ลูกกินน้อยอย่างนี้ จะผอมไปไหม? ทำไมลูกตัวเล็ก อย่างนี้จะแข็งแรงไหม? มาดู น้ำหนัก ส่วนสูง มาตรฐาน ตามอายุ ของลูกว่าลูกเรามีน้ำหนักและส่วนสูงที่ได้มาตรฐานหรือยัง?
น้ำหนัก ส่วนสูง มาตรฐาน ตามอายุ ลูกเตี้ยไป ผอมไปไหม?
อาหารและโภชนาการเป็นปัจจัยหลักสำหรับการเจริญเติบโตของเด็ก เด็กที่มีโภชนาการดี จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการมีสุขภาพดี ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรประเมินภาวะโภชนาการลูกด้วยการวัดสัดส่วนของร่างกาย ได้แก่ น้ำหนักและส่วนสูง โดยอาศัยหลักการที่ว่าขนาดและส่วนประกอบของร่างกายจะเปลี่ยนแปลงตามภาวะโภชนาการของคนนั้น ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากลักษณะของอาหารที่ลูกทานเข้าไป และการใช้ประโยชน์ของสารอาหารให้เป็นพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ (อ่านต่อ สารอาหาร 11 ชนิด ที่จำเป็นสำหรับ “ทารกแรกเกิด – 2 ปี”) ดังนั้น ผลจากการวัดสัดส่วนของร่างกายจึงสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดที่สะท้อนภาวะสุขภาพของลูกได้
จากสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้เด็กไทยมีขนาดร่างกายเพิ่มขึ้นทั้งน้ำหนักและส่วนสูง และจากความเชื่อโบราณที่ว่าเด็กควรจะกินเยอะ ๆ จะได้แข็งแรง ทำให้มีเด็กไทยส่วนหนึ่ง มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ หรือเด็กบางคนอาจมีภาวะเตี้ยจากการทานอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ดังนั้น สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กแรกเกิด – 5 ปี เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ในการติดตามน้ำหนัก ส่วนสูง และการเจริญเติบโตทางด้านรูปร่างของลูก (อ้วน สมส่วน ผอม) ตามกราฟ ดังนี้
น้ำหนัก ส่วนสูง สำหรับเด็กแรกเกิด – 5 ปี
การใช้น้ำหนักและส่วนสูงในการประเมินภาวะการเจริญเติบโต มี 3 ดัชนี คือ น้ำหนักตามเกณฑ์อายุ ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ และน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง ซึ่งแต่ละดัชนีจะให้ความหมายในการประเมินซึ่งมีข้อเด่นข้อด้อยที่ต่างกันไป
น้ำหนักตามเกณฑ์อายุ
น้ำหนักเป็นผลรวมของกล้ามเนื้อ ไขมัน น้ำ และกระดูก น้ำหนักตามเกณฑ์อายุเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ของการเจริญเติบโตของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตามอายุของเด็ก ใช้ในการประเมินภาวะการขาดโปรตีนและพลังงาน
ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ
ส่วนสูงที่สัมพันธ์กับอายุเป็นดัชนีที่บ่งชี้ภาวะการเจริญเติบโต ถ้าเด็กได้รับอาหารไม่เพียงพอเป็นเวลานาน หรือมีการเจ็บป่วยบ่อย ๆ มีผลให้อัตราการเจริญเติบโตของโครงสร้างของกระดูกเป็นไปอย่างเชื่องช้าหรือชะงักงัน ทำให้เป็นเด็กตัวเตี้ยกว่าเด็กที่มีอายุเดียวกัน ดังนั้น ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ จึงเป็นดัชนีบ่งชี้ภาวะการขาดโปรตีนและพลังงานแบบเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีความบกพร่องของการเจริญเติบโตด้านโครงสร้างส่วนสูงทีละเล็กละน้อย ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขก็จะสะสมความพร่องจนส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์
น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง
เนื่องจากน้ำหนักเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วกว่าส่วนสูง ถ้าเด็กได้รับอาหารไม่เพียงพอจะมีน้ำหนักลดลง มีภาวะผอม ดังนั้น น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงจึงเป็นดัชนีบ่งชี้ที่ไวในการสะท้อนภาวะโภชนาการในปัจจุบัน
กราฟแสดง น้ำหนัก ส่วนสูง มาตรฐาน ตามอายุ ของเด็กชาย อายุ 0-5 ปี
กราฟแสดง น้ำหนัก ส่วนสูง มาตรฐาน ตามอายุ ของเด็กหญิง อายุ 0-5 ปี
เมื่อลูกมีน้ำหนักน้อย พ่อแม่ควรทำอย่างไร?
