โรค เท้าปุก เกิดจากอะไร?
โรคเท้าปุกเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่มักจะเกิดขึ้นกับเด็กตั้งแต่กำเนิด โดยมีหลายๆ สาเหตุรวมกัน เช่น สิ่งแวดล้อมในครรภ์ของแม่ที่ส่งผลต่อท่าของเท้าขณะที่ลูกอยู่ในท้อง, มีญาติ หรือพ่อแม่เคยมีลูกเป็นเท้าปุกมาก่อน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกรรมพันธุ์, กระดูกเท้าถูกสร้างมาผิดรูป, กล้ามเนื้อควบคุมการเคลื่อนไหวไม่สมดุล
โรคเท้าปุกมีอาการอย่างไร?
โรคเท้าปุก เป็นความผิดรูปของเท้าที่เป็นตั้งแต่กำเนิด มีรูปเท้าที่บิดเบี้ยวจนดูเหมือนไม้ตีกอล์ฟ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดเด็กจะเดินด้วยหลังเท้า มีขาลีบ และยาวไม่เท่ากัน ปวดเท้า ใส่รองเท้าไม่ได้ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนอย่างคนอื่นๆ นำมาซึ่งความพิการที่ทุกข์ทรมาน และเป็นปมด้อยกับเด็กไปตลอดชีวิต
โรคเท้าปุกแท้หรือเทียมสังเกตอย่างไร?
1.เท้าปุกเทียม คือ ไม่มีความผิดปกติที่แท้จริงกับโครงสร้างเท้า แต่รูปเท้าบิดเกิดจากเด็กขดตัวแน่นอยู่ในครรภ์ เท้าถูกกดอยู่ในท่าบิดเข้าด้านในเป็นเวลานาน อาจทำให้เอ็นเท้าด้านในตึง ในขณะที่เอ็นเท้าด้านนอกหย่อน เท้าปุกชนิดนี้พบได้บ่อยในทารก
2.เท้าปุกแท้ คือ เท้าแข็ง ถ้าไม่ได้รับการรักษา เท้าจะบิดแข็ง มากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดเมื่อเด็กโตขึ้นจะใช้หลังเท้าเป็นจุดรับน้ำหนักเวลาเดิน ซึ่งทำให้เดินลำบาก ทรงตัวยาก เจ็บปวดได้บ่อย ใส่รองเท้าทั่วไปไม่ได้