การวินิจฉัยเด็กตัวเหลือง
โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจหาภาวะตัวเหลืองภายใน 72 ชั่วโมง หลังเด็กคลอด โดยดูจากสีผิว สีของตาขาว สีเหงือก รวมถึงสีปัสสาวะหรืออุจจาระ หากสงสัยว่าเด็กอาจมีภาวะตัวเหลือง แพทย์จะตรวจวัดระดับบิลิรูบินในเลือด เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับการรักษาหรือไม่ ซึ่งวิธีตรวจที่อาจนำมาใข้ มีดังนี้
- การใช้เครื่องมือวัดระดับบิลิรูบินผ่านทางผิวหนัง (Bilirubinometer) เป็นการคัดกรองภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด โดยใช้เครื่องมือนี้ส่องไฟลงบนผิวหนังของเด็ก จากนั้นเครื่องจะช่วยคำนวณระดับของบิลิรูบินในร่างกายด้วยการวิเคราะห์แสงที่ถูกดูดซับหรือสะท้อนออกจากผิวหนัง
- การตรวจเลือด กรณีที่เด็กมีอาการตัวเหลืองภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด หรือมีค่าบิลิรูบินสูงมากจากการตรวจด้วยเครื่องมือวัดผ่านทางผิวหนัง แพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดจากส้นเท้าของเด็กเพื่อวัดระดับบิลิรูบินในเลือดและนำผลที่ได้มาประกอบการตัดสินใจว่าเด็กควรได้รับการรักษาหรือไม่
- การตรวจอื่น ๆ หากเด็กตัวเหลืองนานกว่า 2 สัปดาห์ หรือมีภาวะตัวเหลืองจากสาเหตุอื่น ๆ แพทย์อาจต้องใช้การตรวจเพิ่มเติม เช่น
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
- ตรวจความเข้ากันของหมู่เลือดระบบอาร์เอช
- ตรวจความเข้ากันของหมู่เลือดระบบเอบีโอ
- ตรวจภาวะโลหิตจาง
- ตรวจสารก่อภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านหมู่เลือดและเม็ดเลือดแดงของลูก
- ตรวจหาการติดเชื้อ
- ตรวจหาภาวะขาดไทรอยด์
ทั้งนี้ ภาวะตัวเหลืองอาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์กว่าอาการจะแสดงออกมา ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของทารก โดยตรวจดูสีของดวงตา หรือใช้นิ้วกดเบา ๆ บนปลายจมูกหรือหน้าผากเพื่อตรวจว่าผิวเป็นสีเหลืองหรือไม่ รวมถึงสังเกตสีของอุจจาระและปัสสาวะของทารก หากสงสัยว่าเด็กอาจมีภาวะตัวเหลือง ควรไปพบแพทย์ทันที
จะรักษาหรือแก้ไขอาการตัวเหลืองได้อย่างไร?
การขับสารเหลืองออกจากร่างกายทางหนึ่ง คือ การขับออกทางอุจจาระ หากใครตัวเหลืองแล้วได้กินนมแม่ จะทำให้อึบ่อย ตัวเหลืองจะลดลงได้เร็ว หากกินนมผง จะท้องผูก สารเหลืองจะขับออกได้ช้ากว่า หากกินน้ำ จะทำให้อิ่มน้ำ ไม่อยากกินนมแม่ ทำให้มีฉี่ออก แต่ไม่มีอึ จะไม่ช่วยลดค่าเหลืองค่ะ
วิธีการรักษาภาวะตัวเหลือง
ภายในสัปดาห์แรก เด็กครบกำหนด หากเหลืองเกิน 13, 17, 20 ภายใน วันแรก วันที่สอง และวันที่สามตามลำดับ จะรักษาโดยการถ่ายเลือดค่ะ เพราะเหลืองมากจะทำให้สารเหลืองซึมเข้าสู่สมอง มีผลทำให้สมองทำงานผิดปกติ เน้นอีกครั้งค่ะ กรณีเหล่านี้ เกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดงที่มากผิดปกติอย่างมาก เช่น กรุ๊ปเลือดหมู่เล็กไม่เข้ากัน (หมู่ Rh) หากระดับอยูที่ 8, 12, 15 ในวันที่ 1, 2 และ 3 หลังคลอด รักษาโดยการส่องไฟ หากต่ำกว่านั้น กลับบ้านไปตากแดดที่บ้านได้ และเน้นย้ำให้กินนมแม่ให้มากที่สุด ให้อึบ่อยที่สุด การเหลืองจะลดเร็วที่สุดค่ะ นอกจากนี้ ควรสังเกตเด็กแรกเกิดในช่วง 5 วันแรกหลังคลอดอย่างใกล้ชิด หากพบว่าเด็กมีอาการตัวเหลืองควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที …อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกท่านคะ ไม่มีอะไรต้องวิตกกังวล ถ้าเรารู้ในเรื่องนั้นๆ มากพอค่ะ
อ่าน “บทความดี ๆ น่าสนใจ” ได้ที่นี่!
- เด็กตัวเหลืองหลังคลอด อันตรายอย่าป้อนน้ำเด็ดขาด!!
- ลูกตัวเหลือง เพราะกรุ๊ปเลือดไม่เข้ากับแม่ (เรื่องจริงจากแม่)
- ลูกตัวเหลือง อันตรายใกล้ตัว!! ที่คุณแม่อาจไม่รู้
- 20 อาการปกติของ ทารกแรกเกิด ที่พ่อแม่ควรรู้มีอะไรบ้าง?
บทความโดย: พญ. สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
และข้อมูลจาก : www.pobpad.com