- ให้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ สำหรับเด็กวัย 6-12 ปี ในแต่ละมื้อควรประกอบด้วย
- ข้าว มื้อละ 1-2 ทัพพี
- เนื้อสัตว์ 2 ช้อนกินข้าว หรือไข่ 1 ฟอง เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพ ในเด็กที่น้ำหนักน้อยรับประทานได้ทุกวันวันละ 1 ฟอง
- ปลาไขมันสูง เช่น ปลาอินทรี ปลาดุก ปลาสวาย สำหรับคุณแม่ลูกเล็กแนะนำว่าควรให้ลูกรับประทานปลาอินทรี เพราะเป็นปลาที่ค่อนข้างเอาก้างออกง่าย
- ผัดผัก 1 ทัพพี ควรเลือกผักที่มีแป้งมากและให้พลังงานสูงสลับกับผักใบเขียว
- ผลไม้ เช่น ส้ม 1 ผล หรือกล้วย 1 ผล หรือมะละกอ 4-5 ชิ้นคำ หรืออะโวคาโด ½ ลูก หรือองุ่น 5-6 ผล หรือผลไม้อื่นๆ
- นมครบส่วน 1-3 แก้ว แล้วแต่วัย
- ควรเพิ่มน้ำมันในอาหารทุกมื้อเท่าที่ทำได้ ประมาณ 1-2 ช้อนชาต่อมื้อ ไขมันจะช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก
- ปัญหาเด็กที่มีน้ำหนักน้อย แต่ละมื้อหากรับประทานได้น้อยอาจจะต้องแบ่งมื้อย่อย ๆ สังเกตชนิดและลักษณะอาหารที่ลูกชอบ ปรุงรสชาติให้ถูกปาก เพราะลูกสามารถแยกแยะรสชาติได้ตั้งแต่อายุไม่กี่สัปดาห์ (อ่านต่อ 10 วิธีแก้อาการเบื่ออาหาร ทำยังไงให้ลูกกินข้าว?)
- ไม่ให้นมมากเกินไป เพราะเมื่ออายุเกิน 1 ปี ควรรับประทานข้าวเป็นอาหารหลักวันละ 3 มื้อ ส่วนนมจะเป็นอาหารเสริมเท่านั้น จึงต้องลดปริมาณลงเหลือวันละ 3-4 มื้อ และควรให้นมหลังอาหารเท่านั้น
- สำหรับลูกที่อยู่ในวัยซุกซนหรือห่วงเล่น อาจให้มีส่วนร่วมในการเตรียมอาหารและฝึกให้รับประทานอาหารเป็นเวลา สม่ำเสมอ และควรรับประทานพร้อม ๆ กันทั้งครอบครัว เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างบรรยากาศการรับประทานอาหารให้ลูก
- ให้ลูกรู้สึกหิวก่อนถึงมื้ออาหารโดยงดอาหารหรือขนมจุบจิบระหว่างมื้อ เด็กที่มีอายุเกิน 1 ปี ควรรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก จึงไม่ควรให้ลูกรับประทานขนมกรุบกรอบ ลูกอมทอฟฟี่ หรือนม ก่อนมื้ออาหาร เพราะลูกจะอิ่มทำให้รับประทานอาหารได้น้อย หากจะให้ควรให้หลังอาหาร (หากลูกรับประทานมื้อหลักได้เหมาะสมแล้ว)
- ในกรณีที่ลูกรับประทานน้อยอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้รับสารอาหารไม่ครบและอาจขาดวิตามิน เกลือแร่บางตัว ซึ่งส่งผลให้เบื่ออาหาร แพทย์จะเสริมยาบำรุงให้ในช่วงแรก เมื่อเด็กได้รับวิตามิน เกลือแร่ที่ขาดก็จะมีอาการดีขึ้น อาการเบื่ออาหารก็จะลดลง
- ให้ลูกนอนแต่หัวค่ำ ไม่ควรนอนเกินสามทุ่ม วัยเรียนควรได้นอนหลับพักผ่อนวันละ 8-10 ชั่วโมง การนอนดึกจะทำให้การเจริญเติบโตไม่ได้เต็มที่ และในช่วงเวลาการนอนตั้งแต่เวลา 22.00-02.00 น. เป็นช่วงที่ร่างกายมีการหลั่ง growth hormone ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก
- ไม่ใช้วิธีผิดๆ เพื่อให้ลูกรับประทานมากขึ้น เช่น การตี ดุว่า บังคับ ใช้อารมณ์กับลูกหรือการตามใจ ต่อรอง หรือให้รางวัลเกินความจำเป็น
- ขณะมื้ออาหารไม่ดูโทรทัศน์หรือเล่นของเล่นไปด้วย เพราจะทำให้ลูกไม่สนใจเรื่องรับประทาน ทำให้รับประทานช้า อมข้าวและอิ่มเร็วโดยที่ยังรับประทานได้น้อย
- ปรับเปลี่ยนลักษณะเมนูอาหารให้แตกต่าง ไม่ควรรับประทานเมนูซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ลูกอาจเบื่อได้ ทำให้ปฏิเสธอาหาร
- เปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองเรื่องการรับประทานให้มากที่สุดตามวัย โดยค่อย ๆ ลดการให้ความช่วยเหลือลง
- พาลูกไปออกกำลังกาย วิ่งเล่น เมื่อเด็กได้ใช้พลังงานก็จะทำให้หิว ทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่