อันตรายไหม?ลูก นอนหลับ แล้วทำไมตาปิดไม่สนิทกรอกไปมา - Amarin Baby & Kids
ปัญหาการ นอนหลับ ของทารก

อันตรายไหม?ลูก นอนหลับ แล้วทำไมตาปิดไม่สนิทกรอกไปมา

Alternative Textaccount_circle
event
ปัญหาการ นอนหลับ ของทารก
ปัญหาการ นอนหลับ ของทารก

แม่ว่าลูก นอนหลับ แล้วแต่เอ๊ะ!ทำไมตายังไม่ปิดกันนะ แถมลูกตากรอกกลิ้งไปมา ลักษณะแบบนี้ปกติ หรือเป็นอันตราย แล้วแบบไหนที่ควรระวัง มาร่วมฟังคำตอบให้หายกลุ้มกัน

อันตรายไหม!ลูก นอนหลับ แล้วทำไมตาปิดไม่สนิทกรอกไปมา

สำหรับคุณแม่มือใหม่ หรือแม้แต่แม่ลูกสอง ลูกสามแล้วก็ตาม การเลี้ยงเด็กทารกแรกเกิดคงไม่ใช่งานง่ายเลยใช่ไหม เพราะความบอบบางของลูกน้อย ทำให้แม่กลัวว่าจะทำให้เขาได้รับบาดเจ็บอะไรไหม แถมเด็กทารกแรกเกิดยังมีอาการต่าง ๆ ที่ชวนให้คุณแม่หวั่นวิตกไปต่าง ๆ นานา หนึ่งในอาการยอดฮิตที่ทำให้คุณแม่หลาย ๆ คนกินไม่ได้นอนไม่หลับ นั่นคือ อาการเกี่ยวกับการนอนของเบบี้ที่ควรจะเป็นช่วงเวลาแสนสุขของแม่ ที่จะได้ใช้เวลาพักผ่อนส่วนตัวในยามที่ลูกหลับ ได้หายใจหายคอกันบ้าง แต่เมื่อสังเกตุเห็นอาการเวลาที่ลูกนอนแล้วพลันทำให้เกิดความเป็นห่วงจนไม่สามารถไปไหนได้ ต้องนั่งเฝ้าดูลูกหลับพร้อมความกังวลใจ วันนี้ ทีมแม่ABK จึงขอรวบรวมอาการนอนของเด็กทารก มาดูกันว่าแบบไหนน่าห่วง แบบไหนที่ไม่ต้องกังวล จะได้วางใจกันได้เสียที

ลูกน้อยนอนผวา ร้องไห้
ลูกน้อยนอนผวา ร้องไห้

เบบี้ของแม่…นอนแบบไหนกันนะ

นอนผวา

การนอนผวาของลูกเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ ที่เรียกว่า Moro reflex หากมีอะไรมากระตุ้นลูกเพียงเล็กน้อย เช่น เสียงดัง แสงจ้า ลูกก็จะผวาขึ้นมาได้ทันที เด็กบางคนนอนผวาแล้วหลับต่อเองได้ แต่เด็กบางคนก็มีการนอนผวาบ่อยมากจนตื่นร้องไห้ ซึ่งในทางการแพทย์เห็นว่า การที่ ลูกนอนผวานี้ไม่ได้เป็นอันตรายใด ๆ ต่อร่างกายหรือสมองของลูก

วิธีลดอาการนอนผวา

  • ลดสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้น ที่เป็นตัวการที่จะทำให้ลูกนอนผวา เช่น ปิดม่าน หรี่ไฟในห้อง  เปิดเพลงเบา ๆ คลอไประหว่างนอนไม่จำเป็นต้องเงียบกริบ

อ่านต่อ 20 เพลงกล่อมนอนเพราะ ๆ เปิดฟังยาว ๆ ลูกหลับง่ายตื่นแล้วไม่งอแง

  • จับลูกนอนคว่ำ จะทำให้ลูกนอนได้นานขึ้น ลดอาการผวาของลูกได้ดี แต่วิธีนี้คุณแม่ต้องมีเวลาเฝ้าลูกตลอด เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ เช่น เวลาลูกพลิกหน้าคว่ำแล้วไม่สามารถพลิกข้างจะทำให้หายใจไม่ออกได้ ที่นอนต้องไม่นิ่มมาก และต้องไม่มีอะไรมาอุดกั้นทางเดินหายใจ

อ่านต่อ ปล่อยลูกนอนคว่ำจนเสียชีวิต!!

