3 วิธีเคลียร์น้ำมูก ให้ลูกจมูกโล่ง
อย่างที่รู้กันดีว่าเวลาที่มีน้ำมูกเต็มจมูกมักจะทำให้หายใจไม่ค่อยสะดวก อย่างในเด็กเล็กๆ ที่เขายังไม่รู้วิธีช่วยเหลือตัวเองในการทำให้น้ำมูกออกมาจากจมูกของตัวเองได้ดีมากนัก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรต้องดูแลตรงจุดนี้ให้กับลูกด้วย ซึ่งการเคลียร์น้ำมูกในจมูกลูกสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้ค่ะ
วิธีที่ 1 : ดูดด้วยลูกยาง
วิธีแรกนี้จะมีอุปกรณ์ที่ต้องใช้คือ ลูกยางดูดน้ำมูก น้ำเกลือสำหรับล้างจมูก และสลิงสำหรับดูดน้ำเกลือ ก่อนอื่นแนะนำว่าถ้า ทำให้ลูกที่อายุต่ำกว่า 4 ขวบ ควรมีคนช่วยจับลูกด้วยอีกแรง เพราะเด็กเล็กมักตกใจกลัวหากมีอะไรมาแหย่ที่จมูก แล้วเกิด ดิ้นปัดไปปัดมาจนทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการดูดน้ำมูกได้ค่ะ
- จับลูกให้อยู่ท่านอนหงาย ยกคอลูกสูงขึ้นเล็กน้อย
- ใช้สลิงดูดน้ำเกลือขึ้นมา แล้วค่อย ๆ หยอดลงในรูจมูกข้างละ 3-5 หยด
- แล้วทิ้งน้ำเกลือในจมูกลูกสักแป๊บ (นับประมาณ 1-20) เพื่อให้น้ำเกลือละลายความเหนียวของน้ำมูก
- จากนั้นให้ใช้ลูกยางดูดน้ำมูกออกมาทั้งสองข้างจนหมด ทำแค่นี้ก็ช่วยให้ลูกหายใจได้โล่งขึ้นแล้วค่ะ
วิธีที่ 2 : ล้างด้วยน้ำเกลือ
วิธีนี้ไม่มีอะไรยุ่งยากค่ะ แค่เตรียมน้ำเกลือสำหรับล้างจมูก และสลิงดูดน้ำเกลือ แนะนำว่าในเด็กเล็กมากๆ เวลาบีบน้ำเกลือเข้าจมูกลูกอาจกลั้นหายใจไม่เป็น ทำให้สำลักได้ ดังนั้นหากพ่อแม่ไม่มีความชำนาญไม่ควรทำให้ลูกเล็กค่ะ แต่ในเด็กที่อายุโตพอที่จะเข้าใจร่างกาย การใช้อวัยวะต่างๆ ของตัวเองได้ ก็สามารถล้างจมูกด้วยวิธีนี้ได้ค่ะ
- ใช้สลิงดูดน้ำเกลือขึ้นมาประมาณ 1-2 ซีซี แล้วฉีดเข้าจมูกลูกทีละข้าง
- เมื่อฉีดน้ำเกลือเข้าไปแล้วน้ำมูกเหนียวจะหลุดออกมา ให้ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดออก เสร็จแล้วค่ะวิธีนี้ง่ายมาก
วิธีที่ 3 : เช็ดจมูกลูกด้วยคอตตอนบัด
เป็นอีกวิธีที่ง่ายสำหรับใช้กับลูกเล็กยังไม่ถึงขวบ สิ่งที่ต้องใช้มีแค่คอตตอนบัด กับน้ำเกลือล้างจมูกค่ะ
- ใช้คอตตอนบัดจุ่มลงในน้ำเกลือสำหรับล้างจมูก
- ค่อยๆ เอาคอตตอนบัดเช็ดก้อนขี้มูกที่ติดอยู่ในโพรงจมูก หากก้อนขี้มูกอยู่ลึกมาก ไม่แนะนำให้แหย่คอตตอนบัดลงไปลึกๆ เพราะหากลูกดิ้นอาจเกิดอันตรายต่อเยื่อบุโพรงจมูกของลูก การใช้คอตตอนบัดกับน้ำเกลือ ให้เช็ดตั้งแต่ต้นรูจมูกไปจนถึงระหว่างกลางรู้จมูกลูกก็พอค่ะ
บทความแนะนำ คลิก >> 5 เทคนิคฝึกลูกสั่งน้ำมูก
การเครียร์น้ำมูกในจมูกลูกทั้ง 3 วิธีนี้ทำได้ง่ายๆ เองที่บ้าน แต่ต้องใช้ความชำนาญและระมัดระวังเบามือของคุณพ่อคุณแม่ด้วยนะคะ หรือหากไม่มั่นใจถึงวิธีการดูแลเคลียร์ล้างจมูกลูก ให้ขอคำแนะนำจากกุมารแพทย์ หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลก็ได้ค่ะ
อ่านต่อ การล้างจมูกเด็กเล็กที่ถูกวิธี คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่