซึ่งเกิดจากการมีเสมหะเหนียวไปอุดในหลอดลมและถุงลม การไอที่รุนแรงและต่อเนื่องจะทำให้หายใจได้ไม่เต็มที่และร่างกายขาดออกซิเจน ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบประสาททำให้เกิดอาการชักเกร็ง มีจุดเลือดออกในสมอง เกิดภาวะหยุดหายใจจนเสียชีวิตและส่งผลต่อระบบการใช้พลังงานของร่างกาย ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ซึ่งมักจะพบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี”
“อาจพบหลอดลมอักเสบ, หูชั้นกลางอักเสบ, มีจุดเลือดออกตามผิวหนังบนใบหน้าและในสมอง, เลือดกำเดาไหล ในรายที่มีอาการไอรุนแรง มักมีเลือดออกที่ใต้ตาขาว ทำให้เห็นเป็นปื้นแดง หรือทำให้ขอบตาเขียวช้ำและบางครั้งอาจมีเลือดออกในสมองหรือในลูกตา แต่พบได้ไม่มาก”
สังเกตอย่างไรว่า ลูกเป็นโรคไอกรน?
หากคุณพ่อ คุณแม่ สงสัยว่า ลูกเป็นโรคไอกรน หรือไม่? และมีความกังวลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งยังมีภูมิคุ้มกันไม่เต็มที่ และอาจไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างครบถ้วน เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าลูกน้อยมีอาการของโรคไอกรน
วิธีสังเกตอาการโรคไอกรน
1.ระยะเป็นหวัด
- มีอาการเหมือนโรคหวัดธรรมดาทั่วไป คือ มีไข้ต่ำๆ มีน้ำมูกไหล จาม ไอเล็กน้อย อ่อนเพลีย ตาแดง น้ำตาไหล
- มีอาการไอแห้งที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือ 7-10 วัน
- ไม่มีไข้ (ยกเว้นในรายที่มีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อน) แต่มีอาการไอรุนแรง และหลังจากไอสิ้นสุดลงจะมีเสียงลักษณะเฉพาะ (เสียงวู้ป) เกิดขึ้น หรือหลังการไอมีอาเจียนตามมา ประมาณ 1-6 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 10 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ประมาณ 2-4 สัปดาห์) ความถี่ของช่วงที่มีอาการไอและความรุนแรงจะค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ
- อาการไอจะเกิดขึ้นเป็นพักๆ เด็กจะไอติดต่อกันครั้งละนานๆ จนตัวงอ และหายใจแทบไม่ทัน (ไอติดต่อกันประมาณ 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น แล้วหยุดไป แล้วเริ่มไอใหม่เป็นแบบนี้ซ้ำๆ) อาจเกิดขึ้นเพียง 5-10 รอบต่อวัน หรือเกิดขึ้นหลายสิบรอบในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง จะมีอาการไอมากในช่วง 2 สัปดาห์แรก และอาการไอมักเกิดขึ้นถี่ขึ้นในตอนกลางคืนหรือเวลาที่ถูกอากาศเย็น ดื่มน้ำเย็นจัด ถูกฝุ่นหรือควันบุหรี่
3.ระยะฟื้นตัว
- รับประทานอาหารได้มากขึ้น น้ำหนักตัวขึ้น และอาการไอค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ (ทั้งความรุนแรงของการไอและจำนวนครั้ง) จนหายสนิท รวมระยะของโรคทั้งหมดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์
- ถ้ามีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ ก็อาจทำให้มีอาการไอติดต่อกันนานถึง 3 เดือน จึงเรียกว่า ไอ 3 เดือน หรือ ไอ 100 วัน
ลูกเป็นโรคไอกรน ทำยังไงดี?
หากคุณพ่อ คุณแม่สังเกตอาการแล้วพบว่าลูกน้อยมีความเสี่ยงเป็นโรคไอกรน สิ่งแรกที่ควรทำ คือ รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป หากอาการไม่รุนแรง และไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียกลับไปรับประทานที่บ้าน โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
1.ให้ลูกน้อยอยู่ในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง ดื่มน้ำอุ่นมากๆ เพื่อให้เสมหะใส และขับออกได้ง่าย
2.ควรให้รับประทานอาหารทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง เพื่อช่วยลดอาการอาเจียน หากมีอาการอาเจียนมาก ให้ทดแทนด้วยน้ำเกลือผสมเอง (น้ำต้มสุก 1 ขวด + น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ + เกลือแดง ½ ช้อนชา)
3.หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอ เช่น การออกแรง การถูกฝุ่นละออง ควันบุหรี่ ควันไฟ หรืออากาศที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป
4.การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ควรให้ในระยะแรก (ระยะเป็นหวัด) ที่เริ่มมีอาการไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะช่วยลดความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนลงได้ แต่จะไม่ช่วยลดระยะเวลาของโรคให้สั้นลงได้ ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
5.สำหรับเด็กอายุมากกว่า 1 ปี แนะนำให้ใช้น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำผึ้ง 4 ช้อนโต๊ะ จิบบ่อยๆ เพื่อบรรเทาอาการไอ
ป้องกันลูกน้อยจากโรคไอกรน
โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน แนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่ พาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก รวม 5 เข็ม ตามช่วงเวลาที่กำหนด โดยฉีดเข็มแรกอายุ 2 เดือน, เข็มที่ 2 อายุ 4 เดือน, เข็มที่ 3 อายุ 6 เดือน, เข็มที่ 4 อายุ 18 เดือน และเข็มที่ 5 เมื่ออายุประมาณ 4-6 ปี นอกจากนี้ควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกัน ดังนี้
1.หากพบว่ามีผู้ป่วยอยู่ในบ้าน ควรแยกผู้ป่วยออกจากลูกน้อยอย่างน้อย 5 วัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสมือผู้ป่วย แยกน้ำดื่ม อาหารต่างๆ ของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ของเล่น เป็นต้น และแยกห้องนอน
2.ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยโรคไอกรน
3.หากลูกน้อยยังเป็นเด็กทารก และมีผู้ป่วยโรคไอกรนอยู่ในบ้าน ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานยาป้องกัน เพื่อไม่ให้เป็นโรคไอกรน
4.หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ อย่าใช้นิ้วมือขยี้ตา หรือแคะจมูก
เครดิต: MedThai
อ่านบทความที่หน้าสนใจเพิ่มเติม คลิก!!
- ฉีดวัคซีนป้องกันไอกรน ให้ครบ ป้องกันลูกป่วย
- Kid Safety – ป้องกันโรค ‘ไอกรน’ ในเด็ก
- โรคในทารกแรกเกิด 10 โรคฮิตลูกมักเป็นในขวบปีแรก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?