  • ห่มผ้าให้ลูก หรือพับผ้าหนาเล็กน้อย วางไว้บนหน้าอกลูก ห่อตัวลูกก็ช่วยลดอาการผวาของลูกได้
  • ให้ลูกนอนเปลอู่ เปลแบบผ้าขาวม้า จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เหมือนมีอะไรมาห่อตัวเค้าอยู่ ช่วยทำให้ลูกหลับได้นาน ช่วยลดการนอนผวาของลูกได้
  • อย่าเล่นกับลูก หรือกระตุ้นลูกมากเกินไปในช่วงก่อนเข้านอน  เช่น การโยนลูกขึ้นบนอากาศ หรือเล่นท่าเครื่องบิน เด็กในวัย 6 เดือนเค้าเริ่มฝันเป็นแล้วเพียงแต่ยังบอกเราไม่ได้ ลูกอาจเก็บไปฝัน และเกิดอาการผวาได้
ผ้าวางทับตัวลูก ไม่ให้นอนผวา
ผ้าวางทับตัวลูก ไม่ให้นอนผวา

นอนหายใจเสียงดัง

ส่วนใหญ่เกิดเพราะขณะนอนหลับมีความผิดปกติของการหายใจ (sleep-disordered breathing) เนื่องจากมีการอุดกั้นเป็นช่วง ๆ ของทางเดินหายใจส่วนบนบริเวณจมูกและคอ (obstructive-sleep apnea) สามารถพบได้ในเด็กทุกอายุ อาจทำให้ขณะหลับมีระดับก๊าซออกซิเจนในเลือดต่ำลง และหลับอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลทำให้นอนหลับไม่เต็มที่ พฤติกรรมรุนแรง ซนมาก สมาธิไม่ดี ผลการเรียนตก อาจทำให้หัวใจโต ความดันโลหิตสูงขึ้น มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากเกิดความกังวลใจควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด เพราะอาการนอนหายใจเสียงดังนี้ อาจจะสงสัยได้ว่าเป็นอาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ภาวะต่อมทอนซิลที่อยู่ข้างโคนลิ้นและต่อมอะดีนอยด์ที่หลังโพรงจมูกโต ความผิดปกติของโครงสร้างใบหน้า โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคกลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome) เป็นต้น

นอนตาปิดไม่สนิท หรือตาค้าง

นอนหลับ ตาปิดไม่สนิท
นอนหลับ ตาปิดไม่สนิท

อาการที่ลูกน้อยนอนแล้วตายังคงลืมอยู่ หรือตาปิดไม่สนิทนั้น หรือปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “Lagophthalmus” นั้น ทางด้านนักวิทยาศาสตร์อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า อาการนี้ไม่เป็นอันตรายหรือเป็นโทษภัยใด ๆ ต่อลูกน้อยเลย ผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างชัดเจนว่าอาการนอนลืมตานี้เกิดขึ้นเพราะอะไร ด้วยเหตุที่มีการพบว่าทารกจำนวนมากนอนลืมตาในช่วงหลับลึก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการนอนลืมตาเกิดขึ้นเนื่องจากประสาทของทารกมีความตื่นตัวสูงจึงไม่แปลกที่จะลืมตาทั้ง ๆ ที่ยังหลับ

สาเหตุ

  • กรรมพันธุ์  หากคุณพ่อคุณแม่พบว่า ลูกนอนหลับแล้วลืมตาอย่างที่กล่าวไปนั้น ลองมาย้อนดูกันว่าครอบครัวของคุณพ่อคุณแม่นั้น มีใครหรือไม่ในครอบครัวที่มีอาการดังกล่าว การนอนลืมตาขณะหลับนั้นถ้ามีก็อาจแสดงว่า ที่ลูกเป็นนั้นมาจากกรรมพันธุ์ของสมาชิกในครอบครัวนั่นเอง
  • เฝ้าระวังอาจเป็นโรคร้ายบางอย่าง  ถึงแม้ว่าสาเหตุนี้จะยังไม่พบได้บ่อยนัก แต่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ลูกนอนลืมตา หรือปิดตาไม่สนิทขณะหลับ  สำหรับทางการแพทย์นั้นกล่าวว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเกิดจาก ความผิดปกติของกล้ามเนื้อลูก รวมถึงเส้นประสาทบนใบหน้า หรือไทรอยด์ เป็นต้น หากว่าเป็นเช่นนั้นละก็ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดทันที

แบบไหนที่ผิดปกติ

ในกรณีที่ลูกน้อยโตขึ้นแล้วแต่อาการหลับตาไม่สนิทนั้นยังคงอยู่ เราลองมาดูข้อมูลคร่าว ๆ กันว่าอาการตาปิดไม่สนิทขณะหลับแบบไหนที่แม้จะไม่หายขาดเมื่อโตแต่ก็มิได้เกิดอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด และแบบไหนที่ควรได้รับการรักษา

