ลูกถ่ายเหลวมีมูก ผิดปกติหรือไม่? - Page 2 of 2 - Amarin Baby & Kids
ลูกถ่ายเหลวมีมูก

ลูกถ่ายเหลวมีมูก ผิดปกติหรือไม่?

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกถ่ายเหลวมีมูก
ลูกถ่ายเหลวมีมูก

อย่างไรก็ดี สำหรับอาการที่ ลูกถ่ายเหลวมีมูก เพราะกินนมแม่ หากคุณแม่กังวลและนำอุจจาระของลูกน้อยไปให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยอาการ แล้วไม่มีปัญหาใดๆ ก็สามารถโล่งใจได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรหมั่นคอยสังเกตดู อุจจาระ ของลูกน้อยอยู่เรื่อยๆ เพราะหากมีปัญหา จะได้รักษาแก้ไขทัน ซึ่งปัญหาเรื่องระบบขับ่ายของลูกน้อย ส่วนใหญ่มีด้วยกัน 2 อาการ คือ

1.อาการท้องผูก

เป็นปัญหาที่พบบ่อย ราว 5-10% ของเด็ก แม้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่จะไม่ใช่โรคทางกายที่ร้ายแรง แต่ก็สร้างความไม่สบายตัวให้กับลูกน้อยเป็นอย่างมาก

ลักษณะที่บ่งบอกว่าท้องผูก

สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกท้องผูก คือ การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์หรืออาจถ่ายทุกวันแต่ต้องเบ่งมาก และอุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็กๆ คล้ายลูกกระสุนปืนอัดลม หรือก้อนใหญ่ๆ ที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดมากเวลาเบ่งถ่าย หรือบางครั้งอาจมีเลือดติดออกมาด้วยเพราะรูทวารฉีกขาด ส่วนเด็กทารกปกติช่วงอายุ 1-3 เดือนที่กินนมแม่บางคนอาจถ่ายอุจจาระห่างทุก 3-7 วัน โดยที่ยังกินนมดีร่าเริงน้ำหนักขึ้นตามปกติและไม่อาเจียน แม้ว่าจะถ่ายน้อยกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่เด็กกลุ่มนี้ไม่นับว่ามีอาการท้องผูกค่ะ

สาเหตุของอาการท้องผูก

  1. การเปลี่ยนจากดื่มนมแม่หรือนมผงดัดแปลง มาเป็นนมวัวธรรมดาอาจเกิดท้องผูกได้ เพราะนมวัวมีอัตราส่วนของโปรตีนต่อคาร์โบไฮเดรตสูงกว่านมแม่ค่ะ
  2. ลูกดื่มน้ำน้อย หรือเสียน้ำมากจากอากาศร้อน หรือเป็นไข้ ก็จะทำให้อุจจาระแข็ง
  3. ห่วงเล่นและกลั้นอุจจาระเป็นนิสัย ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในช่วงวัยอนุบาลค่ะ
  4. ถูกฝึกให้ขับถ่ายเร็วเกินไป ทั้งที่ยังไม่พร้อมที่จะขับถ่ายเอง
  5. ไม่ชอบกินผักและผลไม้

การป้องกันและการดูแลเบื้องต้น

  1. ป้องกันโดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิด – 6 เดือนเป็นอย่างน้อย จากนั้นอาจเริ่มให้เพิ่ม ผัก ผลไม้เสริม และเมื่อลูกมีอายุ 1 ปี ขึ้นไปควรดูแลให้ลูกเริ่มทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพิ่ม ผัก ผลไม้มากขึ้น ให้ดื่ม นมจากแก้ววันละ 16 ออนซ์ก็เพียงพอแล้ว
  2. อย่าบังคับให้ลูกนั่งกระโถนก่อนเวลาอันควร ควรเริ่มหัดเมื่ออายุ18 เดือนขึ้นไป โดยฝึกถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ถ้าลูกไม่ถ่ายอย่าให้นั่งนานเกินไปจะเกิดการต่อต้านการนั่งกระโถนและกลั้นอุจจาระซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาท้องผูกตามมา
  3. ให้ลูกออกกำลังกายเพื่อให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น
  4. การใช้ยาระบาย ควรปรึกษาคุณหมอก่อนว่าจะใช้ยาชนิดใดดี และควรใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัยต่อลูก อย่าซื้อยาสวนหรือยาระบายมาใช้เอง เพราะการรักษาไม่ถูกต้องจะทำให้อาการยิ่งแย่ลงนะคะ