เมื่อมีการหลับตาจะมีการเคลื่อนไหวในตาเกิดร่วมขึ้นอีกอย่างคือ ตัวลูกตาจะกลิ้งขึ้นไปข้างบน ฉะนั้นในคนปกติบางคนที่หลับตาไม่สนิท เราจะมองไม่เห็นตาดำของเขา เพราะมันได้เคลื่อนไปอยู่ข้างบนแล้ว จึงเห็นแต่ตาขาว ผู้ที่มีลักษณะแบบนี้ไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างไร กล้ามเนื้อปิดตานี้ถูกควบคุมโดยเส้นประสาทเส้นที่ 7 ที่มาจากสมอง เส้นประสาทเส้นนี้มีเส้นทางผ่านมาในบริเวณหู และนอกจากจะควบคุมกล้ามเนื้อปิดตาแล้วยังควบคุมกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณครึ่งซีกหน้าทั้งหมดด้วย (อีกซีกหนึ่งก็ถูกควบคุมโดยประสาทเส้นเดียวกันที่ออกจากสมองอีกด้าน) การที่คนเราหลับตาไม่ลงเพราะกล้ามเนื้อปิดตานี้ไม่ทำงาน ส่วนใหญ่แล้วที่มันไม่ทำงานไม่ใช่เพราะตัวกล้ามเนื้อเองเสียไป แต่เป็นเพราะประสาทที่มาเลี้ยงเสียไป สาเหตุที่ทำให้ประสาทเส้นนี้มีการทำงานเสียไปเป็นไปได้หลายอย่าง ที่พบบ่อยคือหูนํ้าหนวกเรื้อรัง โรคภายในสมอง หรือบางทีเราก็ไม่ทราบสาเหตุ

ตาปิดไม่สนิทขณะหลับ โตแล้วยังไม่หายต้องระวัง
ตาปิดไม่สนิทขณะหลับ โตแล้วยังไม่หายต้องระวัง

แต่หากมีอาการที่นอกจากการตาหลับไม่ลงแล้ว ยังมีปากเบี้ยว พูดไม่ชัด (เพราะประสาทนี้เลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณริมฝีปากด้วย) แสบตา นํ้าตาไหลร่วมด้วย อาจต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะอาการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการที่เปลือกตาปิดไม่สนิทนั้นส่งผลต่อบางส่วนของตา โดยเฉพาะตาดำ เพราะต้องถูกลม แดด และฝุ่นอยู่ตลอดเวลา การที่น้ำตาไหล แสบตา เพราะเมื่อตาหลับไม่ลง รูท่อน้ำตาจะเผยออก นํ้าตาเข้ารูไม่ได้ก็ท่วมไหลออกนอกตา หากมีแผลเชื้อโรคก็จะเข้าไปได้ง่าย เกิดการอักเสบรุนแรง ตามองมัวลง ตาทะลุ และสูญเสียตาไปในที่สุด

กลไกอีกอย่างที่ทำให้หลับตาไม่ลง คือลูกตาถูกดันออกมาข้างหน้า อาจจากเนื้อร้าย เลือดออก หรือโรคคอหอยพอกเป็นพิษจะมีผลเสียหายเช่นเดียวกัน ความผิดปกติที่พบบ่อยคือ คนมีต่อมคอหอยเป็นพิษ

แต่อย่างไรก็ตามคุณแม่อย่าพึ่งวิตกเกินไปเพราะได้กล่าวไปตอนต้นแล้วว่าความร้ายแรงของการที่ตาปิดไม่สนิทนั้นมีโอกาสเกิดเป็นโรคร้ายแรงนั้นน้อยมาก และมักแสดงอาการมากขึ้นในตอนโตแล้ว แต่หากเกิดความไม่สบายใจจริง ๆ การไปปรึกษาแพทย์จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ทารกตาปิดไม่สนิทขณะหลับ ควรทำอย่างไร?

สำหรับวิธีการแก้ไขในเบื้องต้นก็คือ ให้คุณแม่นำมือลูบปิดตาของลูกเบา ๆ หลังจากที่ลูกหลับแล้ว และวิธีนี้นอกจากจะสามารถปิดตาของลูกให้หลับสนิทได้แล้ว ยังไม่เป็นการรบกวนการนอนของลูกน้อยอีกด้วย และจะช่วยให้อาการดีขึ้นหลังจากที่พวกเขาโตขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้นการช่วยลูกปิดตาลงก็ยังเป็นการรักษาดวงตาไม่ให้โดนฝุ่น หรือลมเป็นการรักษาความชุ่มชื้นของดวงตา แต่ถ้าหากลูกน้อยอายุเกิน 18 เดือนแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรพาลูกไปปรึกษากุมารแพทย์

ลูกนอนฝันร้าย นอนหลับ ไม่ดี
ลูกนอนฝันร้าย นอนหลับ ไม่ดี

นอนร้องคราง

คุณพ่อคุณแม่หลายคนเคยเกิดความกังวลอยู่ทุกครั้งที่เห็นลูกน้อยที่อายุไม่ถึงขวบมีอาการฝันร้ายหรือร้องครางยามค่ำจนทำเอาอดห่วงไม่ได้ว่าเขาจะเป็นอะไรไปหรือเปล่า หากเราเช็กจนแน่ใจแล้วว่าอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการที่ลูกน้อยไม่สบายตัว ปวดท้อง ปวดหัว เป็นไข้ต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว การที่ลูกนอนร้องครางสาเหตุหนึ่งอาจมาจากการฝัน การฝันเห็นสิ่งไม่ดีซึ่งอาการดังกล่าวเรียกว่าช่วง REM (Rapid Eye Movement) หรือที่เรียกว่าการหลับระยะต้นที่ยังหลับไม่สนิทและอาการเหล่านี้เกิดขึ้นมาเองอย่างช่วยไม่ได้ในยามค่ำคืน ช่วง REM นั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะเหล่าลูกน้อยจะต้องพบเจอกับอาการนี้ควบคู่มาอยู่แล้วกับการเจริญเติบโตในช่วงแรกเกิดของเขาแต่เมื่อโตขึ้นช่วง REM ของลูกจะสั้นลง ทำให้เขาหลับลึกและหลับสนิทมากขึ้น 
วิธีช่วยลดอาการนอนร้องคราง
  1. เช็คดูผ้าอ้อม และเสื้อผ้าว่าระบายอากาศดีหรือเปล่า ให้ลูกสบายตัวขณะนอนให้มากที่สุด
  2. ใช้ผ้าห่อลูกให้เขารู้สึกปลอดภัย เป็นการจำลองการอยู่ในท้องแม่ที่มีมดลูกแม่ห่อหุ้มจึงทำให้เขารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย
  3. อุ้มกล่อมให้หลับต่อ เมื่อลูกร้องครางขึ้นแต่ตายังหลับอยู่ แม่สามารถอุ้มขึ้นมากอด กล่อมให้เขาหลับต่อไปได้
  4. ไม่ปลุกหรือเขย่าตัวให้ตื่น เพราะจะทำให้ลูกร้องหนักกว่าเดิม
อุ้มลูกมากล่อมให้ นอนหลับ ต่อ
อุ้มลูกมากล่อมให้ นอนหลับ ต่อ

การเลี้ยงเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งการเลี้ยงเด็กทารกด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มความกังวลให้แก่คุณแม่มากยิ่งขึ้นไปอีก แต่อย่าพึ่งหมดหวังกันนะแม่จ๋า! จงเชื่อในสัญชาตญาณความเป็นแม่ในตัวของคุณเถอะ โปรดเชื่อใจเถอะว่าถึงอย่างไรความรัก ความเอาใจใส่ของแม่จะนำพาให้ทั้งคุณและลูกผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้ ค่อย ๆ เรียนรู้กันไป ทั้งแม่ที่ต้องเรียนรู้ลูก และลูกที่จะมอบความไว้ใจให้แม่เช่นคุณ การอ่านประสบการณ์ของแม่ท่านอื่น ๆ ก็มีส่วนช่วยให้แม่มือใหม่อย่างเราพอมีแนวทางในการรับมือกับความกังวลต่าง ๆ ไปได้บ้าง และถึงอย่างไรที่ตรงนี้ก็มีกำลังใจให้แก่แม่ทุกท่านได้มีพลังใจในการเลี้ยงลูกให้เติบใหญ่ต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก maerakluke.com/sanook.com/healthcarethai.com/parentsone.com

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ทำยังไงเมื่อลูกตรวจการได้ยินไม่ผ่าน เครื่องช่วยฟัง ช่วยได้

วิจัยใหม่จากต่างประเทศพบ!! ไมโครพลาสติก รั่วจากขวดนม เพราะต้มก่อนใช้

RSV คืออะไร? ตรวจหา RSV ทำอย่างไร? ราคาเท่าไหร่?

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up