2.ท้องเสีย (ท้องร่วง หรืออุจจาระร่วง หรือลำไส้อักเสบ)

อีกหนึ่งอาการของระบบขับถ่ายในลูกน้อยคือ อาการท้องเสีย และทำให้ ลูกถ่ายเหลวมีมูก ซึ่งลำไส้ของเด็กอายุ 1-2 ปีแรก จะไวต่อการติดเชื้อมาก จึงเกิดอาการท้องเสียได้ง่ายเลยค่ะ

⇒ Must read : โรคอุจจาระร่วงในเด็ก ประสบการณ์ตรงที่แม่อยากแชร์

ลักษณะอาการท้องเสีย

อาการท้องเสีย คือ ถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติมาก โดยอาจถ่ายเป็นน้ำถ่ายมีมูก หรือมูกปนเลือด อาจจะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง อาเจียน ปวดท้อง ซึ่งจะทำให้ลูกน้อยกระสับกระส่าย ตาโบ๋ ปากแห้ง และหายใจเร็ว โดยหากลูกน้อยถ้ามีอาการแบบนี้ ต้องรีบไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุดนะคะ เพราะแสดงว่าลูกน้อยมีอาการขาดน้ำมากแล้ว และเป็นอันตรายอย่างมากค่ะ

สาเหตุของอาการท้องเสีย

อาการท้องเสียในเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อไวรัสต่างๆ แต่ที่พบบ่อยคือเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus) ซึ่งมักจะเกิดกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น จึงมักจะมีการหยิบจับสิ่งของ ของเล่น เข้าปาก อันเป็นช่องทางที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ ส่วนเชื้อแบคทีเรียก็เป็นอีกหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ เช่น เชื้ออีโคไล (E.Coli) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ท้องเสียบ่อยที่สุด ทำให้ถ่ายอุจจาระเหลว แต่อาการมักไม่รุนแรง เพราะทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีภูมิต้านทานอยู่บ้างแล้ว

วิธีดูแลเมื่อลูกท้องเสีย

  1. ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส สูตรขององค์การเภสัชกรรมหรือองค์การอนามัยโลก ให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ในปริมาณที่เท่ากับปริมาณอุจจาระที่ถ่ายออกมาในแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่
    • หากลูกอายุน้อยกว่า 2 ปี ควรให้ดื่มครั้งละ ¼ – ½ แก้ว โดยใช้ช้อนค่อยๆ ป้อนที่ละ 1 ช้อนชา ทุก 1-2 นาที ไม่ควรให้ดูดจากขวดนม เพราะเด็กจะดูดกินอย่างรวดเร็วเนื่องจากกระหายน้ำ ซึ่งจะทำให้ร่างกายดูดซึมไม่ทันและอาจทำให้อาเจียนและถ่ายมาก แต่ไม่จำเป็นต้องงดอาหารหรือนมแม่ ควรให้อาหารเหลวบ่อยครั้ง เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด และนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม อาจผสมนมให้เข้มข้นเหมือนเดิมแต่ลดปริมาณลง และให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่
    • หากลูกอายุมากกว่า 2ปี ควรให้ดื่มครั้งละ½ – 1 แก้ว ให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เมื่ออาการดีขึ้นจึงให้หยุดดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ และให้กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย ซึ่งจะทำให้ลำไส้ฟื้นตัวเร็ว
  2. ไม่จำเป็นต้องหยุดนมแม่ เด็กที่กินนมผสมหลังดื่มสารละลายเกลือแร่ 4-6 ชั่วโมงแล้วให้กินนมตามปกติ ไม่จำเป็นต้องชงนมเจือจาง แต่ควรให้กินนมในปริมาณที่น้อยลงและถี่กว่าปกติ
  3. เด็กอายุมากกว่า 6 เดือนที่เริ่มทานอาหารเสริมแล้ว ควรให้อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊กแต่ควรเพิ่มจำนวนมื้อให้มากขึ้นอีก 1 – 2 มื้อ งดอาหารย่อยยากโดยเฉพาะอาหารไขมันสูง งดน้ำผลไม้ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะอาจจะทำให้ถ่ายบ่อยขึ้น

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก :


บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up